นายกฯ หงุดหงิด นักข่าวอึดอัด

นายกฯ หงุดหงิด นักข่าวอึดอัด

ทำไมนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา หงุดหงิดนักข่าว และทำไมนักข่าวรู้สึกว่านายกฯ

ไม่ควรจะแสดงท่าที คุกคาม ด้วยการบอกว่า อยากชกหน้าคนถามเรื่องนี้”?

คำตอบสำหรับคนอยู่ใกล้ชิดวงการข่าวก็คือ ไม่มีใครจัดระเบียบการแถลงข่าวของนายกฯอย่างเป็นระบบเสียที

คุณยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ พูดถึงกรณีที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แสดงความไม่พอใจต่อท่าทีของนายกฯ หลังออกมาระบุว่า อยากชกปากนักข่าวที่ถามคำถามเรื่องผลงานของรัฐบาล ว่าความจริงนายกฯ มีเจตนาที่จะพูดถึงเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล ที่ท่านพยายามตอบคำถาม และอธิบายไปหลายครั้งในหลายเวที

“ฉะนั้น บางครั้งเมื่อสื่อมาถามอีก นายกฯจึงอาจรู้สึกว่าสื่อถามซ้ำซ้อนกับสิ่งที่เพิ่งจะอธิบายไป จึงอยากให้สื่อเข้าใจ และรับฟังข้อมูลให้ชัดเจนเสียก่อน หรือวิธีการตั้งคำถามอาจทำให้ท่านหงุดหงิดได้ แต่ยืนยันว่านายกฯไม่มีเจตนาคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ลักษณะของท่านเป็นคนตรงไปตรงมา ลีลาหรือสำนวนที่ท่านใช้อาจทำให้เข้าใจผิด แต่ยืนยันว่านายกฯ มีทัศนคติที่ดีต่อสื่อมวลชน ท่านเคารพในบทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชนเสมอ แต่อาจติงสื่อที่มีแนวคำถามในลักษณะที่ไม่รับฟังข้อมูลให้ชัดเจน...”

ความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯกับนักข่าว ไม่ว่าสมัยไหนก็ย่อมมีกรณีเบียดเสียดกัน เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ของตนเอง ต่างคนต่างต้องตอบคำถามของสาธารณชน

ปัญหาของหลาย ๆ นายกฯที่ผ่านมาคือ การขาดงานบริหารการสื่อสารกับนักข่าวให้ได้มาตรฐานมืออาชีพที่ควรจะเป็น และเคารพในการทำหน้าที่ของกันและกัน

ประเพณีปฏิบัติของนักข่าวกับนายกฯที่ผ่านมาทำแบบไทย ๆ คือไปยืนดักเอาไมโครโฟนจ่อพร้อมคำถามสั้น ๆ ห้วน ๆ และนายกฯตอบสั้น ๆ ห้วน ๆ กลายเป็นพาดหัวหนังสือพิมพ์หรือปล่อยเสียงนายกฯออกไปโดยไม่รู้ บริบท ของคำถามหรือคำตอบ

บางวันนายกฯ ต้องตอบคำถามนักข่าวลักษณะนี้สองถึงสามครั้ง โดยที่บ่อยครั้งประชาชนคนอ่านหนังสือพิมพ์ คนดูทีวี คนฟังวิทยุไม่ได้เนื้อหาสาระ กลายเป็นสิ่งที่สื่อฝรั่งเรียกว่า sound bites อันหมายถึงวลีสั้น ๆ ที่เป็นดราม่า แต่ไม่มีเนื้อหาอะไรที่เป็นประโยชน์หรือสร้างความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมือง

แม้ว่าจะมีการตั้งโปเดียมที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้นายกฯได้ยืนตอบคำถามนักข่าว แต่คุณภาพของคำถามและคำตอบก็ยังไม่ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของผู้บริโภคข่าวอยู่ดี

ในช่วงหลังกลายเป็นว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของการ แถลงข่าว ที่ทำเนียบก็จะเป็นคำโต้ตอบระหว่างนายกฯ และนักข่าวในเรื่องที่สร้างความหงุดหงิดให้กับทั้งสองฝ่าย

ทำเอาคนบริโภคข่าวพลอยหงุดหงิดไปด้วย

นายกฯยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาคุกคามนักข่าว และผมก็เชื่อว่านักข่าวไม่ได้ต้องการจะยั่วยุนายกฯให้โกรธ แต่เพราะรูปแบบการแลกเปลี่ยนที่ไม่เอื้อต่อการให้ทั้งสองฝ่ายทำหน้าที่อย่างได้เนื้องานอย่างจริงจังทำให้เกิดความระหองระแหงอย่างที่เห็นกัน

การบริหารกติกาการทำข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เป้าหมายไม่ใช่ให้นายกฯ พูดข้างเดียวและไม่ใช่ให้นักข่าวแย่งกันถามนายกฯ แต่จะต้องมีระบบแถลงข่าวที่เรียกว่า press conference อย่างเป็นกิจลักษณะ

นายกฯไม่ควรจะต้อง ปะทะ กับนักข่าววันละหลายรอบ ควรที่รัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาลจะต้องทำหน้าที่ประสานเรื่องข่าวประจำวันให้มีประสิทธิภาพ และนายกฯควรจะจัด press conference สัปดาห์ละหนึ่งถึงสองครั้งเพื่อตอบคำถามสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายที่ประชาชนคาดหวังจากการทำหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย

คำถามและคำตอบใน press conference คือการพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพ เป็นการตอกย้ำว่าทั้งสองฝ่ายต่างทำการบ้านมาเพียงพอหรือไม่ และประชาชนจะได้ประโยชน์จากการแถลงข่าวอย่างจริงจังเพียงใด หากถ่ายทอดสดให้ผู้ชมทางบ้าน ได้รับรู้พร้อมกันไปด้วยประชาชนก็สามารถประเมินได้ว่าใครทำหน้าที่ของตัวเองดีกว่ากัน

ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องหงุดหงิดระหว่างนายกฯ กับนักข่าวทุกวัน ให้ชาวบ้านพลอยอึดอัดคับข้องใจไปด้วย