สิ้นยุคผู้นำ Strong Man

สิ้นยุคผู้นำ Strong Man

เห็นภาพนี้แล้วก็ทำให้ย้อนคิดไปถึงเอเซียอาคเนย์ในสมัย “ผู้นำรวมศูนย์อำนาจ”

 ยุคสงครามเย็นเมื่อกว่า 40 ปีก่อน

เป็นยุคของผู้นำ Strong Man หรือเผด็จการผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะคนที่มีส่วนผลักดันประเทศ ให้พ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก และปกครองประเทศด้วยกฎเหล็ก รวบอำนาจอยู่กับตนและพวก

ต่างคนต่างจบลงด้วยวิถีทางคนละแบบ และส่วนใหญ่ล้มเพราะการลุกฮือของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย

มีแต่ลีกวนยูคนเดียวกระมังที่ปกปักรักษาฐานะและอำนาจของตนจนวันสุดท้ายของชีวิต ไม่ถูกประชาชนขับไล่ลงจากตำแหน่งเสียก่อน

ไม่เหมือนนายพลซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย, เฟอร์ดินานท์ มาร์กอสของฟิลิปปินส์, นายพลเนวินของพม่า, หรือแม้แต่จอมพลถนอม กิตติขจรของประเทศไทย ที่ต้องลงจากเก้าอี้เพราะประชาชนไม่ยอมรับระบบปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ต้องการให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองประเทศของตน

โฮจิมินห์กู้ชาติเวียดนามด้วยการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสและสหรัฐ จนสามารถรวมชาติได้ในปี 1975 แต่เขาก็จากไปก่อนจะได้เห็นความฝันเป็นความจริง “ลุงโฮ” เสียชีวิตในปี 1969 ในวัย 79

เขาจากไปท่ามกลางความชื่นชมของคนเวียดนามและชาวโลก ที่ประทับใจกับการต่อสู้เพื่อประเทศชาติอย่างทุ่มเทและมุ่งมั่น

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอสของฟิลิปปินส์เสียชีวิตปี 1989 ที่ฮอนโนลูลูของสหรัฐ หลังจากที่ถูกประชาชนขับไล่ออกจากตำแหน่งในปี 1986 หลังจากปกครองประเทศในฐานะเผด็จการมา 21 ปี เพราะประชาชนลุกขึ้นประท้วงขับไล่ลงจากอำนาจ

นายพลเนวินของพม่าปกครองประเทศ 26 ปีด้วยระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ เสียชีวิตเมื่อปี 2002 ในวัย 92

นายพลซูฮาร์โตของอินโดนีเซียครองอำนาจอยู่ 31 ปีเท่ากับลี กวน ยู ถูกประชาชนโค่นอำนาจเมื่อปี 1998 และเสียชีวิตเมื่อปี 2008 ในวัย 87

ผู้นำลักษณะเดียวกันนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่อีกคนหนึ่งคือ อดีตนายกฯ มหาธีร์ โมหะหมัด แห่งมาเลเซีย ปีนี้อายุ 89 และเป็นคู่รักคู่แค้นของลี กวน ยู มาตลอด

มหาธีร์ บอกว่า แม้เขาจะไม่อาจพูดได้ว่าเป็น เพื่อนสนิท ของอดีตนายกฯสิงคโปร์ แต่ผมก็เศร้าใจที่เขาจากไป"

มหาธีร์ บอกว่า เขากับลี กวน ยู พบกันครั้งแรกเมื่อปี 1964 ขณะที่เขาเป็น ส.ส. หนึ่งปีหลังจากสิงคโปร์มาร่วมเป็นสหพันธรัฐกับมาเลเซีย (หนึ่งปีต่อมามาเลเซียก็ขับสิงคโปร์ออก)

มหาธีร์ บอกว่า เราประดาบกันบ่อยครั้งระหว่างการอภิปรายในสภา แต่มันไม่ใช่ความเป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน มันเป็นเพียงความเห็นที่แตกต่างว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศที่เกิดใหม่อย่างเราในขณะนั้น

รวมความแล้ว เขาเหล่านี้ล้วนเป็นนักสู้ นักปกครอง และใช้ความรู้สึก ชาตินิยม เพื่อการต่อสู้กับนักล่าเมืองขึ้นยุคนั้น มาปลุกระดมให้ประชาชนยืนข้างตนเพื่อสร้างชาติสร้างบ้านเมือง แต่อำนาจก็ทำลายหลายคนเมื่อสามารถกุมชะตากรรมของบ้านเมือง และเมื่อบางคนมีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ลืมสำนึกของจริยธรรมแห่งการเป็นนักปกครองที่ดี จนทำให้เจ้าของประเทศรวมตัวกันขับไล่ออกจากตำแหน่ง

ผู้นำลักษณะ strong man เช่นนี้คงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกยุคปัจจุบันอีกแล้ว เพราะผู้คนมีการศึกษามากขึ้น เศรษฐกิจและการเมืองโลกเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง และการเกิด social media ในโลกยุคดิจิตัลทำให้การรวมศูนย์อำนาจไม่อาจจะดำรงอยู่ได้อีกต่อไป

ผมถามตัวเองเมื่อเห็นรูปนี้ว่า ลี กวน ยู กับซูฮาร์โตปกครองสองประเทศที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งขนาดประชากร (อินโดฯ มี 250 ล้านคนขณะที่สิงคโปร์มีไม่เกิน 6 ล้านคน) และศาสนา, วัฒนธรรมกับพื้นภูมิด้านสังคม

ทั้งสองคนเป็นเผด็จการเหมือนกัน แต่คนหนึ่งถูกประชาชนโค่นจากอำนาจขณะที่อีกคนหนึ่งยังได้รับเสียงชื่นชมเมื่อเสียชีวิต

ที่ต่างกันก็เห็นจะเป็นว่าคนหนึ่งจริงจัง กับการสร้างระบบการศึกษาและต่อต้านคอร์รัปชัน ขณะที่อีกคนหนึ่งไม่สนใจกับสองเรื่อง ที่สำคัญที่สุดของการเป็นผู้นำประเทศ!