สวดมนต์ใต้ต้นโพธิ์ ณ พุทธคยา กับนายกฯโมดีแห่งอินเดีย

สวดมนต์ใต้ต้นโพธิ์ ณ พุทธคยา กับนายกฯโมดีแห่งอินเดีย

ผมไปร่วมสวดมนต์กับท่านนายกฯ นเรนธรา โมดี ใต้ต้นโพธิ์ ณ มหาโพธิ์มหาวิหาร สังเวชนียสถานที่ตรัสรู้

ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อ 2,603 ปี ณ พระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา อินเดียมาครับ

เป็นประสบการณ์ที่หายาก มีความหมายทั้งด้านการแสวงบุญ การเมืองระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาพุทธกับฮินดู และการประสานมือครั้งแรกของสองศาสนาแห่งเอเชีย ในอันที่จะแสวงหาหนทางแห่งการ “ป้องกันความขัดแย้ง” แทน “การหาทางออกจากความขัดแย้ง” ของโลก

หัวข้อการระดมความคิดเห็นของผู้นำด้านจิตวิญญาณจากทั่วโลกครั้งนี้ ตั้งประเด็นเปลี่ยนกระบวนทัศน์แนวความคิดจาก 

Conflict resolution อันหมายถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งเมื่อเกิดขึ้น มาเป็น

Conflict Avoidance ซึ่งเน้นในการใช้วิถี ธรรมที่เป็นหลักการใหญ่ของศาสนาพุทธและฮินดูเพื่อ หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

แปลว่าอย่ารอให้เกิดความขัดแย้งก่อนแล้วจึงหาทางแก้ไข แต่ต้องใช้ “ศีลธรรม” และ “หลักธรรมาภิบาล” ในการป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งตั้งแต่ต้น

หมายถึงการเน้นไปที่ต้นตอของปัญหา แทนที่จะรอให้เกิดความขัดแย้งแล้วจึงจะหาทางแก้ ซึ่งบ่อยครั้งก็ช้าเกินการ และเกิดความเสียหายอย่างยิ่งแล้ว

การเสวนาครั้งสำคัญของผู้นำศาสนาพุทธและฮินดูครั้งแรกมีชื่อ Samvad : Global Hindu-Buddhist Initiative on Conflict Avoidance and Environment Consciousness ระหว่างวันที่ 3-4 กันยายนที่ผ่านมาที่กรุงนิวเดลฮี

วันที่ 5 ทั้งคณะเดินทางไปพุทธคยา จังหวัดพิหารของอินเดียเพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วม ณ สถานที่มีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธเพื่อระดมสรรพกำลังแห่งศีล สมาธิและปัญญาเพื่อหาทาง ป้องกันความขัดแย้งและ ความตระหนักในสิ่งแวดล้อม

นายกฯโมดีมาแสดงปาฐกถาใหญ่ทั้งสองงาน ถือเป็นการประกาศนโยบายระดับสากลของนายกฯอินเดียคนนี้

จากประเทศไทย พระอาจารย์อารยวังโส เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย ได้ร่วมแสดงปาฐกถาเสนอแนวคิดและวิถีปฏิบัติแบบพุทธ เพื่อการป้องกันความขัดแย้งระดับสากล

นายกฯโมดีมิเพียงจะผลักดันแนวทางศาสนาในเวทีการทูตระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเชิญชวนนายกฯ ชินโซะ อาเบะแห่งญี่ปุ่น มาร่วมแสดงเจตนารมณ์ร่วมผ่านวีดิโอ ด้วยเนื้อหาสาระที่สอดคล้องต้องกับการนำเอา “จิตวิญญาณแห่งศาสนาพุทธและฮินดู” มาเป็นหลักการแห่งการดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันความขัดแย้ง และปัญหาความรุนแรงกับการก่อการร้ายระดับโลกด้วย

บางคนเรียกนวัตกรรมการทูตแบบใหม่ของผู้นำอินเดียคนนี้ว่า Buddhist Diplomacy หรือ การทูตพุทธธรรมที่น่าวิเคราะห์น่าติดตามอย่างยิ่ง

การระดม “ธรรมะ” ครั้งนี้จัดเป็นทางการโดยมูลนิธิ Vivekananda Internatinal Foundation ของอินเดียกับ Tokyo Foundation ของญี่ปุ่นกับสมาพันธ์พุทธศาสนาโลกหรือ International Buddhist Confederation (IBC) และนิมนต์ผู้นำศาสนาจากทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนแนวทาง เพื่อสร้างแนวทางแห่งสันติภาพอย่างน่าสนใจยิ่ง

นายกฯโมดีตอกย้ำความสำคัญของการปรับเปลี่ยนจาก conflict resolution เป็น conflict avoidance ไม่พอ ยังเสนอให้ปรับ environmental regulation เป็น environmental consciousness

เพราะการที่มนุษย์จะปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมให้ได้ผลจริง ๆ นั้นเพียงแค่ “กฎกติกา” ไม่พอ ต้องสร้าง “ความตระหนักตื่นรู้” ระดับโลกผ่านศาสนาด้วยจึงเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริงได้

เมื่อนายกฯ โมดี ประกาศว่าเขาจะทำให้พุทธคยาเป็น เมืองหลวงแห่งจิตวิญญาณพุทธศาสนาของโลก” (“Bodh Gaya will be developed as a spiritual hub of the Buddhist World”) ผมรู้ทันทีว่าท่านกำลังจะนำอินเดียสู่การทูตแบบพุทธที่ชาญฉลาดและล้ำลึกอย่างยิ่ง