อ่าน 1,127 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 18/2552: 24 มิถุนายน 2552
ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาเดือนเมษายนล่าสุดลดลง 0.1%

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นดัชนีสำคัญที่สุดอันหนึ่งในการชี้ถึงทิศทางภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และโดยที่ประเทศนี้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การฟื้นหรือฟุบของเศรษฐกิจของประเทศนี้จึงส่งผลกระทบถึงประชาคมโลกอีกด้วย อย่างไรก็ตามทั่วโลกจะฝากชะตาไว้กับสหรัฐอเมริกาคงไม่ได้ ประเทศทั่วโลกจะไปทำนุบำรุงสหรัฐอเมริกาเพื่อหวังให้เขาฟื้นเพื่อพึ่งใบบุญหรือกินน้ำใต้ศอกประเทศนี้คงไม่ได้ ในวันหน้าผู้รู้จากทั่วโลกควรคิดจะอยู่อย่างไร หรืออยู่อย่างพึ่งพิงกันเองโดยไม่ต้องมีสหรัฐอเมริกา!
          ผลการสำรวจล่าสุดขององค์กรการเงินเคหะการของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่ตั้งอยู่ ณ กรุงวอชิงตันรายงานว่า ราคาบ้านในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2552 นั้นลดลง 0.1% หรือเรียกว่าแทบจะไม่ได้ลดลงเลย และหากมองย้อนกลับไป 1 ปี ราคาบ้าน ณ เดือนเมษายน 2551 – เมษายน 2552 ได้ลดลงประมาณ 6.8% อย่างไรก็ตามหากนับแต่ช่วงเดือนเมษายน 2550 ซึ่งเป็นเดือนที่ราคาบ้านเพิ่มขึ้นสูงสุด จนถึง เดือนล่าสุด (เมษายน 2552) ราคาบ้านทั่วสหรัฐอเมริกาได้ลดลงไปแล้วถึง 11.2%
          โดยที่บ้านหลังหนึ่งในสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 250,000 ดอลลาร์ หรือ 8.75 ล้านบาท และในสหรัฐอเมริกามีบ้านทั้งหมด 128 ล้านหน่วย ก็แสดงว่าบ้านทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาเป็นเงินสูงถึง 32 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 1,120 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับงบประมาณแผ่นดินไทย 650 ปี และโดยที่ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาลดลงไปแล้ว 11.2% แสดงว่ามูลค่าความมั่งคั่งของสหรัฐอเมริกาลดลงไปประมาณ 3.584 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 125 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับงบประมาณแผ่นดินไทย 70 ปี นี่แสดงถึงขนาดเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่มากของสหรัฐอเมริกา
          เป็นที่น่าสังเกตว่า พื้นที่ที่มีการลดต่ำลงในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ก็คือ มลรัฐแถบมหาสมุทรแปซิฟิก อันได้แก่ ฮาวาย อลาสกา ออรีกอนและแคลิฟอร์เนีย โดยเฉพาะเมืองหลายแห่งในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ราคาลดต่ำลงมากเป็นพิเศษถึงประมาณหนึ่งในสามเหลือมูลค่าตามที่เคยมีสูงสุดเพียงสองในสามเท่านั้น อย่างไรก็ตามปรากฏว่า ในเดือนล่าสุด ภูมิภาคแถบมหาสมุทรแปซิฟิก กลับมีการลดลงของราคาเพียง -0.3% ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2552
          กรณีข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ‘เลือดกำลังหยุดไหล’ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ในอีก 2 ภูมิภาค คือ กลุ่มมลรัฐแถบภูเขา อันได้แก่ รัฐมอนทานา ไอโอวา ไวโอมิง เนวาดา ยูทาห์ โคโรราโด อริสโซนาและนิวเม็กซิโก  ซึ่งในรอบ 12 เดือนล่าสุดราคาลดลงไป 10.2% แต่ในเดือนล่าสุดราคากลับเพิ่มขึ้นเป็น 1.3% ส่วนอีกภูมิภาคหนึ่งคือกลุ่มมลรัฐด้านมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ ซึ่งประกอบด้วยมลรัฐเดลาแวร์ แมรีแลนด์ เวอร์จิเนีย เวสต์เวอร์จิเนีย นอร์ทและเซาท์แคโลไลนา จอร์เจียและโดยเฉพาะฟลอริดา ที่ปรากฏว่าราคาลดลง 9.8% ในรอบ 12 เดือน แต่ในเดือนล่าสุดลงลงเพียง 0.6% เท่านั้น
          นอกจากกลุ่มมลรัฐ 3 กลุ่มข้างต้นที่ราคาลดลงเป็นพิเศษ คือ กลุ่มมลรัฐแถบมหาสมุทรแปซิฟิก กลุ่มมลรัฐแถบภูเขา และกลุ่มมลรัฐด้านมหาสมุทรแอตแลนติกใต้แล้ว กลุ่มมลรัฐที่เหลือ แทบจะไม่มีราคาตกต่ำเลย คือในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาตกต่ำเพียง -1.3% ถึง -4.5% เท่านั้น ข้อนี้บ่งชี้ชัดว่า มลรัฐที่เป็นที่นิยม หรือมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาก หรือเป็นพื้นที่ที่มีการเก็งกำไรมากเป็นพิเศษ มักจะมีการแกว่งตัวของราคามากกว่ามลรัฐอื่น อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มมลรัฐแถบกลาง-ตก-ใต้ มีราคาลดลงเพียง 1.3% เท่านั้น มลรัฐกลุ่มนี้ประกอบด้วย มลรัฐโอกลาโฮมา อาคันซอส์ เท็กซัสและหลุยเซียนา
          ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือ โดยที่สหรัฐอเมริกาในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีแนวโน้มว่าการหดตัวของราคาบ้านจะชะลอตัวลง หรืออีกนัยหนึ่ง ราคาบ้านอาจจะถึง ‘ก้นเหว’ แล้ว แต่ก็ยังมีการแกว่งตัวอยู่บ้างพอสมควร ดังนั้นจึงยังไม่อาจสรุปได้อย่างมั่นใจนักว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างเด่นชัด แต่ก็ยังดีกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา คือ ระหว่างปี 2550 – 2551 ที่ราคาตกต่ำลงอย่างแทบไม่มีเดือนไหนเพิ่มขึ้นเลย
          การที่สถานการณ์ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มว่าจะกระเตื้องขึ้นนี้ น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาโดยตรง แต่ทั้งนี้ประเด็นหลักยังอยู่ที่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ต่าง ๆ ราคาบ้านเป็นเพียงดัชนีที่เป็นปรากฏการณ์ท้ายสุดเท่านั้น แต่เชื่อว่าด้วยความเด็ดขาดในการจัดการ เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวเร็ว และไม่ยืดเยื้อนัก
          อย่างไรก็ตามถ้าสหรัฐอเมริกาฟื้นจะหมายถึงว่าไทยฟื้นด้วยหรือไม่ นี่ยังเป็นคำถามใหญ่ เพราะปัจจัยภายในของประเทศไทยเรา ยังมีอีกมาก ความเข้มแข็งและความมั่นคงของอำนาจรัฐของรัฐบาลไทยยังเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณา และเป็นสิ่งที่ขึ้นกับปัญหาชายแดน ฝ่ายค้านและแม้แต่ฝ่ายแรงงานรัฐวิสาหิจที่มีโอกาสจะเขย่าความมั่นคงและความชอบธรรมของรัฐบาลไทย

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ในฐานะศูนย์ข้อมูล-วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินที่มีฐานข้อมูลภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุด ได้รับ ISO 9001-2008 ทั้งระบบแห่งแรกในฐานะที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น และเป็นสมาชิก UN Global Compact อีกด้วย

 
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved