อ่าน 2,186 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 206/2557: 19 ธันวาคม 2557
สร้างนิคมอุตสาหกรรม แก้ผังเมืองไทย

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ผมขอทำตัวเป็นพลเมืองดีของท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยการนำเสนอแนวคิดดี ๆ ในการพัฒนาเมือง พัฒนาประเทศ เพื่อความมั่นคงของรัฐบาลของท่านสักหน่อย ด้วยการเสนอแนะแนวทางการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและการแก้ไขปัญหาผังเมืองไทยสักหน่อยครับ

โรงงานกำลังบุกรุกลงนาข้าวกันใหญ่แล้ว

          ภาพหนึ่งที่เราเห็นจนชินตา แต่จริงๆ มันคือมหันตภัยสำหรับเมืองและประชาชนเมืองรวมทั้งพื้นที่ชนบทก็คือ โรงงานใหญ่น้อยทั้งหลายรุกเข้าไปในนาข้าวหรือพื้นที่เกษตรกรรมต่าง ๆ กันมากมาย ในสมัยก่อนเรามีบางนาที่ทำนาได้คุณภาพยอดเยี่ยมยิ่งกว่าอยุธยาเสียอีก แต่บัดนี้ก็ไม่มีแล้ว สวนส้มบางมด สวนทุเรียนเมืองนนทบุรี เรือกสวนในบางกระเจ้า ต่างถูกทำลายไปมากมาย พื้นที่ทุ่งรังสิตที่ครั้งหนึ่ง เราจัดสรรไว้เพื่อการเกษตรกรรมเมื่อ 120 ปีก่อน บัดนี้ก็ถูกรุกไล่ไปหมด แม้แต่เขตชนบทในอยุธยา ก็แทบจะแปลงสภาพกันแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ทุ่งนาในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดโดยรอบอื่น ๆ ก็ถูกรุกไล่ไปหมดเลย
          อันนี้คงต้องโทษการผังเมืองไทยที่ย่ำแย่ เรามีกฎหมายผังเมืองฉบับแรกตั้งแต่ ปี 2495 มีการร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครในปี 2500 แต่ผังเมืองรวมฉบับแรกของไทยกลับเพิ่งมามีในปี 2535 หรืออีก 40 ปีให้หลัง ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะรัฐบาลเปลี่ยนจากจอมพล ป เป็น จอมพล ส ท่านจอมพล ส คงไม่อยากให้ผลงานในสมัยท่านจอมพล ป ได้เกิด เลยดองเรื่องผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครไว้ แต่ในประเทศไทยของเรานี้ไม่ได้มีเฉพาะจอมพล ส คงมีผู้มีอำนาจอิทธิพลเหนือรัฐอีกมากมายที่มีวิสัยทัศน์สั้น ไม่อยากให้ผังเมือง ซึ่งเป็นแนวคิดดี ๆ ได้เกิด เกรงว่าถ้ามีผังเมืองแล้วจะไม่สามารถใช้ที่ดินได้ตามอำเภอใจ กลัวราคาจะตกต่ำลง เลยใช้ "มือที่มองไม่เห็น" ขัดขวางไม่ให้ผังเมืองดีๆ ได้เกิด
          ทางฟากราชการ เราก็มีหน่วยงานทางด้านผังเมือง ด้านโยธาธิการมานมนามพอ ๆ กับกฎหมายผังเมือง แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่อธิบดี ก็ไม่อาจผลักดันอะไรได้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน อธิบดีทั้งหลายท่านก็เหมือนกับข้าราชการดี ๆ ทั้งหลายที่เกษียณไปอย่างสง่างาม ไม่มีอะไรด่างพร้อย แต่แทบไม่ได้สร้างสรรค์อะไรฝากไว้ในแผ่นดินเลย ทุกอย่างเป็นคลื่นกระทบฝั่ง หรือระบบราชการไทยบิดเบี้ยวไปหมด ลัทธิ "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง" หรือ "ไม่มีใครอยากเอากระดิ่งไปผูกคอแมว" จึงแพร่หลายดกดื่น คนดี คนไม่ด่างพร้อยเกิดขึ้นมากมี แต่ประเทศชาติกลับถดถอยลงไปเรื่อย ๆ
          ผมไปเป็นที่ปรึกษาในโครงการของกระทรวงการคลังในประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม จะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้มีระบบผังเมืองที่ไม่ใช่ธรรมดา แม้แต่ในกรุงพนมเปญ ซึ่งถือเป็น "ปารีสแห่งตะวันออก" ก็มีระบบผังเมืองมาก่อนไทย นครสะหวันนะเขตของลาวก็มีระบบผังเมืองที่ดี โดยเฉพาะเมื่อมองเทียบกับตัวเมืองมุกดาหารของไทย ซึ่งการเติบโตของเมืองเป็นไปตามยถากรรม มีการวางแผนที่ค่อนข้างจำกัด
          ทำไมจึงมีโรงงานรุกเข้าไปในพื้นที่นา ประเด็นสำคัญก็คือ ในเขตกรุงเทพมหานคร เขาห้ามสร้างโรงงาน ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการเดินทางเข้าเมือง เจ้าของโรงงานจึงไปหาทำเลใกล้เคียงกรุงเทพมหานคร อันได้แก่พื้นที่นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรสงคราม อยุธยา ฉะเชิงเทรา มาก่อสร้างโรงงาน ยิ่งผังเมือง "กำมะลอ" ของไทย กำหนดให้มีการบังคับใช้ผังเมืองเฉพาะในเขตเมือง นอกเขตเมือง ไม่มีการบังคับ ซึ่งเท่ากับ "ปล่อยผี" การพัฒนาที่ดินนอกเขตผังเมืองรวมจึงเกิดขึ้นดกดื่น
          เราเลือกวางผังเมืองเฉพาะในเขตเมือง แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่มีผังชนบท แต่เดี๋ยวนี้กรมโยธาธิการและผังเมือง ยังจะคิดถึงผังทั้งจังหวัด ผังภาค ผังประเทศ ซึ่งไม่รู้จะเป็นฝันหวาน ฝันกลางวัน ฝันเปียกหรืออย่างไร เพราะลำพังผังเมืองรวมทั่วประเทศ ก็หมดอายุไปราว ๆ ครึ่งหนึ่งแล้ว หลายพื้นที่กลายเป็นการ "ปล่อยผี" ให้มีการก่อสร้างส่งเดชเกิดขึ้นมากมาย
          ก็น่าเห็นใจกรมโยธาธิการและผังเมือง เพราะการวางแผน (Planning หรืออ่านว่า "แพลนนิ่ง") กลับ "นิ่งสนิท" แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติมากนัก เพราะแต่ละหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค ไม่ได้ยึดผังเมืองเป็นหลักในการพัฒนา ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขุด (ถนน) ต่างคนต่างทำตามแผนของตนเอง ต่างคนต่างมีแผนที่สารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) คนละชุด ๆ ละเป็นพันๆ ล้าน จนบริษัททำแผนที่รวยไปตาม ๆ กัน ผิดกับการผังเมืองในอารยประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ระบบแผนที่และข้อมูลต่าง ๆ "ผูกปิ่นโต" ใช้ร่วมกัน จะได้ไม่เปลืองทรัพยากร ทำให้สงสัยว่าข้าราชการเมืองนอกคงอดอยากปากแห้ง หมดโอกาสทุจริตหรืออย่างไร
          หันมาดูการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าตั้งแต่เปิดทำการมาในปี 2515 สร้างหรือร่วมกับภาคเอกชนสร้างนิคมอุตสาหกรรม แล้วทั้งสิ้น 47 แห่งใน 15 จังหวัด ทั้งนี้คงไม่ได้นับรวมสวนอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมของภาคเอกชนล้วน ๆ แต่ไม่ได้เรียกว่า "นิคมอุตสาหกรรม" เพราะคำ ๆ นี้สงวนไว้ให้นิคมฯ ที่พัฒนาหรือร่วมพัฒนาโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเท่านั้น แค่เรื่องชื่อนี่ก็ปวดหัวแล้วครับ แต่ช่างเถอะ มีเรื่องใหญ่ที่พึงพิจารณามากกว่านี้
          ประเด็นที่พึงนึกเพื่อการพัฒนาประเทศก็คือ ทำไมไทยเราไม่คิดทำนิคมอุตสหกรรมสำหรับกิจการอุตสาหกรรมทั้งหลาย ห้ามใครทำโรงงานในเขตที่อยู่อาศัยหรือในใจกลางที่อาจส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างเด็ดขาด ยังมีโรงงานเกิดขึ้นดกดื่นทั่วกรุงเทพมหานคร รถบรรทุกของโรงงานก็วิ่งกันขวักไขว่ใจกลางเมือง การจราจรก็ติดขัด คุณภาพชีวิตของทุกคนก็ย่ำแย่ หรือเพราะมีอะไรบังตาหรืออย่างไร ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้อำนวยการ หรือใครต่อใครต่างก็มาสวมหัวโขนเสร็จแล้วก็ไป อะไรดี ๆ จึงไม่เกิดขึ้นในแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักของพวกเราเสียเลย
          เหมือน "ฟ้าไม่มีตา" (สำนวนหนังจีน) ใครที่ซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมบางชัน ฯลฯ ราคาที่ดินก็หยุดนิ่งไปเลยหรือขึ้นอย่างเชื่องช้า เพราะที่ดินเหล่านั้นใช้ทำโรงงานได้เท่านั้น ส่วนใครทำโรงงานนอกนิคมอุตสาหกรรม เช่น ย่านปากน้ำ ย่านสำโรง ย่านบางนาตรงถนนสุขุมวิทช่วงปลาย ราคาที่ดินกลับพุ่งพรวด เมื่อไม่อยากทำโรงงานแล้ว ก็เอาไปขายทำกำไรไปสร้างตึกแถวหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นได้สบาย ๆ ยิ่งในกรณีบางนา - สำโรง เดี๋ยวนี้มีรถไฟฟ้าไปถึง ราคาที่ดินของโรงงานเก่าที่เลิกใช้แล้ว ยิ่งพุ่งทะยานเพราะเอาไปทำโครงการอาคารชุดพักอาศัยได้อีกต่างหาก
          สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐประหารที่มีอำนาจเด็ดขาดพึงทำก็คือ ต่อไปนี้ใครจะสร้างโรงงานในเขตเมืองไม่ได้อีกต่อไป ต้องอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของทั้งภาครัฐหรือภาคเอกชนเท่านั้น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือภาคเอกชนสร้างนิคม สวนหรือเขตอุตสาหกรรมขึ้นมาแล้ว ก็นำมาขายให้รัฐบาลในราคาถูกแบบซื้อเหมา
          รัฐบาลก็สามารถนำไปให้เจ้าของโรงงานทั้งหลายซื้อหรือเช่าในราคาถูก อาจถูกกว่าต้นทุนที่ซื้อมาก็ยังได้ ยิ่งถ้าเป็นรายใหญ่ที่มาจากต่างประเทศ มาสร้างงาน สร้างเงินให้เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย ก็อาจให้ใช้ฟรีไปเลย แต่คิดค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เพื่อนำมาบำรุงรักษา ไม่ปล่อยให้โรงงานใด ๆ แอบปล่อยควันพิษตอนอากาศเปิด หรือแอบปล่อยน้ำเสียตอนฝนตกหนักเช่นที่ยังมีข่าวเกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ทั้งหลาย จนชาวบ้านเอือมระอา การนำการพัฒนาอย่างนี้ เจ้าของโรงงานก็จะยอมย้ายออกจากเมืองเพราะต้นทุนถูกกว่า ไม่ถูกเพื่อนบ้านราวี เรียกได้ว่าเป็นผลดีหรือ "Win Win" ต่อทุกฝ่าย
          ถ้ากรมโยธาธิการและผังเมืองมีวิสัยทัศน์ในการวางผังเมืองที่ดี ที่จะกำหนดว่าบริเวณไหนจะให้เมืองขยายไป ก็จะสามารถเวนคืนที่ดินมาทำเมืองใหม่ โดยในเมืองนั้นมี นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการควบคุมมลพิษอย่างดี มีทั้งแปลงที่ดินสำหรับโรงงานใหญ่ ๆ ให้เช่าหรือซื้อขาย มีที่ตั้งโรงงานเล็ก ๆ แบบ SMEs รวมทั้งมีสำนักงานติดต่อของโรงงานต่าง ๆ ตลอดจนบริเวณพื้นที่การค้า พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่นันทนาการ ยิ่งกว่านั้นยังควรจะมีระบบขนส่งมวลชนทางรางและทางด่วนเชื่อมต่อเข้าเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
          ยิ่งกว่านั้นเราสามารถประกาศได้ว่า ในพื้นที่ทำนารอบ ๆ เมืองหรือในเขตชานเมือง ห้ามนำไปทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ใด ๆ ใช้ได้แต่ทำนา มีการควบคุมการใช้ที่ดินโดยเคร่งครัด ไม่เอา "หูไปนา ตาไปไร่" ไม่ปล่อยโอกาสให้ท้องถิ่นหรือหน่วยงานใด แอบให้ใบอนุญาตใช้พื้นที่ผิดไปจากที่วางผังเมืองไว้ การนี้จะทำให้ราคาที่ดินชนบทไม่สูงขึ้น ไม่จูงใจให้ใครนำไปพัฒนาในทางอื่น  รัฐบาลยังสามารถที่จะเสริมด้วยการอุดหนุนภาคการเกษตรในบริเวณชานเมืองเพื่อให้เกษตรกรรมชานเมืองมีความยั่งยืนอีกด้วย
          ส่วนพื้นที่ใดที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กำหนดให้เป็นเขตเมือง อนุญาตให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ โดยที่พื้นที่เหล่านี้มีจำนวนน้อย มีความต้องการสูงใช้ที่ดินประเภทนี้ ราคาที่ดินก็ขยับตัวสูงขึ้น และเมื่อมีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เราก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้มาก ๆ เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่นอีกต่อหนึ่ง ยิ่งในเขตที่เป็นพาณิชยกรรม ราคาที่ดินยิ่งสูง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ยิ่งสูง ใครที่จะอยู่ใจกลางเมืองก็ต้องเสียภาษีมาก ๆ
          อย่างเช่นกรณีซอยร่วมฤดี ซึ่งเดี๋ยวนี้มีการพัฒนาในเชิงพาณิชย์มากขึ้น จนมีโรงแรมดิเอทัสเกิดขึ้น (ซึ่งในความเป็นจริวในซอยนี้ยังมีอาคารใหญ่ๆ อีกมากมายที่บางอาคารสูงใหญ่กว่าอาคารโรงแรมนี้อีก) หากเจ้าของบ้าน ขุนน้ำขุนนางในอดีต ยังอยากจะอยู่ในใจกลางเมืองทั้งที่ที่ดินใจกลางเมืองมีราคาแพง พวกเขาก็ต้องจ่ายภาษีสูง ๆ เพื่ออยู่อาศัย  หาไม่ก็ยากออกไปอยู่บริเวณอื่นที่เป็นที่อยู่อาศัยอย่างเดียว ประกอบการพาณิชย์ไม่ได้ พวกเขาจึงจะเสียภาษีน้อยลง
          องคาพยพที่เป็นหน่วยราชการของไทย จะต้องมีบูรณาการ บูรณาการจะเกิดไม่ได้หากความก้าวหน้าในชีวิตราชการ ไม่ได้วัดความสามารถในลักษณะที่เป็น CEO หากความก้าวหน้ายังอยู่ที่การ "เลียนาย" การตบเท้าอวยพร การรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ การแห่ต้อนรับ เช้าถึงเย็นถึง ประเทศชาติก็ไปไม่ถึงไหน ข้าราชการก็จะไม่คิดอะไรดีๆ เพื่อชาติ เพราะความก้าวหน้าไม่ได้อยู่ที่ผลงาน รัฐบาลในสมัยรัฐประหารของท่านจึงควรออกระเบียบเลิกการตบเท้าอวยพร รดน้ำดำหัวเพื่อการเลียนายได้แล้วครับ
          ถ้าเราทำให้ดีเช่นนี้ ก็จะกลายเป็นว่าความเป็นเมืองของนครต่าง ๆ ในประเทศไทยมีการควบคุมและจัดการที่ดี ไม่ก่อมลภาวะในอากาศ ทางเสียง หรืออื่น ๆ พื้นที่ชนบทก็จะไม่ถูกรุกทำลาย เมืองก็น่าอยู่ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นในที่สุด

          หวังว่าประเทศไทยจะมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นเป็นชิ้นเป็นอันในสมัยของท่านบ้างนะครับท่านนายกฯ


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved