ผู้ที่อยู่หลังป้อมพระกาฬทำผิดกฎหมายอะไรบ้าง
  AREA แถลง ฉบับที่ 318/2559: วันพฤหัสบดีที่ 01 กันยายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ผู้ที่ยังดื้อแพ่งไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่หลังป้อมพระกาฬเพื่อการบูรณะเกาะรัตนโกสินทร์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม โดยยึดถือแต่ประโยชน์เฉพาะตนนั้น ทำผิดกฎหมายข้อไหนบ้าง

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) แถลงแจกแจงความผิดของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่เพียง 16 ครัวเรือนเท่านั้น (http://bit.ly/2bb2kAU) ไม่ได้มีเป็นร้อยดั่งที่เราเข้าใจหรือได้รับข้อมูล "ดรามา" มาทั้งสิ้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

            บุคคล 16 ครัวเรือนที่ยังไม่ยอมย้ายกระทำผิดกฎหมายแพ่ง ดังนี้:

            มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันเช่น

            (1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน

            (2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่าที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวงทะเลสาบ

            (3) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะเป็นต้นว่า ป้อมและโรงทหารสำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์

            มาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น จะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา

            ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ข้างต้น ลักษณะสำคัญของสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็คือ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่ง

            1. ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือ

            2. สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน

            คำว่า ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามมาตรา 1304 (2) นั้น หมายถึงทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งโดยสภาพประชาชนทั่วไปย่อมมีสิทธิใช้สอยร่วมกันได้ เช่น ที่ชายตลิ่ง ทุ่งหญ้าสาธารณะ หนองน้ำสาธารณะ ลำรางสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งหมายถึงสวนสาธารณะด้วย จะให้ใครมา "ขี้ตู่" ครอบครองไว้ใช้สอยส่วนตัวไม่ได้

            ดังนั้นกรณีที่ดินบริเวณป้อมมหากาฬซึ่งรัฐบาลได้จัดซื้อหรือเวนคืนมานั้น แม้กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและโดยที่วัตถุประสงค์ของการได้ที่ดินมานั้นเพื่อทำเป็นสาธรารณประโยชน์ที่ดินดังกล่าวจึงถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้ว่าจะยังมิได้ทำการสร้างสวนสาธารณะก็ตาม เทียบตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1428-1429/2515

            การเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น มีลักษณะที่ต้องเข้าใจดังนี้:

            1. ตามมาตรา 1305 จะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจของกฎหมาย

            2. ตามมาตรา 1306 ผู้ใดจะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินมิได้

            3. ตามมาตรา 1307 จะยึดเพื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาไม่ได้

            ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน นอกจากจะโอนให้แก่กันตามธรรมชาติได้แล้ว ผู้ใดก็หามีสิทธิเอาไปให้เช่าได้ไม่ ถ้าเอาไปให้เช่าการเช่าก็ไม่มีผล ผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าตามสัญญามิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 948/2501, 622/2510, 1608/2513, 772/2516, 527-530/2520 และ 920-921/2522) จะตกลงแบ่งการครอบครองกันก็ไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1410/2520)

ตามประมวลกฎหมายอาญา

            สำหรับกฎหมายอาญานั้น ผู้กระทำความผิดถึงขั้นติดคุกติดตาราง เพราะละเมิดเช่นนี้ ปรากฏดังนี้:

            มาตรา 360 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ใช้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            การที่ชาวบ้านจำนวนหยิบมือเดียวมาครอบครองแบ่งปันที่ดินของสาธารณสมบัติไปใช้ส่วนตัวจึงถือว่าผิดกฎหมายอาญาโดยชัดแจ้ง

ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

            มาตรา 18 บรรดาที่ดินทั้งหมดอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นให้อธิบดีมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณี อำนาจหน้าที่ดังว่านี้รัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้

            ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือเป็นที่ดินที่หวงห้ามหรือสงวนได้ตามความต้องการของทบวงการเมือง อาจถูกถอนสภาพหรือโอนไปเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น หรือนำไปจัดเพื่อประชาชนได้ในการดังต่อไปนี้

            (1)  ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ถ้าทบวงการเมือง รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจัดหาที่ดิน มาให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทนแล้ว การถอนสภาพหรือโอนให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ แต่ถ้าพลเมืองได้เลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือที่ดินนั้นได้เปลี่ยนสภาพไปจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดตามอำนาจกฎหมายอื่นแล้ว การถอนสภาพให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

            (2)  ที่ดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ได้หวงห้ามหรือสงวนไว้ตามความต้องการของทบวงการเมืองใด ถ้าทบวงการเมืองนั้นเลิกใช้ หรือไม่ต้องการหวงห้ามสงวนต่อไปเมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพแล้ว คณะรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมือง ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ใช้หรือจัดหาประโยชน์ก็ได้ แต่ถ้าจะโอนต่อเอกชน ให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ และถ้าจะนำไปจัดเพื่อประชาชนตามประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

            การตราพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสอง ให้มีแผนที่แสดงเขตที่ดินแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้หรือพระราชกฤษฎีกานั้นด้วย

ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน

            พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) มาตรา 7 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้ายการควบคุมการก่อสร้างอาคารภายในเขตของโบราณสถาน ซึ่งอธิบดีได้ประกาศขึ้นทะเบียน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี

            ในกรณีที่มีการปลูกสร้างอาคารโดยมิได้รับอนุญาต ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งระงับการก่อสร้าง และให้รื้อถอนอาคาร หรือส่วนแห่งอาคารนั้น ภายในกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง

            ผู้ใดขัดขืนไม่ระงับการก่อสร้างหรือรื้อถอนอาคาร หรือส่วนแห่งอาคารตามคำสั่งอธิบดีมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และให้อธิบดีดำเนินการรื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคารนั้นได้ โดยเจ้าของผู้ครอบครองหรือผู้ปลูกสร้างไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย หรือดำเนินคดีแก่ผู้รื้อถอนไม่ว่าด้วยประการใดทั้งสิ้น

            สัมภาระที่รื้อถอนถ้าเจ้าของไม่ขนย้ายออกไปจากเขตโบราณสถานภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันรื้อถอนเสร็จ ให้อธิบดีจัดการขายทอดตลาดสัมภาระนั้น เงินที่ได้จากการขายเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและการขายแล้วหรือเท่าใดให้คืนให้เจ้าของสัมภาระนั้น

            มาตรา 10 ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอนต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใด ๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่ จะกระทำตามคำสั่งอธิบดี หรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีและถ้าหนังสือนั้น กำหนดเงื่อนไขไว้ประการใดก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วย

            จะเห็นได้ว่าผู้ที่อยู่อาศัยเพียง 16 ครัวเรือนที่ไม่ยอมย้ายออกนี้กระทำผิดกฎหมายหลายข้อ หลายกระทง มายาวนาน สมควรที่เราจะบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อความเสมอหน้ากันของพลเมืองไทย

ที่มา: http://bit.ly/2bSfLE4

อ่าน 4,084 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved