อันตราย ! พระธรรมวินัยคือเกราะกำบัง หากคณะสงฆ์ให้ความสำคัญน้อยกว่ากฎหมายอื่น ตกต่ำสถานเดียว

"อันตราย ! พระธรรมวินัยคือเกราะกำบัง หากคณะสงฆ์ไทยให้ความสำคัญน้อยกว่ากฎหมายอื่น มีแต่ตกต่ำสถานเดียว" http://winne.ws/n14408

1.9 พัน ผู้เข้าชม
อันตราย !  พระธรรมวินัยคือเกราะกำบัง  หากคณะสงฆ์ให้ความสำคัญน้อยกว่ากฎหมายอื่น ตกต่ำสถานเดียว

บทความดี ๆ ที่น่าสนใจให้ความรู้ทางวิชาการที่ทำให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาโดยท่านอาจารย์บรรจบ บรรณรุจิบทความนี้ท่านกล่าวถึงอันตรายแห่งพระพุทธศาสนาหากไม่ยึดถือพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ

@ อันตรายแรก คือ  จะทำให้ฝ่ายจ้องจับผิดเล่นงานไม่หยุดหย่อน โดยใช้การที่คณะสงฆ์ปฏิบัติไม่สมบูรณ์หรือปฏิบัติไม่ได้ในพระวินัยบางข้อเป็นจุดโจมตี  

      อย่างที่เห็น ๆ กันมา เช่น อ้างการรับเงินมาเป็นส่วนตัวของพระ การที่พระมียศศักดิ์เหมือนขุนนาง มาเป็นจุดพูดทำลาย เพราะเหตุที่พระวินัยไม่อนุญาตให้พระรับเงินอย่างปัจจุบันจริง ไม่ได้เปิดทางการมียศศ้กดิ์อย่างที่เป็นอย่างปัจจุบันจริง  จึงทำให้คำพูดของเขามีน้ำหนักสังคมส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าใจชีวิตจริงของพระสมมติสงฆ์ในสังคมไทยจะคล้อยตาม 

      หลายคนอยากเห็นคณะสงฆ์ทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้กระจ่างทั้งทางพระวินัยและสภาพสังคมว่าพวกเขารับได้กับเหตุผลทึ่จะอ้างว่ายุคปัจจุบันต่างจากยุคครั่งพุทธกาลเป็นยุคที่บีบรัดให้พระสงฆไทยต้องใช้เงิน

      ผมเคยเสนอว่า เรื่องห้ามพระรับเงินไว้เป็นสมบัติส่วนตัวนั้นบัญญัติจริง แต่โทษก็ไม่รุนแรงถึงขั้นต้องขาดจากความเป็นพระ เพราะเมื่อสละของนั้นออกไปแล้วสารภาพผิด (ปลงอาบัติ)ก็พ้นผิด แต่เมื่อยุคนี้พระไม่มีเงินอยู่ไม่ได้ ไม่เกี่ยวข้องกับเงินก็ทำงานไม่ได้  จึงเป็นเรื่องที่พระกับฆราวาสต้องมาช่วยกันคิดอย่างมีเมตตาว่าจะทำอย่างไรให้พระใช้เงินโดยไม่เป็นอาบัติ

     เรื่องพระมียศศักดิ์ก็เช่นกัน  พระพุทธเจ้าไม่ได้เปิดทางให้พระเป็นขุนนางและมียศอย่างเจ้า 

     ทรงเป็นความปรารถนาดีของพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่ครั้งสุโขทัยที่ต้องการสนับสนุนให้พระทำงานสอนศาสนาได้เต็มที่จึงยกมาเป็นพวกเดียวกันด้วยการถวายยศให้เป็นพระราชาคณะ(พวกเดียวกับพระราชา) และตั้งพระราชทินนามได้สอดคล้องกับความสามารถส่วนตัว เพื่อเชิดชูให้แสดงความสามารถด้านศาสนามากยิ่งขึ้น 

     เช่น พระพันรัต (ชอบป่า) แสดงว่าเป็นพระสายกัมมัฏฐานเรียนสมถะกับวิปัสสนาจากพระอาจารย์แล้วเข้าป่า กษัตริย์จึงยกย่องด้วยการตั้งชื่อถวายตามความสามารถทำนองพระราชทานพร้อมกับตั้งบรรดาศักดิ์ให้กับขุนนาง

     แต่ปัจจุบันพระสงฆ์เราตื่นในเรื่องยศศักดิ์กันมากถือเป็นเรื่องยกสถานะ ดังนั้นพระสงฆ์รูปที่ได้ยศศักดิ์ แม้จะอายุพรรษาไม่มาก ความรู้อาจไม่สูง วัตรปฏิบัติก็มีตำหนิอยู่  แต่ก็จะไม่ใช่พระธรรมดาแล้ว มีสถานะประหนึ่งว่าเป็นขุนนาง พระที่ไม่มียศศักดิ์แม้อายุพรรษามากกว่าก็ต้องทำอปจายนธรรม (อ่อนน้อม)ทำให้คุณค่าความเป็นพระตามพระวินัยด้อยกว่าความเป็นพระที่รองรับด้วยยศศักดิ์

     นี่คืออันตรายแรกที่เป็นจุดอ่อนที่กำลังเป็นอยู่ จะเห็นว่าเพราะการมุ่งถือกฏหมายอื่นระเบียบอื่นเหนือกว่าพระธรรมวินัยจนการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอ่อนแอจึงเปืดทางให้พระธรรมดาบางรูปร่วมกับพลพรรคที่มีอำนาจรัฐหนุนหลังไล่บี้มหาเถรสมาคมไล่บี้พระระดับสมเด็จรองสมเด็จอย่างเมามันและไม่เกรงใจจนแทบเอาตัวไม่รอด

   คิดดูเถอะ ยามนี้ คณะสงฆ์จะเอาอะไรไปสู้เขาได้ ถ้าไม่เอาการเคารพพระธรรมวินัยไปสู้เขา

@ อันตรายต่อมา  การที่พระราชาคณะมีสถานะเป็นดั่งขุนนาง ในทางหนึ่งนั้นอาจดีเพราะอยู่ภายใต้ร่มเงาพระบารมีของพระมหากษัตริย์ 

     ปัญหาอันใดมี่เกิดกระทบสถาบันพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์อาจไม่ต้องรับผิดชอบโดยตรงแต่ยกถวายให้เป็นพระราชภาระของมหากษัตริย์  

    ในข้อนี้  ผู้เขียนเห็นว่า...

     หากเป็นยุคโบราณอาจดีเพราะทรงมีพระราชอำนาจเต็ม แต่ยุคปัจจุบันทรงมอบพระราชอำนาจให้หน่วยราชการต่างๆใช้หมดแล้ว

      เช่น การบริหาร ทรงมอบพระราชอำนาจให้รัฐบาลใช้ พระราชอำนาจออกกฏหมาย ทรงมอบให้รัฐสภาใช้ และพระราชอำนาจตัดสินคดีความ  ทรงมอบให้คณะตุลาการศาลต่างๆใช้  

      เมื่อเป็นเช่นนี้ พระถูกมองเป็นขุนนาง บรรดาแหล่งอำนาจก็จะมองว่าพระมีสถานะที่ต้องอยู่ในอำนาจตน เมื่อเกิดปัญหาใดก็มุ่งแต่จะใช้อำนาจที่ตนมีจัดการ โดยหาได้คำนึงถึง"อำนาจที่ทำให้พระเป็นพระ" คือ อำนาจพระธรรมวินัย ไม่

      เรื่องนี้ก็เห็นอยู่ในปัจจุบัน  คณะสงฆ์ได้ฝากความเป็นพระไว้ที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์และกฏนิคหกรรม

ซึ่งเป็นกฏหมายที่ร่างขึ้นตามกฏหมายทางโลก แต่ละเลยการให้ความสำคัญเนื้อหาของพระธรรมวินัยซึ่งเป็นเนื้อแท้ของความเป็นพระ  

      เมื่อคณะสงฆ์ยกความศักดิ์สิทธิ์ของพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไปอยู่ใต้กฏหมายบ้านเมืองที่คนมีกิเลสคือโลภโกรธหลงจัดทำผลก็เป็นอย่างที่เห็น คือ คณะสงฆ์ถูกเหยียบย่ำ

      ดูเถิด...มีอย่างที่ไหนบังคับใช้กฏหมาย ม.๔๔ บุกค้นวัดภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคมโดยไม่ปรึกษาขอความเห็นแม้แต่น้อย เรียกได้ว่า "ข้ามหัว" เลย  

      คณะสงฆ์เองก็กระไรไม่มีแม้แต่น้อยที่จะแสดงปฏิกิริยาอันใดกลับปล่อยให้เขาย่ำยีอย่างย่ามใจ จะเป็นเพราะต้องการรักษาฟอร์มของสมณะผู้ได้ชื่อว่ารักสงบหรือว่าเพราะกลัวหรือว่าเพราะขาดความสำนึกในคุณค่าของพระธรรมวินัยร่วมกัน  ก็ยากที่เดา

     น่าเสียดาย...คณะสงฆ์ปล่อยให้คุณค่าของตัวเองที่เกิดมาจากพระธรรมวินัยตกไปอยู่ใต้อำนาจกฏหมายที่ร่างขึ้นมจากกิเลสคืออวิชชาตัณหา ทั้งนี้ก็เพราะละเลยที่จะสนใจเคารพพระธรรมวินัยกันเอง

      หลักฐานอันหนึ่งที่น่าจะชี้ชัดในเรื่องนี้ได้ คือ เมื่อพระรูปใดเกิดอธิกรณ์ เจ้าคณะผู้ปกครองที่พิจารณาความก็เรียกหาแต่ว่า 

     ผิดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์หมวดใด ? มาตราใด ? 

     ผิดจริยาพระสังฆาธิการข้อใด ? 

     จะใช้กฏนิคหกรรมอย่างไร ? 

     แต่ไม่มีท่านใดเลยที่จะถามว่า ผิดพระวินัยข้อไหน ? ทั้งที่ความผิดของพระต้องเริ่มต้นพิจารณาจากพระธรรมวินัยไปหากฏหมายอื่นๆ เหมือนกฏหมายทางโลกที่ต้องเริ่มต้นพิจารณาไปจากรัฐธรรมมนูญ หรือเหมือนทหารเมื่อทำผิดต้องผ่านศาลทหารก่อนแล้วจึงส่งต่อไปยังศาลพลเรือน

      ผมยืนยันได้ว่า คณะสงฆ์ยังจะถูกข้ามหัวเรื่อยไป ตราบใดที่ตัวท่านเองยังไม่ฟื้นความศักดิ์สิทธิ์ของพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงให้ไว้

Cr. ผศ.ดร.อาจารย์บรรจบ บรรณรุจิ ประธานสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย

แชร์