ช้อนอัจฉริยะ ผู้ช่วยสำคัญของผู้ป่วยพาร์กินสัน

อุปกรณ์นี้สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจจากการสั่นเกร็งของกล้ามเนื้อได้ ด้วยระบบควบคุมความเร็วสูง ที่สามารถทำงานเพื่อรักษาความเสถียรของอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ http://winne.ws/n15207

1.3 พัน ผู้เข้าชม

นวัตกรรมช่วยผู้ป่วยโรคพาร์กินสันให้สามารถรับประทานอาหารได้อย่างสะดวกสบาย 

                     การทำบางสิ่งที่ง่ายดาย อย่างการตักซุปกินอาจกลายเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับบางคน อย่างผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ

                     อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัท Gyenno Technologies ได้ออกแบบนวัตกรรมในรูปแบบของช้อนส้อม ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนสามารถรับประทานอาหารได้อย่างสะดวกสบาย โดยที่ไม่มีใครต้องช่วยเหลือ

                     หนึ่งในนวัตกรรมเหล่านั้นก็คือ “Gyenno Spoon” ที่ได้รับการออกแบบในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน และได้ถูกผลิตขึ้นมาในปริมาณมากไปแล้วในฤดูร้อนที่ผ่านมา จนปัจจุบัน สิ่งประดิษฐ์นี้ก็มีผู้สั่งซื้อทางออนไลน์ไปแล้วมากกว่า 6,000 ชิ้น ใน 10 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

อุปกรณ์นี้สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวการสั่นเกร็งของกล้ามเนื้อได้

                     Ren Kang ซีอีโอวัย 32 ปีของบริษัทกล่าวว่า อุปกรณ์นี้สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจจากการสั่นเกร็งของกล้ามเนื้อได้ ด้วยระบบควบคุมความเร็วสูง ที่สามารถทำงานเพื่อรักษาความเสถียรของอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งจากสถิติพบว่าสามารถยับยั้งการเคลื่อนไหวอย่างไม่ตั้งใจที่เกิดขึ้นได้ถึงร้อยละ 85

                     นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกความถี่ของการสั่นสะเทือน และข้อมูลอื่นๆ ของผู้ใช้งาน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และสามารถนำมาปรับต่อการใช้ยาในการรักษาได้

โรคพาร์กินสันปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด

                      โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งถึงแม้ว่าแพทย์จะสามารถแนะนำวิธีการจัดการเบื้องต้นกับโรคนี้ได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด

                       องค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ว่าในปี 2030 จะมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในประเทศจีนมากถึง 5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 57 ของผู้ป่วยทั้งหมดทั่วโลก

                       นาย Ren กล่าวว่าทีมงานของเขาได้สัมภาษณ์ผู้ป่วยมากกว่า 80 คนเป็นเวลา 4 ชั่วโมงระหว่างการพัฒนาช้อนอัจฉริยะนี้ พวกเขาพบว่าผู้ป่วยหลายคนตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า มีผู้หญิงวัย 60 ปีคนหนึ่งที่ร้องไห้ทุก 20 นาทีหรือถี่ยิ่งกว่านั้นเสียอีก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

                       นาย Ren ยังกล่าวเสริมอีกว่า ทีมงานของเขากำลังดำเนินงานพัฒนาช้อนอัจฉริยะรุ่นที่ 2 ซึ่งจะมีขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

ที่มา                :            postjung.com         /      กระดานสนทนา หมวด มือถือ Gadget เทคโนโลยีโพสท์

โดย                :            mamaru                     /       12 เมษายน 2560

ช้อนอัจฉริยะ ผู้ช่วยสำคัญของผู้ป่วยพาร์กินสัน
ช้อนอัจฉริยะ ผู้ช่วยสำคัญของผู้ป่วยพาร์กินสัน
แชร์