ข่าว

"อดีตหัวหน้าคลัง อคส."ให้การหลัง รปห.สั่งห้ามรมยา ทำข้าวเน่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อดีตหัวหน้าคลังสินค้า อคส.ให้การหลัง รปห. คสช.สั่งเลิกติดกล้องวงจรปิด เปลี่ยนกุญแจ ห้ามรมยา ทำข้าวเน่า เผย "ปนัดดดา" กำหนดมาตรฐานตรวจข้าวเอง ไม่อิง ก.พาณิ

นายพศดิษ ดีเย็น  อดีตหัวหน้าคลังสินค้า องค์การคลังสินค้า (อคส.)  กล่าวภายหลังการเบิกความเป็นพยานในคดีโครงการรับจำนำข้าว ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาตามคำฟ้องของ อัยการสูงสุด ว่า ในช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าคลังสินค้าและรับผิดชอบในการกำกับดูแลสต๊อกข้าวในโครงการรับจำนำ ตั้งแต่ ปี 2554 จนถึงปี 2559 เห็นว่า ขั้นตอนในการตรวจรับข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำ เป็นไปตามมาตรฐานและขั้นตอนที่กำหนดโดยรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยในส่วนของ อคส.เป็นหน่วยงานโดยตรงที่รับมอบนโยบายจากกระทรวงพาณิชย์ และปฏิบัติตามคู่มือการรับจำนำข้าวของกรมการค้าภายใน ที่มีหน้าที่โดยตรงตั้งแต่การออกใบประทวน ตรวจสอบตาชั่ง ตรวจสอบเอกสารเกษตรกร จัดเก็บข้าวเปลือก จัดเก็บข้าวสาร เบิกจ่ายระบายข้าว ตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2554 ในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  โกดังและคลังสินค้าในความดูแลของ อคส.ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน และคู่มือเพื่อเก็บรักษาสภาพข้าวเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมาโดยตลอด ตั้งแต่ การตรวจสอบคุณภาพข้าว การรมยากำจัดแมลงและศัตรูพืช เป็นต้น  
 
    อย่างไรก็ตามจุดสังเกตในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ข้าวในโครงการรับจำนำมีหลายเรื่องหลายประเด็น โดยเฉพาะปัญหาเรื่องข้าวหายไปจากโกดัง ในโกดังมีข้าวเสื่อมคุณภาพปะปน ข้าวไม่ตรงสเป็คตามโครงการรับจำนำ  และอีกหลายปัญหา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าหลังการรัฐประหาร รัฐบาล คสช.ได้มีคำสั่งโดยกระทรวงพาณิชย์ให้มีการยกเลิกการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่เคยติดตั้งอยู่ที่โกดังเก็บข้าวในโครงการรับจำนำ สั่งเปลี่ยนคณะบุคคลที่ถือกุญแจ และตั้งแต่ ปี 2557-2559 กระทรวงพาณิชย์ห้ามมิให้มีการเปิดโกดังข้าวเพื่อรมยา ตามปกติ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าวในโครงการรับจำนำ ได้รับความเสียหาย
 
    สำหรับปัญหาเรื่องข้าวเน่า ข้าวเสียและข้าวเสื่อมคุณภาพ นั้นโดยข้อเท็จจริงแล้วข้าวที่เก็บไว้ในโครงการรับจำนำยังมีสภาพที่สามารถจำหน่ายได้ตามปกติ  แต่ปัญหาเกิดจากการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ม.ล.ปนัดดา กำหนดเอง ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ เอามาตรฐานการกำหนดคุณภาพข้าวเพื่อการส่งออกมาเป็นเกณฑ์ตรวจวัด ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวต้องเป็นข้าวที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแล้ว จึงทำให้ข้าวในคลังและโกดังรับจำนำ ทั้งประเทศเป็นข้าวที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของ ม.ล.ปนัดดา ประกอบกับบุคลากรที่ออกไปตรวจสอบนั้นเป็นบุคลากรที่ไม่มีประสบการณ์ไม่มีความรู้เรื่องข้าวขั้นตอนการตรวจสอบไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน จนทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล และกลายเป็นที่มาของนโยบายการสั่งขายข้าวคุณภาพดี ในราคาข้าวเสื่อมคุณภาพ หรือข้าวเน่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการบางรายประมูลข้าวได้ในราคาที่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท ทั้งที่ข้าวในคลังบางแห่งสามารถขายในราคาที่สูงกว่า 10 บาท ทำให้ประเทศได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก    

            ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพข้าวตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ ต้องตรวจข้าวให้ได้ปริมาณตัวอย่าง อย่างน้อย 5 % ของข้าว 1 กอง เช่นข้าวสาร 1 กองมีจำนวน 20,000 กระสอบ การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ต้องฉ่ำข้าวอย่างน้อย 1,000 กระสอบ แต่ในทางปฏิบัติของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดย ม.ล.ปนัดดา ฉ่ำข้าวแต่ละกอง ไม่ถึง 200 กระสอบ อีกทั้งยังไม่ทั่วทั้งกองข้าว แต่กลับบอกว่าข้าวที่ตรวจสอบเป็นคุณภาพต่ำ ที่แบ่งเกรดเป็น เอ บี และซี ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ตั้งขึ้นเองโดยไม่เคยมีมาก่อน    

            ส่วนปัญหาเรื่องการทุจริตข้าวถุง ที่เป็นข้อกล่าวหาว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้มีการทุจริตเมื่อปี 2556 นั้น โดยข้อเท็จจริงแล้ว ในเวลานั้นการจัดทำข้าวถุงเป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการทำข้าวถุง เพื่อจำหน่ายในราคาถูกให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และไม่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรีเลย เป็นการปฏิบัติในระดับของกรมการค้าต่างประเทศ และองค์การคลังสินค้า (อคส.) แต่ อดีตนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิก และดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่เกิดเรื่อง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 และ อคส.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2556 ในปีเดียวกัน วุฒิสภาได้หยิบยกเรื่องนี้มาอภิปรายในสภาฯ ตอนนี้เรื่องอยู่ระหว่างการสอบสวน และดำเนินการของ ป.ป.ช
-------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ