หวั่นกระรอกกทม.นิสัยเสีย ผอ.สวนฯ ชี้ลูกไม้เยอะแล้ว งดให้อาหาร

เมื่อวันที่ 21 เมษายน นางอารมย์ วงษ์มหา ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ระยะหลังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบกระรอกมีปริมาณมากขึ้นเมื่อเทียบกับราว 5-6 ปีก่อน แต่กทม.ยังไม่ได้การสำรวจปริมาณกระรอก จึงไม่ทราบว่าขณะนี้มีจำนวนแน่ชัดเท่าไหร่ แต่ทราบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นแทบทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ อาจเพราะความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ นโยบายการเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียว รวมถึงแนวทางการรักษาต้นไม้และสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในพื้นที่ของสวนสาธารณะของกทม.จะเห็นได้ชัดเจน ปกติแล้วกระรอกจะดำรงชีวิต โดยอาศัยการเจริญเติบโตของธรรมชาติ

“ที่ผ่านมากทม.จึงไม่มีนโยบายในการให้อาหารกระรอก แต่ขณะนี้กลับพบประชาชนลักลอบนำอาหารมาให้กระรอกภายในสวนสาธารณะจำนวนมาก เพราะความน่ารักน่าชัง ดูแล้วเพลิดเพลิน ซึ่งการนำอาหารมาให้สัตว์ไม่ได้มีความผิดตามกฎหมาย แต่กทม.ไม่ได้นิ่งเฉย ได้จัดเจ้าหน้าที่คอยสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่อง หากพบเห็นประชาชนให้อาหารสัตว์เกินความจำเป็น จะเข้าไปตักเตือนพฤติกรรมทันที ซึ่งล่าสุดยังพบประชาชนแอบนำบ้านขนาดเล็กมาแขวนที่ต้นไม้เพื่อให้กระรอกอยู่อาศัย ส่วนนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปแจ้งประชาชนไม่ให้กระทำดังกล่าวเด็ดขาด เพราะ 1.จะทำให้กระรอกมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป หาอาหารเองไม่เป็น และจะรอคอยอาหารจากคนอย่างเดียว ซึ่งปกติแล้วภายในสวนสาธารณะหรือต้นไม้นั้น มีอาหารของกระรอกอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว และ 2.การให้อาหารกระรอก จะทำให้ประชาชนสัมผัสกับสัตว์อย่างใกล้ชิด โดยที่ไม่ทราบว่าสัตว์ตัวนั้นมีพาหะนำโรคหรือไม่ โดยกทม.จะหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อจัดทำป้ายห้ามให้อาหารกระรอก เช่นเดียวกับการติดป้ายห้ามให้อาหารนกในบางพื้นที่” นางอารมย์ กล่าว

นางอารมย์ กล่าวอีกว่า ปริมาณเพิ่มขึ้นของกระรอกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยกระรอกจะช่วยสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศน์ ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะเดียวกัน หากมีจำนวนเยอะเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อพืชพันธุ์ธรรมชาติ เพราะกระรอกจะกัดกินกิ่งไม้ ตัดท่อน้ำเลี้ยงของต้นไม้ ทำให้กิ่งไม้เกิดแห้งตาย ปัจจุบันสวนสาธารณะที่พบจำนวนกระรอกมากที่สุด ได้แก่ บริเวณอุทยานสวนจตุจักร ประกอบด้วย สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์และสวนจตุจักร ขณะนี้ พืชพันธุ์หรือพืชผลที่กทม.เพาะไว้ในสวนพฤกษศาสตร์ บางส่วนได้รับความเสียหายจากการกัดกินของกระรอกบ้างแล้ว กทม.จึงใช้วิธีนำถุงพลาสติกมาห่อหุ้มเพื่อป้องกันการกัดกิน อาทิ กล้วย มะพร้าว เป็นต้น เพราะไม่มีนโยบายทำลายหรือกำจัด ทว่าในอนาคตหากกระรอกมีปริมาณเยอะเกินไป กทม.จะประสานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช ให้เข้ามาสำรวจปริมาณความหนาแน่น เพื่อให้เข้ามาจับและนำไปปล่อยในพื้นที่ป่าเช่นเดียวกับกรณีตัวเงินตัวทองที่สวนลุมพินี เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นพบเห็นประชาชนนำเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือทำการจับกระรอกตามสวนสาธารณะต่างๆ บ้างหรือไม่ นางอารมย์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าพบเห็นประชาชนมีพฤติกรรมดังกล่าว แต่หากพบเห็นกทม.จะรีบเข้าตักเตือนทันที ส่วนสาเหตุของกระรอกที่ตายส่วนใหญ่จะมาจากศัตรูสัตว์ จำพวกนกหรืออีกามากกว่า

Advertisement

นายสัตวแพทย์(นสพ.)ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัจจุบันบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหลังเล็กหลังใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้มากขึ้น ทำให้กระรอกกระจายจำนวนประชากรมากขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันพบไม่มีการล่า รังแก เหมือนในอดีต โดยปกติแล้ว กระรอกมีอิสระ วิ่งไปวิ่งมาอย่างไม่มีขอบเขต เพราะต้นไม้มีลักษณะเป็นกิ่งต่อกิ่งและใบต่อใบ พบในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ตลอดจนอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งลูกไม้จากธรรมชาติ และอาหารที่คนแบ่งปันให้กับกระรอก อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของกระรอกในขณะนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์แต่อย่างใด กลับเป็นตัวชี้วัดที่ดีว่ากทม.มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นกว่าอดีต ส่วนบ้านใดอยากเห็นกระรอกวิ่งไปมาแบบอิสระ แนะนำให้ปลูกต้นไม้เยอะๆ กระรอกก็จะมาอาศัยอยู่ตามต้นไม้เอง

ผู้สื่อข่าวถามว่ากระรอกจะมาพร้อมงูหรือไม่ นสพ.ภัทรพล กล่าวว่า งูไม่ใช่ศัตรูของกระรอก เพราะกระรอกเป็นสัตว์ที่มีความรวดเร็ว กลุ่มเดียวกับพังพอน งูจึงกินกระรอกได้ยาก ดังนั้น งูจะไม่ตามกระรอกมา ประชาชนจึงไม่ต้องกลัวว่ากระรอกเยอะแล้วจำนวนงูจะเยอะตามมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image