ThaiPublica > คอลัมน์ > ดราม่า เรื่อง PM2.5 ตอน 2 : มาตรฐานที่ต่างกัน

ดราม่า เรื่อง PM2.5 ตอน 2 : มาตรฐานที่ต่างกัน

1 พฤษภาคม 2018


รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริมา ปัญญาเมธีกุล
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างที่เกริ่นไว้ในตอน 1 ว่า “แม้จะเขียนจั่วหัวเรื่องว่าเป็นเรื่องดราม่า อันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครที่เลวมากในช่วงปลายมกราคมต่อต้นกุมภาพันธ์เมื่อต้นปี 2561 โดยดูหรือวัดเอาจากค่าสารมลพิษอากาศหรือ PM2.5 แต่เมื่อเวลาผ่านไปสภาพลมฟ้าดีขึ้น ลมร้อนเริ่มมาและพัดแรงขึ้น มลพิษทั้งหลายซึ่งจริงๆไม่ได้มีแค่เพียง PM2.5 ก็ถูกพัดพาให้กระจายออกไป ปัญหามลพิษอากาศจึงน้อยลง และดราม่าเรื่องนี้ก็คล้ายๆกับเรื่องอื่นๆ คือจางหายไปกับสายลม แต่ในกรณีนี้มันหายไปกับสายลมจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่การเปรียบเปรย” แต่เรื่องนี้มันสำคัญต่อสุขภาพของเรามากกว่าที่จะทำตัวไม่รู้ไม่ชี้และปล่อยไปตามยถากรรม ตลอดจนต้องถือเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องเรียนรู้ในหลายๆสิ่ง โดยเฉพาะสิ่งที่เข้าใจไปผิดๆ เพื่อลดปัญหาและขจัดดราม่าอันไม่พึงประสงค์ ดังนี้

เรื่องแรก : เรื่องนี้ว่าด้วยความรุนแรงของความเป็นพิษของสสาร สสารใดที่แสดงพิษได้อย่างเฉียบพลันทันที เช่น ก๊าซโอโซน ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศก็ต้องเป็นแบบบังคับให้เป็นเช่นนั้นได้ตลอดเวลา นั่นหมายถึง เราจะต้องกำหนดมาตรฐานเป็นรายเวลาในช่วงสั้นๆ เช่น เป็นรายชั่วโมง และในทุกชั่วโมงหนึ่งๆคุณภาพอากาศควรต้องได้รับการจัดการให้ได้ตามมาตรฐานนั้นตลอดเวลา ถ้าทำได้เช่นว่านี้ชาวบ้านประชาชนคนเดินถนนก็จะปลอดภัย แต่ถ้าเป็นสสารอื่นที่มีพิษเหมือนกัน แต่ไม่แสดงผลหรือผลกระทบอย่างปัจจุบันทันด่วน หากต้องสะสมไว้ในร่างกายนานๆ เป็นปีหรือหลายปี จึงจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพหรือแสดงอาการป่วยอย่างเรื้อรัง แบบนี้มาตรฐานเขาก็จะกำหนดเป็นตัวเลขในระยะเวลายาวๆ ได้แก่ 1) เฉลี่ยรายวัน เช่นมาตรฐานสำหรับฝุ่นละออง หรือ 2) เฉลี่ยรายปี เช่น มาตรฐานของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds, VOCs) ส่วนผลกระทบของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่เรากำลังพูดถึงนี้เป็นแบบกึ่งๆ คือ มีผลกระทบได้ทั้งสองแบบ (ดูรูปที่ 1)

รูปที่ 1 ผลกระทบจากการสัมผัสฝุ่นจิ๋ว PM2.5
ที่มา: ขจรศักดิ์ แก้วขจร. “การพิทักษ์สุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 :ความร่วมมือของเครือข่าย.”, 23 มีนาคม 2561.

เรื่องที่ 2 : มาตรฐานของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 มีอยู่ 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ 1) มาตรฐานเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นค่าบ่งชี้อันตรายในลักษณะกึ่งเฉียบพลัน คือโดนปั๊บอันตรายปุ๊บ และกึ่งเรื้อรัง คือต้องได้รับไปนานๆจึงจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพ กับ 2) มาตรฐานเฉลี่ยรายปี ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้อันตรายในลักษณะที่ต้องได้รับสารติดต่อกันเป็นเวลานานๆหลายสิบปีจนเกิดเป็นโรคเรื้อรัง มาตรฐานของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ของแต่ละประเทศแม้จะเป็นของสารมลพิษตัวเดียวกันกลับมีค่าแตกต่างกันมาก (ดูตารางที่ 1) เช่นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของไทยคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ของสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียอยู่ที่ 35 และ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ในขณะที่ของอังกฤษกลับไม่ได้กำหนดค่านี้ไว้เลย ในทางตรงข้ามส่วนของอินเดียและบราซิลกำหนดค่าไว้สูงมาก คือ 60 และ 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ

หมายเหตุ : โปรดสังเกตว่าไม่มีมาตรฐานรายชั่วโมง ซึ่งแสดงว่าผลกระทบของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ไม่ได้เป็นแบบปัจจุบันทันด่วน

คำถามคือทำไมถึงมีค่าแตกต่างกันได้มากเช่นนี้ เป็นเพราะปอดคนอินเดียซึ่งใช้มาตรฐานอะลุ้มอะล่วยมาก (60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)แข็งแรงและทนสารมลพิษได้มากกว่าปอดคนไทย(50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)หรือ? และปอดคนไทยทนสารมลพิษได้ดีกว่าของคนอเมริกา(35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)หรือออสเตรเลีย(25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)หรือ? หรือเป็นเพราะว่าสิทธิมนุษยชนของคนอเมริกาและคนออสเตรเลียมีมากกว่าของคนไทยและคนอินเดีย

ถ้าเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ว่าเช่นนั้นจริง แล้วเราจะยอมได้อย่างไร เพราะไม่ว่าจะเป็นคนอเมริกัน คนไทย คนอินเดีย ต่างก็เกิดมาเท่ากัน มีสิทธิพื้นฐานเท่ากัน แล้วทำไมต่างรัฐบาลจึงดูแลต่างกัน นี่ก็เป็นประเด็นที่มีคนเอาเรื่องนี้มากระทุ้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ดราม่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เมื่อต้นปี2561

สิ่งที่ผู้เขียนคิดและเชื่อ คือ บริบทของแต่ละประเทศมันแตกต่างกัน สภาพเศรษฐกิจสังคมมันก็ต่างกัน ความพร้อมทางเทคโนโลยีและการเงินรวมทั้งลักษณะนิสัยของคนในประเทศนั้นๆมันก็ต่างกันอีก จึงทำให้แต่ละประเทศกำหนดมาตรฐานขึ้นมาที่ค่าแตกต่างกัน จะว่าประเทศใดผิด ประเทศใดถูก ก็คงจะสรุปหรือมโนกันไม่ได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษที่มีทุกอย่างเพียบพร้อมกว่าไทยยังไม่มีแม้กระทั่งมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในขณะที่ไทยมีแล้ว จะว่าไทยล้ำหน้ากว่าอังกฤษก็คงไม่ใช่ เพราะแม้นมาตรฐานฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ของเราเข้มงวดกว่าเขาแต่คุณภาพอากาศของเราก็เลวกว่าค่ามาตรฐานกันมาทุกปีๆ

เรื่องของเรื่อง คือ เราเชื่อว่ามันยังไม่มีวิธีคิดวิเคราะห์ที่เป็นมาตรฐานของโลก ความรู้ทางวิชาการยังมีไม่พอหรือยังลึกไม่พอที่ใครจะมาอ้างได้ว่าต้องเป็นวิธีนี้วิธีนั้นเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ต่างคนต่างประเทศจึงพากันคิดกันคนละอย่างเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของบ้านตัวเอง การที่จะเอาแค่เพียงตัวเลขมาเล่น มาวิจารณ์ มาดราม่า มันก็ทำให้สังคมสับสน และไม่เป็นผลดีต่อประเทศโดยรวมได้

เรื่องที่ 3 : เป็นเรื่องของความเข้าใจผิดในการเอาตัวเลขไปใช้ เรื่องนี้ชาวบ้านบางคนเอาตัวเลข PM2.5 ไปใช้อย่างผิดๆ แบบไม่เข้าใจในหลักการการกำหนดมาตรฐาน (ดูเรื่องแรก) โดยเอาค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง(ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นพิษเฉียบพลัน)ที่วัดได้ ซึ่งมีโอกาสได้ค่าทั้งสูงทั้งต่ำในเวลาต่างกัน เช่นกลางวันและกลางคืน หรือช่วงมีรถวิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนกับไม่มีรถวิ่ง ไปเทียบกับมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง(หรือเฉลี่ยรายวัน ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นพิษชนิดไม่เฉียบพลัน) โอกาสที่จะมีค่าที่ตรวจวัดได้(ในหนึ่งชั่วโมง)เกินมาตรฐาน(24 ชั่วโมง)ก็มีได้มาก แต่การเอาไปเปรียบเทียบกันเช่นที่ว่านั้นเป็นการดราม่าที่สรุปผิดในทางหลักคิดทางวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิง เพราะมันเป็นคนละเรื่อง จะเห็นได้ว่า “เรา” ซึ่งหมายถึงทั่วโลกด้วย ไม่มีมาตรฐานฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เป็นรายชั่วโมง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เราก็ยังมีการวัดค่าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 นี้เป็นรายชั่วโมงด้วยอยู่ดี ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะเราจะใช้ค่าที่วัดได้เฉพาะชั่วโมงนั้นๆนี้ ไปเฝ้าระวังเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือทางเดินหายใจ เป็นต้น แต่ห้ามเอาค่าที่วัดได้รายชั่วโมงนี้ไปเทียบกับมาตรฐานราย 24 ชั่วโมง เพราะนั่นมันคนละเรื่อง ชนิดห่างไกลกันคนละโยชน์