หนี้ (10 ล้าน) ครัวเรือน สะเทือนทั้งแผ่นดิน / มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
มุกดา สุวรรณชาติ

หนี้ (10 ล้าน) ครัวเรือน
สะเทือนทั้งแผ่นดิน

เฉพาะหนี้ในระบบ 13.47 ล้านล้าน
ก่อนมีโควิด-19

ตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนี้ครัวเรือน หมายถึง เงินให้กู้ยืมที่สถาบันการเงินให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ ซึ่งบุคคลธรรมดาอาจนำเงินที่กู้ยืมไปใช้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ หรือเพื่อประกอบธุรกิจ
ดังนั้น หนี้ครัวเรือนในที่นี้จึงไม่รวมหนี้นอกระบบ
แต่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็สำรวจและสรุปออกมาแล้วว่า ปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่าครอบครัวคนไทยเป็นหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยครอบครัวละประมาณ 340,000 บาท เป็นหนี้ในระบบประมาณ 60% หนี้นอกระบบประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์
ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ครอบครัวส่วนใหญ่ได้นำเงินที่คาดว่าจะหาได้ในอนาคตออกมาใช้ จึงเกิดสภาพหนี้สิน ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าการสร้างหนี้สินเหมาะสมกับรายได้ที่หามาได้จะทำให้สภาพชีวิตและสถานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับคนที่ได้ทุนมาทำกำไรเพิ่มก็จะสะสมฐานะให้ดีขึ้นได้ แต่ในทางกลับกันถ้ายืมเงินมาใช้แล้วไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มพูน ก็จะกลายเป็นหนี้สินสะสม
มาดูสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันประมาณ 5-6 ปีหลังนี้สภาพเศรษฐกิจทรุดลงและเมื่อเกิดโรคระบาด covid-19 ขึ้น รายได้ของคนจำนวนมากก็ได้หดหายไป บางคนถึงขั้นเรียกว่าไม่มีจะกิน
ตามข้อมูลที่แบงก์ชาติเปิดเผยออกมาเมื่อสิ้นปี 2562 ระบุว่า คนไทยมีหนี้ครัวเรือนประมาณ 13.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 79.8% ของ GDP
เมื่อเกิดโควิด-19 พบว่าลูกหนี้รายย่อยที่ขอรับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินโดยเฉพาะมาตรการระยะแรกที่มีการพักชำระหนี้ และลดภาระผ่อนต่อเดือน ที่เข้าโครงการระยะแรกมีถึง 11.5 ล้านบัญชี (33% ของบัญชีลูกหนี้รายย่อยทั้งหมด) คิดเป็นภาระหนี้ประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท

ลักษณะของหนี้ครัวเรือน

ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามอาชีพ เช่น ข้าราชการหรือลูกจ้างเอกชนก็จะมีหนี้จากการซื้อบ้าน ซื้อรถและบัตรเครดิต
SME ขนาดเล็ก ก็จะกู้มาลงทุนบ้าง ซื้อรถ เกษตรกรกู้มาลงทุน ซื้อรถเพื่อใช้งาน
ส่วนลูกจ้างระดับล่างเป็นหนี้บัตรเครดิตที่กู้มาเนื่องจากใช้จ่ายไม่พอ ซื้อรถมอเตอร์ไซค์บ้าง และที่ต้องกู้มาใช้หนี้เก่า ซึ่งถ้านับในประเทศเอเชียแล้วไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอันดับ 2 เป็นรองเพียงแค่เกาหลีใต้เท่านั้น
ครัวเรือนไทยที่เป็นหนี้ (ในระบบ) มีประมาณ 10 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 45.2% ครัวเรือนทั้งหมด มีหนี้สินเฉลี่ย 164,055 บาทต่อครัวเรือน (ไม่นับหนี้นอกระบบ)
เมื่อเปรียบเทียบรายภาค ครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้สูงสุด (8.8 เท่า)
และเมื่อเปรียบเทียบรายอาชีพ ครัวเรือน ผู้ถือครองทำการเกษตร เช่าที่ดิน/ทำฟรี มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงสุด (11.2 เท่า)
ในผลศึกษาพบอีกว่า หนี้สินครัวเรือนส่วนใหญ่ 82.1% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจคิดเป็น 17.9% ของหนี้สินครัวเรือนทั้งหมด โดยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนมากที่สุด 41.4% รองลงมาคือสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค และสินเชื่อยานยนต์ หากเทียบย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนถูกขับเคลื่อนโดยเพื่ออุปโภคบริโภค และหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย เป็นหลัก ไม่ใช่หนี้เพื่อทำธุรกิจ
DSR (Debt Service Ratio) โดยเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 27.0% แต่ครัวเรือนในกลุ่มรายได้น้อย หรือมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน กลับมี DSR อยู่ในระดับสูง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ของครัวเรือนทั้งประเทศหลายเท่า ครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน มี DSR ที่สูงถึง 84% ขณะที่ครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อเดือน มี DSR ประมาณ 40%
โดยภาพดังกล่าวสะท้อนสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัวและมีความอ่อนไหวต่อปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19

ปี 2563 เกิดโควิด หนี้ยิ่งเพิ่ม

ข้อมูลของ ธปท.ที่เผยแพร่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่าหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2563 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทยยังคงขยับขึ้นสวนทางเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของโควิด-19 ซึ่งส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 18 ปี ที่ 83.8% ต่อจีดีพี 13.6 ล้านล้านบาท
ไตรมาส 3/2563 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปีครั้งใหม่ที่ 86.6% ต่อจีดีพี
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยจะขยับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 90% ต่อจีดีพีในช่วงสิ้นปี 2563
ตัวเลขข้อมูลช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มขึ้น ล่าสุด ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 มีลูกค้าได้รับความช่วยเหลือ 5.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 11 ล้านบัญชี
ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อยของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) จำนวน 3.22 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10 ล้านราย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ปี 2564 ว่า จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือ “หนี้ครัวเรือน” ล่าสุดในไตรมาส 3/2563 จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่า
หนี้ครัวเรือนของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง และมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนทางสัญญาณอ่อนแอของภาวะเศรษฐกิจ
ครัวเรือนทั้งประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนลดลงในอัตราที่มากกว่าการลดลงของค่าใช้จ่ายต่อเดือน สวนทางกับภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง

หนี้ปี 2564 จะสูงขึ้นอีก

แนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2564 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่หนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นมาที่ 91.0% ต่อจีดีพี หรืออาจสูงกว่านั้น หากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าที่ประเมิน
และส่งผลทำให้จีดีพีในปี 2564 เติบโตน้อยกว่ากรณีพื้นฐานที่ 2.6%
ทั้งนี้ ภาพหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูงต่อเนื่องดังกล่าว เป็นหนึ่งในเครื่องชี้ที่ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย
และความเปราะบางของฐานะทางการเงินในภาคครัวเรือนที่เป็นโจทย์รอการแก้ไข ต่อเนื่องจากการควบคุมการระบาดของโควิดและการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะที่โจทย์เฉพาะหน้าที่สำคัญกว่าคือ การเตรียมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับลูกหนี้ทั้งธุรกิจและครัวเรือนให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้

จะเกิดอะไรขึ้นกับลูกหนี้
ระยะ 1-3 ปี ข้างหน้า

จากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาหลายปี และถูกโรคระบาดโควิชกระหน่ำซ้ำ ทำให้จำนวนตัวเลขของหนี้สินสูงขึ้นมาก เมื่อบัตรคนจนสะท้อนภาพว่ามีคนจนเพิ่มมากขึ้น และจำนวนผู้ที่ขอเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้หรือผ่อนผันหนี้ก็เป็นตัวสะท้อนถึงความยากลำบากของประชาชนว่าไปไม่ไหวแล้ว
ตัวเลข GDP ได้สะท้อนถึงกำลังการผลิตและการบริการ การทำงานของคนทั้งประเทศที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เงินสดที่ไหลเข้ามาจากต่างประเทศ ได้หายไปเกือบทั้งหมด แม้รัฐบาลจะอัดเงินแจกแต่ก็เป็น จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับที่เคยได้
ดังนั้น เงินที่ได้รับมาก็จะเพียงแค่พอใช้ประทังชีวิตไม่มีใครสามารถนำเอามาจ่ายหนี้ได้ หนี้ระดับหลักหมื่นหลักแสน
ซึ่งมีคนติดหนี้แบบนี้จำนวนมากไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะนำมาคืนเจ้าหนี้ใน 1-2 ปีนี้ ถ้าไม่มีมาตรการอะไรพิเศษเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้
ประเมินได้ว่าลูกหนี้นับ 10 ล้านบัญชี จะต้องถูกฟ้อง และเมื่อไม่มีเงินจ่ายก็จะถูกยึดทรัพย์สิน หรือขอหักเงินเดือนไปใช้หนี้ถ้ามีมากพอ
สภาพรูปธรรมที่พบเห็น เช่น คนขับรถแท็กซี่ที่มีรถเองผ่อนไปได้ครึ่งหนึ่ง ยังเหลืออีก 25 งวดแต่ไม่มีเงินแล้วเพราะในแต่ละวันหาเงินได้เพียงเล็กน้อย ถ้าไม่มีใครช่วยพวกเขาจะถูกยึดรถ พวกที่ผ่อนรถตู้ก็อยู่ในสภาพแบบนี้เช่นกัน คนที่ทำร้านอาหารหรือสถานบริการต่างๆ ก็ปิดตัวลงแล้ว แต่หนี้สินที่ยืมมาลงทุน ยังคงอยู่และดอกเบี้ยก็เดินไปทุกวัน คนที่ผ่อนบ้านอยู่แต่รายได้หายไป
ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายแบบไม่ผ่อนปรน จะมีคนเป็น 10 ล้านถูกฟ้อง ถูกยึดทรัพย์ คนที่มีหนี้สินค้างไม่ถึง 1 ล้าน แม้ไม่ถูกฟ้องล้มละลายแต่ก็จะถูกแขวนหนี้ได้ยาวนานถึง 10 ปี จะทำอะไรก็ไม่สะดวก
ที่พูดมานี้เป็นเพียงหนี้ในระบบเท่านั้น ไม่ต้องพูดถึงพวกที่กู้หนี้ยืมสินมาจากเงินนอกระบบไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง แต่ในวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้พวกเขาก็มีแต่ชีวิตที่จะให้

หนี้…ทำลายความหวังและชีวิต
วิกฤตหนี้จะลามสู่การเมือง

สภาพของชาวบ้านวันนี้
“รายได้ทุกวันนี้ไม่พอกินแล้ว คนที่จนกว่าผมก็ไม่รู้จะอยู่กันยังไง ต่อไปโจรผู้ร้ายคงเยอะขึ้น พูดไปแล้วก็อาย…ขับรถไปนอกจากมองหาผู้โดยสารข้างทาง ถ้าเห็นมีแจกของกิน ก็ต้องลงไปต่อคิวเพื่อจะได้ขอเขาเอาไปให้ที่บ้านกินด้วย”
ความพยายามในการยึดอำนาจ เพื่อมาบริหารของกลุ่มคนดี ได้สำแดงผลมาหลายปีแล้ว
และวันนี้ก็ส่งผลกระทบไปให้ทุกคน ไม่ต้องพาม็อบมาปิดสนามบิน ก็ไม่มีคนบิน ตุลาการภิวัฒน์ รัฐประหาร ชิงอำนาจไป แต่ไม่รู้จะบริหารปกครองอย่างไร เมื่อไร้ความสามารถ ก็จะพากันเจ๊งหมด ลองคิดดูว่าถ้ามีคนถูกฟ้องยึดทรัพย์ 10 ล้านราย อะไรจะเกิดขึ้น
ม็อบในปี 2564 คงจะไม่ใช่มีเพียงแค่เยาวชนอีกแล้ว แม้มีความตั้งใจจะตัดไฟแต่หัวลม
แต่เมื่อต้นเหตุของปัญหายังอยู่ คงไม่มีใครยอมใคร ที่นั่งกินเงินเดือนกันเป็นแสนๆ มีโครงการหมื่นล้านแสนล้านมาจากภาษีประชาชนทั้งนั้น ใครเขาจะยอมลำบากแล้วนั่งมองเฉยๆ
โควิดไม่ใช่ตัวช่วย แต่เป็นตัวเร่งสถานการณ์ต่างหาก