สวัสดิการทหาร : เหล่าทัพอื่นไม่ต้องเซ็นเอ็มโอยูกับธนารักษ์ แค่ทบทวนมี “รายการตกหล่น” หรือไม่

ผบ.เหล่าทัพ

ที่มาของภาพ, wasawat lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ผบ.เหล่าทัพ

การประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ (ผบ.เหล่าทัพ) มีวาระสำคัญคือการจัดสวัสดิการทหาร โดยจะทบทวนว่าโครงการสวัสดิการในเชิงธุรกิจของเหล่าทัพต่าง ๆ นำเงินส่งกรมธนารักษ์ครบถ้วนหรือไม่

พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ยืนยันว่า การจัดสวัสดิการทหารทั้งหมด เหล่าทัพได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 และประกาศคณะกรรมการสวัสดิการข้าราชการ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจ พ.ศ. 2548 ไม่ได้ปฏิบัตินอกกรอบหรือไม่มีหลักเกณฑ์ เพียงแต่เป็นที่สนใจว่ามีบางกิจการที่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งที่ผ่านมาทุกเหล่าทัพได้นำเงินค่าเช่าหรือเงินรายได้ส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินอยู่แล้ว

"เหล่าทัพจะติดต่อโดยตรงกับกรมธนารักษ์เมื่อมีกิจการใดที่ก่อให้เกิดรายได้เพื่อขออนุญาตนำส่ง และขอให้กรมธนารักษ์กำหนดหลักเกณฑ์ว่าต้องส่งเท่าไร" ผบ.ทสส. กล่าว

ส่วนที่กองทัพบก (ทบ.) ลงนามในบันทึกความตกลง (เอ็มโอยู) กับกรมธนารักษ์ ในโครงการสวัสดิการในเชิงธุรกิจของ ทบ. นั้น พล.อ.พรพิพัฒน์ชี้แจงว่า เป็นเพราะ ทบ. มีกิจการสวัสดิการจำนวนมาก ขณะที่เหล่าทัพอื่นไม่จำเป็นต้องทำเอ็มโอยู เพราะได้ติดต่อโดยตรงกับกรมธนารักษ์อยู่แล้ว แต่จะมีการทบทวนให้ครบถ้วนว่ามีรายการตกหล่นหรือไม่

ก่อนหน้านี้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ออกมายอมรับว่า มูลเหตุจูงใจของ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ในการก่อเหตุกราดยิงโคราช จนมีผู้เสียชีวิต 30 ราย เกิดจากการ "ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาและเครือญาติ" จากปมซื้อขายที่ดินผิดสัญญากันในเรื่องผลตอบแทน

บ้าน จ.ส.อ.จักรพันธ์

ที่มาของภาพ, Kultida Samabuddhi/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, บ้าน จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา

ก่อนการประชุม ผบ.เหล่าทัพจะเริ่มต้นขึ้นที่กองบัญชาการกองทัพเรือ (บก.ทร.) วังเดิม ผบ.ทสส. ได้นำทีม ผบ.เหล่าทัพ ร่วมยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยต่อผู้สูญเสียในเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา เป็นเวลา 1 นาที

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ผบ.เหล่าทัพ ประกอบด้วย พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.พรพิพัฒน์, พล.อ.อภิรัชต์, พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

ผบ.ทสส. เผยนายทหารชั้นผู้น้อยปักหลักพัก "บ้านหลวง" มากกว่านายพล

อีกกรณีหนึ่งที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางคือการไม่ยอม "คืนบ้านหลวง" ของบรรดา "นายพล" ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ในจำนวนนี้มี พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านพักทหารของศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย มีคำยืนยันจาก พล.อ.พรพิพัฒน์ว่า ตามหลักการทั่วไป เมื่อเกษียณอายุราชการก็ต้องส่งบ้านพักหลวงส่งคืน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีกำลังพลไม่มีความพร้อมและลำบากจึงยืดหยุ่นให้เฉพาะบางราย ซึ่งบ้านพักราชการไม่ได้อยู่เฉพาะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นนายทหารชั้นผู้น้อยที่ยังไม่พร้อมย้ายออก เช่น นายสิบ จ่า ทหารชั้นประทวน ลูกจ้างราชการที่หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต และไม่สามารถขยับขยายได้ ก็ผ่อนผันยืดหยุ่น ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไม พล.ท.พงศกรจึงขอผ่อนผันอยู่เป็นเวลาหลายปี พล.อ.พรพิพัฒน์ กล่าวว่า ก็ในที่สุด พล.ท.พงศกรก็จะไปแล้ว ขอให้ผ่านประเด็นนี้ไป

"การอยู่บ้านพักหลวงถือเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่ง และเป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาแม้จะอยู่ในราชการหรือเกษียณไปแล้ว หากไม่สุดวิสัยจริง ๆ หรือมีความจำเป็น มีความต้องการ เราก็พร้อมยืดหยุ่นให้เพื่อให้เขาประสบความลำบากและกระทบกระเทือนน้อยที่สุด ประเทศไทยเราอยู่ด้วยความเมตตาธรรม" พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าว

ผบ.ทบ. เซ็นย้าย "นายพัน" ต่อหน้าศาลพระเจ้าตาก

ด้าน พล.อ.อภิรัชต์เปิดเผยว่า กำลังลงนามในคำสั่งปรับย้ายนายทหารระดับ "พันเอก" และเซ็นย้ายจริง ไม่ได้พูดเล่น เพราะเซ็นต่อหน้าศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ใครทำอะไรไว้ ต้องได้รับผล ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีความศักดิ์สิทธิ์ โดยเป็นเรื่องเกี่ยวข้องในหลายส่วนที่กำลังพลร้องเรียนมา โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 หลังเกิดเหตุรุนแรง

อย่างไรก็ตามในส่วน พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 พล.อ.อภิรัชต์บอกว่า ต้องให้ความเป็นธรรมเป็นกรณีไป ไม่ใช่เลือดเข้าตา ก็จะสั่งย้ายหมด และย้ำว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีความตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ข้าม YouTube โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์

ผบ.ทบ. ยังพูดถึงแนวคิดตั้งศูนย์ให้นายทหารระดับล่างที่ถูกนายเอาเปรียบส่งเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์โดยตรงไปที่ตัวเขา โดยบอกว่าจะให้เอกชนมาดำเนินการเพื่อไม่ให้ความลับรั่วไหล ส่วนการพิจารณาว่าเรื่องใดเป็นเรื่องจริงหรือการใส่ร้ายกันนั้น ในฐานะผู้บังคับบัญชาฟังดูก็รู้แล้วว่าอะไรเท็จอะไรจริง พร้อมมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงรายละเอียดในวันที่ 19 ก.พ.

ส่วนที่มีนักกฎหมายแนะนำเครือญาติผู้เสียหายให้ฟ้องร้องกองทัพ และ ผบ.ทบ. นั้น พล.อ.อภิรัชต์กล่าวว่า การก่อเหตุเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่คำสั่งกองทัพ หากทหารมีเรื่องกับทหาร ต้องขึ้นศาลทหาร แต่ถ้าทหารมีเรื่องกับพลเรือน ต้องขึ้นศาลพลเรือน ต้องแยกให้ออก