ดร.นฤมล โฆษกประจำสำนักนายกฯ เจ๋งจริงหรือ
  AREA แถลง ฉบับที่ 381/2563: วันพุธที่ 01 กรกฎาคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            ดร.นฤมล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุยถึงประสบการณ์อันดีงามของตนเอง  ดร.โสภณ พรโชคชัย ขอมองต่างมุมให้เห็นระบบการสร้างคนในวงราชการที่ผลิตคนมารับใช้สังคมหรือไม่

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวถึงข่าว “นฤมล” โปรไฟล์หรูเริ่ด-ผลงานมากมาย วัดใจลุงตู่ รมต.เศรษฐกิจ “แล้วแต่นายกฯ” **“ฌอน” เป็นใคร “นฤมล” ไม่รู้จัก! โซเชียลฯ วอนโฆษกรัฐหาความจริง ค่าจ้าง 3 แสนกับผลงานเอาใจลุง **งบโควิด 4 แสนล้าน ทำเอา กมธ.ในฝั่งรัฐบาลแตกหักกันเอง” <1>

            ในข่าวนี้ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ “เล่าประสบการณ์ทำงานเป็นฉากๆ ว่า เป็นอาจารย์สอนด้านการเงิน นอกจากสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ถ้าสายงานวิชาการก็ทำจนเป็น “ศาสตราจารย์” นอกเหนือจากงานวิชาการ งานวิจัย ก็เป็นที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์มา 10 กว่าปี ในฝั่งตลาดทุน เป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคารหลายแห่ง ในฝั่งตลาดเงิน และช่วยภาคเอกชน ธุรกิจในส่วนที่เป็นกรรมการ เป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้ามาช่วยงานที่กระทรวงการคลัง”

            กรณีนี้เป็นกรณีศึกษาให้เห็นถึงการ “ไต่เต้า” ของอาจารย์บางส่วนในมหาวิทยาลัย ที่มุ่ง “ไต่เต้า.” มากกว่าที่จะรับใช้ประชาชนด้วยการสอนหนังสือ แต่ใช้การสอนหนังสือเป็นเครื่องมือ “ไต่เต้า” หรือไม่  ดร.โสภณให้ข้อสังเกตว่า:

            1. การจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกาจนถึงระดับปริญญาเอก นับว่าเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ  อย่างไรก็ตามการอยู่ในประเทศเสรีประชาธิปไตย น่าจะทำให้ได้ซึมซับความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้หรือไม่ ควรยึดหยัดในหลักการ ไม่รับใช้รัฐบาลที่ไม่ได้มาอย่างโปร่งใสหรือไม่

            2. การได้เข้าเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ก็เป็นใบเบิกทางที่ดีในการไต่เต้า เพราะมีลูกศิษย์มาจากสถาบันการเงินหรือหน่วยงานต่างๆ มาเรียนมากมาย และจึงไม่แปลกที่บุคคลเหล่านี้จะมาเชิญผู้เป็นอาจารย์ไปรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์ ตลาดทุน รวมทั้งภาคเอกชนที่ต้องการอาจารย์ไว้ “ประดับบารมี” หรือไม่

            3. งานวิจัยที่ทำนั้นก็เพื่อให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการตั้งแต่ ผ.ศ. ร.ศ. ศ. ใช้เงินงบประมาณในการดำเนินการในฐานะบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา งานวิจัย งานวิชาการเหล่านี้มีส่วนในการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อช่วยให้มีพัฒนาการที่ดีต่อสังคมมากน้อยเพียงใด

            4. อันที่จริงควรมีการโหวตตำแหน่งอาจารย์ดีเด่นที่สอนให้ความรู้แก่นักศึกษา เอาใจใส่นักศึกษาในฐานะที่ตนเองเป็นผู้บริการการศึกษาที่ดี  มากกว่าการ “ไต่เต้า” ทางวิชาการหรือไม่

            คนเราถ้า “เจ๋ง” จริง ต้องได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ เช่น UNESCAP UNCHS ILO World Bank ให้ไปทำโครงการต่างๆ หรือได้รับเชิญให้ไปเป็นที่ปรึกษาในต่างประเทศ หรือได้รับเชิญไปบรรยายในสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ รวมทั้งมีงานสำรวจวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสังคม รับใช้สังคมและประชาชน ไม่ใช่รับใช้เพียงระบบ “ทุนนิยมสามานย์”

            ดร.โสภณ ให้ความเห็นว่าระบบราชการที่ช่วยให้เกิดการไต่เต้าแบบนี้อาจได้ “คนดี” ไปรับใช้ระบบราชการมากกว่าจะได้ “คนดี” ไปรับใช้ประชาชน และอาจได้ “คนไม่ดี” ไปทำงานราชการโดยไม่เห็นหัวประชาชนเท่าที่ควรหรือไม่ เป็นสิ่งที่พึงสังวร

อ้างอิง
<1> ข่าว “นฤมล” โปรไฟล์หรูเริ่ด-ผลงานมากมาย วัดใจลุงตู่ รมต.เศรษฐกิจ “แล้วแต่นายกฯ” **“ฌอน” เป็นใคร “นฤมล” ไม่รู้จัก! โซเชียลฯ วอนโฆษกรัฐหาความจริง ค่าจ้าง 3 แสนกับผลงานเอาใจลุง **งบโควิด 4 แสนล้าน ทำเอา กมธ.ในฝั่งรัฐบาลแตกหักกันเอง” 30 มิถุนายน 2563 05:01   ปรับปรุง: 30 มิ.ย. 2563 11:36   โดย: ผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/politics/detail/9630000066934

อ่าน 2,098 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved