xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาการก้าวขึ้นมาของจีน (1)

เผยแพร่:   โดย: อดุลย์ รัตนมั่นเกษม

ปัจจุบัน ไม่ว่าคุณจะอยากหรือไม่อยากเห็น จีนก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศสำคัญยิ่งประเทศหนึ่งในโลก และมีนานาทรรศนะที่พูดถึงเรื่องการก้าวขึ้นมาของจีนทั้งในแง่บวกและแง่ลบ จูหรวนผิง นักวิชาการจากคณะประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีน มหาวิทยาลัยประชาชนปักกิ่ง ได้รวบรวมเอาความเห็นต่างๆ ในเรื่องนี้เขียนลงในวารสาร “ศึกษาทฤษฎีเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิง” ฉบับที่ 8 ว่า

นับแต่จีนเปิดประเทศปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นต้นมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายขึ้นกับจีนทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ และกลายเป็นที่สนใจของนานาชาติ โดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการชาวอเมริกัน ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1980 มาแล้วที่นักวิชาการชาวอเมริกันเริ่มสนใจศึกษาร่องรอยประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการก้าวขึ้นมาของจีน

อันที่จริง พวกฝรั่งไม่ใช่เพิ่งจะมาระแวงจีนกันในเวลานี้ เรื่องอย่างนี้มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 แล้ว บาคูนิน (ฺBakunin) ชาวรัสเซียผู้สร้างลัทธิอนาธิปไตย (Anarchism) เป็นคนแรกที่ออกมาป่าวร้องเรื่องภัยเหลืองในปี 1873 จากนั้นในปี 1893 นายเพียร์สัน นักล่าอาณานิคมชาวอังกฤษได้พูดย้ำเน้นถึงเรื่องเชื้อชาติผิวสี โดยเฉพาะคนจีนว่า “น่ากลัว”

และหลังสงครามจีนญี่ปุ่นในปี 1894 คำว่า “ภัยเหลือง” และทฤษฎีภัยเหลืองก็ถูกเยอรมนี อังกฤษ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา โหมกระพือไปอย่างกว้างขวาง สหรัฐฯ ถึงกับเกิดกระแสต่อต้านคนงานชาวจีน แม้กระทั่งในต้นศตวรรษที่ 20 นิตยสาร “ลุค” ของอเมริกันก็ลงบทสัมภาษณ์ ดร.ซุนยัตเซ็น โดยสื่อเป็นนัยว่า ซุนยัตเซ็นจะ “สร้างภัยเหลืองขึ้นอย่างแท้จริง”

พระเจ้านโปเลียนก็เคยพูดไว้ว่า “เมื่อใดที่จีนตื่นขึ้นมา จีนจะสั่นสะเทือนโลกทั้งใบ” แม้กระทั่งหลังญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 พลเอกอัลเบิร์ต ซี เวเดอไมร์ (Albert C. Wedeneyer) ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ประจำเขตสู้รบในจีน ก็เคยบอกกับเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำจีนว่า จีนที่เข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวกันจะเป็นภัยคุกคามต่อโลก และหลังจากที่จีนเปลี่ยนไปปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ ก็มองว่าจีนจะทำให้เกิดการล้มตามแบบตัวโดมิโนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนเลยกลายเป็นภัยคอมมิวนิสต์ หรือภัยสีแดงไป

จูหรวนผิงได้แยกประเด็นเกี่ยวกับการก้าวขึ้นมาของจีนไว้ 2 ประเด็น ประเด็นแรกการยอมรับ และประเด็นที่สอง ผลกระทบในระดับนานาชาติ

ในประเด็นการยอมรับความจริงที่ว่าจีนได้ก้าวขึ้นมาแล้ว จูหรวนผิงได้สรุปว่ามีด้วยกัน 3 ความเห็นดังต่อไปนี้

ความเห็นแรกมองว่าจีนได้ตื่นจากการหลับใหลแล้ว ยอมรับว่าจีนได้ก้าวขึ้นมาแล้วจริงๆ ซึ่งมีนักวิชาการตะวันตกมองเห็นว่าจีนอาจก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกกันมาตั้งแต่ก่อนสิ้นสุดสงครามเย็นด้วยซ้ำไป โอเวน คราวิส (Owen Kravis) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้เสนอไว้ในปี 1981 ว่าให้ใช้เรื่องกำลังซื้อมาวัดขนาดเศรษฐกิจของจีน ตามมาด้วยโรเบิร์ต ซอมเมอร์ส (Robert Sommers) และอลัน เฮสตั้น (Alan Heston) ได้คาดการณ์เรื่องจีดีพีของจีนว่า ในปี 1990 จีดีพีเฉลี่ยต่อคนของจีนจะอยู่ที่ 2,598 เหรียญสหรัฐฯ มากกว่าที่ธนาคารโลกประเมินไว้ที่ 370 เหรียญสหรัฐฯ ถึง 7 เท่า

นายเบรซินสกี้ (Zbigniew Brzenzinski) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ เคยพูดฟันธงไว้ว่า “ไม่ว่าภาพข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จีนมีศักยภาพที่จะเติบโตขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจชั้นนำได้ทุกวัน”

ในรายงาน “จำแนกภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ” ของทางการสหรัฐฯ เมื่อต้นปี 1988 ระบุว่าคาดการณ์ว่าในปี 2020 จีดีพีของจีนจะขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก

นายพอล เคเนดี้ (Paul Kennedy) ชี้ถึงเงื่อนไข 2 ข้อที่จีนจะก้าวขึ้นมาว่า หนึ่งคือ ผู้นำจีนก่อให้เกิด “ยุทธศาสตร์ที่ใหญ่โต มีความคิดเชื่อมร้อยต่อเนื่อง และมองการณ์ไกล ซึ่งในด้านนี้ จีนทำได้ดีกว่ามอสโคว วอชิงตัน และโตเกียว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงยุโรป” สองคือ จีนจะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปอย่างต่อเนื่อง คาดได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนอย่างใหญ่หลวงขึ้นกับประเทศในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีข้างหน้า”

นิตยสาร “ดิ อิคอโนมิกส์” ระบุว่า ในการทำให้คนในประเทศมีรายได้จริงเฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวนั้น อังกฤษใช้เวลา 58 ปี สหรัฐฯ 47 ปี ญี่ปุ่น 34 ปี เกาหลีใต้ 11 ปี ส่วนจีนใช้เวลาเพียง 10 ปี ถ้าจีนรักษาจีดีพีเฉลี่ยต่อคนให้เพิ่มขึ้นได้ปีละ 6-7% ในปี 2020 มาตรฐานการครองชีพของคนจีนจะอยู่ในระดับเดียวกับสเปนในเวลานี้

บางคนมีความเห็นว่าถ้าเอามาตรฐาน 4 ข้อที่ใช้วัดชาติมหาอำนาจในโลก ซึ่งได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ กำลังกองทัพ การโฆษณาชวนเชื่อด้านวัฒนธรรม และอิทธิพลทางการเมืองที่ต้องอยู่ในระดับแนวหน้าของโลกมาวัดจีนแล้ว ในอีก 20 ปีข้างหน้าจีนจะกลายเป็นชาติมหาอำนาจที่สมบูรณ์แบบ (complete power or comprehensive power) เพราะจีนจะขยับเข้าใกล้มาตรฐานที่ว่านี้

สถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษเคยรายงานการสัมภาษณ์ ศ.แฮร์รี ฮาร์ดดิ้ง (Harry Harding) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขามีความเห็นว่า คงต้องยอมรับว่าประเทศตะวันตกไม่สามารถยับยั้งการก้าวขึ้นมาของจีน (China rising) ได้ และไม่มีใครพูดคุยอย่างจริงจังว่าจะทำอย่างไรถึงจะขัดขวางไม่ให้จีนกลายเป็นชาติมหาอำนาจได้ การพัฒนาของจีนเป็นสิ่งที่ขัดขวางไม่ได้เสียแล้ว

ความเห็นที่สอง เป็นการวิเคราะห์และคาดการณ์ว่าจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจระดับโลกเมื่อใดและอย่างไร บนพื้นฐานของการยอมรับว่าจีนได้ก้าวขึ้นมาแล้ว

นายวินส์ตั้น ลอร์ด (Winston Lord) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิก และอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำจีน บอกว่า “ปัญหาไม่ใช่ว่าจีนจะกลายเป็นชาติมหาอำนาจสำคัญในกิจการความมั่นคงของโลกและภูมิภาคหรือไม่ แต่ปัญหาอยู่ว่าจีนจะกลายเป็นชาติมหาอำนาจเช่นนี้เมื่อใดและอย่างไรต่างหาก”

นายวิลเลียม แพร์รี่ (William Perry) เห็นว่าควรจัดขนาดเศรษฐกิจของจีนไว้ในลำดับ 4 โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งเห็นว่าจีนสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในเกณฑ์สูงเป็นเวลาค่อนข้างยาวนาน ขณะที่จากนี้ไปเศรษฐกิจของประเทศที่เจริญแล้วยากจะเติบโตในเกณฑ์สูงได้ ดังนั้นในอีกราว 15 ปีข้างหน้า จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก เช่น นายเจมส์ ดี วอล์ฟเฟนสัน (James D. Wolfensohn) ประธานธนาคารโลก เคยพูดไว้ว่า “สถิติตัวเลขของเราแสดงว่าจีนจะกลายเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกก่อนปี 2010 ... บางทีอาจต้องใช้เวลามากกว่านี้”

ในขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD มองว่าจะต้องรอถึงปี 2025 ที่ขนาดเศรษฐกิจจึงจะอยู่ในระดับเดียวกับสหรัฐอเมริกาได้

นักวิชาการคนสำคัญส่วนมากจะประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนไว้ต่ำกว่านี้เล็กน้อย เช่น นายวิลเลียม เอ็ม โอเวอร์ฮอลต์ (William M. Overholt) เห็นว่าจีนยังต้องใช้เวลาอีก 25 ปี ขนาดเศรษฐกิจถึงจะแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ หน่วยงานข่าวกรองหรือซีไอเอของสหรัฐฯก็เห็นว่าจีนต้องใช้เวลาอีก 1 ชั่วคน (25 ปี) ขนาดเศรษฐกิจของจีนจึงจะมีความเป็นไปได้ที่จะแซงหน้าสหรัฐฯ นักการเมืองญี่ปุ่นหลายคนก็มองว่า ในศตวรรษที่ 21 จีนจะเติบโตได้เร็วกว่าญี่ปุ่น แต่ถ้าจะไล่ให้ทันญี่ปุ่น จีนยังต้องใช้เวลาอีกครึ่งศตวรรษ และไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือยุโรป อเมริกา ต่างก็ประเมินการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อคนของจีนว่าไม่ได้ดีอย่างภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจ บางคนถึงกับบอกว่าต้องอีก 200 ปี รายได้เฉลี่ยต่อคนของจีนถึงจะไล่ทันสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น