Academia.eduAcademia.edu
ว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยม ใจ อึ๊งภากรณ์ (เดิมตีพิมพ์ในหนังสือ “อะไรนะลัทธิมาร์คซ์เล่ม๒” ปี๒๕๔๕) ในหนังสือ "แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์" มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ อธิบายว่าระบบทุนนิยมทำให้เกิดโรคระบาดที่เหลวไหลอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อนคือ การผลิตล้นเกินท่ามกลางความอดอยาก ในปลายปี ๒๕๔๕ ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกรอบที่สี่หลัง “ยุคทอง” ของการขยายตัวของทุนนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่รอบนี้เป็นรอบแรกที่ทุกแห่งในโลกประสบวิกฤตเศรษฐกิจพร้อมๆ กัน ความบ้าและความไร้สติของระบบทุนนิยมปัจจุบันเห็นได้ชัด เพราะในขณะที่ทุนนิยมในรอบ 57 ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาพลังการผลิตอย่างมหาศาล แต่ปรากฏว่าวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกที่ผ่านมาสามรอบได้ทำลายมูลค่าทางการผลิตรวมของโลกประมาณ 40-50% ของมูลค่าทั้งหมดที่ทุนนิยมสามารถจะผลิตขึ้นได้ ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและกระแสชุมชนชาตินิยมพยายามหาสาเหตุเฉพาะหน้าและเฉพาะประเทศของวิกฤตในลักษณะแยกส่วน คนส่วนใหญ่มักมองข้ามสาเหตุพื้นฐานของวัฏจักรวิกฤตทุนเสมอ มีแต่ลัทธิมาร์คซ์เท่านั้นที่อธิบายว่าทำไมเกิดวิกฤตได้ใน ไทย ญี่ปุ่น สหรัฐ ประชาคมยุโรป หรือ อาเจนทีน่า และทำไมวิกฤตดังกล่าวจะเกิดเป็นประจำด้วย ผู้นำการปฏิวัติรัสเซียที่ชื่อ ลีออน ตรอทสกี เคยเขียนไว้ว่า “ทุนนิยมมีสภาพชีวิตปกติในรูปแบบวิกฤตที่ตามด้วยการขยายตัวของเศรษฐกิจ เหมือนกับมนุษย์ที่มีชีวิตในรูปแบบการหายใจเข้าตามด้วยการหายใจออก วิกฤตและการขยายตัวของระบบทุนนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคกำเนิดของทุนนิยม และจะเกิดขึ้นจนกว่าระบบนี้จะลงหลุมฝังศพของมัน” ฉนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าทุนนิยมจะมีรูปแบบไหน (ตลาดเสรี หรือ ปิดประเทศระดมทุนโดยรัฐ) และไม่ว่าทุนนิยมจะพัฒนาเข้าสู่ยุคใด มันเป็นระบบที่หลีกเลี่ยงวิกฤตไม่ได้ และวิกฤตปัจจุบันจะไม่เป็นวิกฤตสุดท้ายของทุนนิยมจนกว่าชนชั้นกรรมาชีพจะลุกขึ้นมายึดอำนาจและฝังศพของระบบทุนนิยม เพราะทุนนิยมไม่มีวันทำลายตัวมันเอง คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าระบบทุนนิยมมีความขัดแย้งภายในของมันเองในเชิงวิภาษวิธี โดยจะเห็นได้ว่ากลไกการแข่งขันในตลาดระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนการผลิตทั้งปวงและการหมุนเวียนของทุนมีผลทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงพูดได้ง่ายๆ ว่า “อุปสรรคที่แท้จริงของระบบการผลิตทุนนิยมคือตัวทุนเอง” (มาร์คซ์ ในคาบิตอลเล่ม3) สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? 1 สาเหตุหลักของวิกฤตทุน แนวโน้มของการลดลงของอัตรากำไร (The tendency for the rate of profit to fall) วิกฤตของระบบทุนนิยมเกิดขึ้นจากสิ่งที่มาร์คซ์เรียกว่า “กฏแห่งแนวโน้มในการลดลงของอัตรากำไร” มาร์คซ์ อธิบายว่า อัตรากำไร เป็นสิ่งที่นายทุนทุกคนจะต้องใช้ในการวัดว่าการลงทุนแต่ละครั้งจะคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าคุ้ม(อัตรากำไรสูง) ก็จะเกิดการลงทุน แต่ถ้าไม่คุ้ม(อัตรากำไรต่ำจนเกือบจะไม่ได้ต้นทุนคืน) ก็จะไม่มีการลงทุน “เนื่องจากอัตราการขยายของกำไรเป็นเป้าหมายหลักในการผลิตภายใต้ระบบทุนนิยม เมื่ออัตรานี้ลดลง อนาคตของระบบการผลิตจะไม่แน่นอน” (มาร์คซ์ คาบิตอลเล่ม3) การลดลงของอัตรากำไรเกิดขึ้นได้อย่างไร? ในทฤษฎีมูลค่าแรงงาน ที่ มาร์คซ์ พัฒนาจากความคิดของนักเศรษฐศาสตร์อังกฤษชื่อ ริคาร์โด มาร์คซ์ เสนอว่า การเพิ่มมูลค่าทั้งปวงจากทรัพยากรธรรมชาติมาจากแรงงานมนุษย์ และในระบบทุนนิยม เนื่องจากมีการรวบรวมปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการผลิตในมือของนายทุนฝ่ายเดียวอย่างผูกขาด(เช่นนายทุนเป็นเจ้าของโรงงาน) ชนชั้นกรรมาชีพจึงจำเป็นต้องขายแรงงานเพื่อเลี้ยงชีพ ซึ่งต่างจากยุคอดีต แต่ในการซื้อแรงงานจากกรรมาชีพ นายทุนจะซื้อในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าจริงที่คนงานผลิต (สิ่งเหล่านี้ยังเป็นความจริงเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นค่าสร้างโรงงาน ค่าเครื่องจักร ค่าไฟ หรือค่าขนส่ง ออกจากมูลค่าของสินค้าที่คนงานผลิต) ฉนั้นถือได้ว่านายทุนขโมยหรือขูดรีด มูลค่าส่วนเกิน จากกรรมาชีพ และที่มาของกำไรที่นายทุนได้คือมูลค่าส่วนเกินที่ขโมยมาจากเราชาวกรรมาชีพ ฉนั้นถ้าพูดถึงอัตรากำไร อัตรานี้คือกำไร หรือ มูลค่าส่วนเกิน ที่ได้จากการลงทุนเงินหรือทุนจำนวนหนึ่งนั้นเอง แต่ ต้นทุน ที่พูดถึงนี้มีสองชนิดคือ (ก) ทุนเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเงินทุนที่ใช้จ้างคนงานเพื่อเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบเป็นสินค้า (บางคนเรียกทุนนี้ว่า “ทุนขับเคลื่อน”) (ข) ทุนคงที่ ซึ่งเป็นเงินทุนที่ใช้ซื้อเครื่องจักร ซึ่งไม่สามารถสร้างผลผลิตได้ เพียงแต่เป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตเท่านั้น เพราะสิ่งที่สร้างมูลค่าคือคนงาน เครื่องจักรเดินเองไม่ได้ มันเป็นเพียงเครื่องไม้เครื่องมือของคนงานเท่านั้น การแข่งขันในระบบทุนนิยม “สะสม สะสม! คือพระเจ้าทั้งหมด อดัม สมิท เคยพูดว่าอุตสาหกรรมผลิตสิ่งที่การออมทรัพย์จะสะสม ฉนั้น ออมๆไว้ซะ หรือ แปรรูปสัดส่วนของมูลค่าส่วนเกินและการผลิตส่วนเกินให้เป็นทุนให้มากที่สุด! สะสมเพื่อการสะสมต่อ ผลิตเพื่อผลิตต่อ นี่คือรูปแบบที่วิชาเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมอธิบายภาระทางประวัติศาสตร์ของนายทุนในยุคแห่งการครอบงำของนายทุน” (มาร์คซ์ คาบิตอลเล่ม 1) ในระบบทุนนิยมจะมีการแข่งขันระหว่างนายทุนต่างๆ ซึ่งบังคับให้นายทุนทุกคนต้องขยายการผลิตและลงทุนในการซื้อเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นตลอดเวลา ถ้านายทุนคนไหนไม่ลงทุนเพื่อเพิ่มเครื่องจักรที่ทันสมัย ในที่สุดก็จะล้มละลายเพราะสินค้าจะล้าสมัย คุณภาพต่ำ ราคาสูง และผลิตในระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ขายสินค้าไม่ออก ฉนั้นจะเห็นได้ว่า นายทุนต้องเพิ่มการลงทุนใน “ทุนคงที่” มากขึ้นตลอด สัดส่วนระหว่างทุนคงที่(ทุนซื้อจักร) กับ ทุนเปลี่ยนแปลง(ทุนจ้างคน) คือจำนวนเงินที่ใช้ในการลงทุนซื้อเครื่องจักรต่อคนงานหนึ่งคน และเนื่องจากการแข่งขันในตลาดเราจะเห็นได้ว่าสัดส่วนนี้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ “กฏของการผลิตทุนนิยมระบุไว้ว่า เมื่อมีการพัฒนาการผลิต สัดส่วนของทุนเปลี่ยนแปลงจะลดลงเมื่อเทียบกับทุนคงที่ .... นี่เป็นเพียงอีกวิธีการหนึ่งในการเสนอว่าในการพัฒนาระบบทุนนิยม คนงานหนึ่งหน่วย ในเวลาการทำงานหนึ่งหน่วย จะใช้ปัจจัยการผลิตหรือเครื่องจักรมากขึ้นทุกวัน และเป็นผลให้ใช้เงินทุนคงที่มากขึ้นด้วย” (มาร์คซ์ คาบิตอลเล่ม3) การแข่งขันกับอัตรากำไร จะเห็นได้ว่าการแข่งขันในระบบทุนนิยมระหว่างนายทุนต่างๆ มีผลทำให้สัดส่วนของ “ทุนคงที่” เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้อัตรากำไรลดลง เพราะกำไรมาจากการจ้างคนงาน ไม่ได้มาจากการซื้อเครื่องจักรซึ่งเป็นเพียงเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยการทำงานของกรรมาชีพเท่านั้น การแข่งขันทำให้นายทุนคนหนึ่งลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเอาเปรียบคู่แข่ง แต่ถ้าในระยะยาวการเพิ่มการลงทุนในเครื่องจักรมีผลทำให้นายทุนทุกคนได้อัตรากำไรที่น้อยลง ทำไมนายทุนจึงลงทุนในเครื่องจักรแต่แรก? มาร์คซ์ อธิบายว่า ... “ไม่มีนายทุนคนไหนหรอกที่สมัครใจนำการผลิตแบบใหม่เข้ามาใช้ ไม่ว่าการผลิตนั้นจะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน และไม่ว่าจะเพิ่มมูลค่าส่วนเกินมากเท่าไร ถ้ามันจะมีผลให้อัตรากำไรลดลง แต่วิธีการผลิตแบบใหม่ของนายทุนคนหนึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งของเขาถูกลง ฉนั้นในช่วงแรกนายทุนคนใดที่สามารถใช้วิธีการแบบใหม่จะมีโอกาสขายสินค้าในราคาที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตจริงของตนมากมาย และเขาสามารถเก็บเกี่ยวกำไรจากส่วนนั้นสูง นายทุนคนนี้ทำอย่างนี้ได้เพราะวิธีการผลิตของเขาเหนือกว่าวิธีการผลิตของคู่แข่ง แต่ในที่สุดการแข่งขันจะมีผลทำให้วิธีการผลิตใหม่เป็นวิธีที่ใครๆ ใช้กันทั่วไป และจะมีผลให้อัตรากำไรโดยทั่วไปของการผลิตแบบนี้ลดลงตามกฏที่อิสระจากเจตนาของนายทุน” (มาร์คซ์ คาบิตอลเล่ม3) ความหมายของสิ่งที่ มาร์คซ์ พูดถึงในบทความข้างบนคือ นายทุนคนหนึ่งจะลงทุนในเครื่องจักรสมัยใหม่เพื่อเอาเปรียบคู่แข่ง ในระยะแรกนายทุนคนนี้จะได้เปรียบเพราะลูกจ้างของเขาจะสามารถผลิตสินค้าในจำนวนมากขึ้นโดยที่คุณภาพจะดีขึ้นด้วย ฉนั้นในช่วงเวลาที่คู่แข่งของเขายังไม่ซื้อเครื่องจักรใหม่ นายทุนคนนี้จะผลิตสินค้าที่มีต้นทุนเฉลี่ยในการผลิตที่ต่ำกว่าคู่แข่ง แต่เขาไม่จำเป็นต้องลดราคาขายสินค้าชิ้นนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ถึงแม้ว่านายทุนคนนี้จะได้เปรียบคู่แข่ง แต่การกระทำของเขามีผลทำให้อัตรากำไรมีแนวโน้มลดลงสำหรับนายทุนทุกคน “ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาระบบการผลิตในสังคมกับความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เคยมีอยู่ ซึ่งเพิ่มทวีขึ้น จะปรากฏตัวในรูปแบบความขัดแย้งที่รุนแรงและวิกฤต” (มาร์คซ์ หนังสือกรันดรีส) จะเห็นได้ว่ากลไกภายในของระบบทุนนิยมมีผลทำให้การพัฒนาปรับปรุงการผลิตสร้างปัญหากับระบบเอง ซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤตทุนนิยม การลดลงของอัตรากำไรทำให้เกิดวิกฤตอย่างไร? เมื่ออัตรากำไรลดลง นายทุนจะลังเลใจในการลงทุน การผลิตจะชะลอตัว อาจมีการถอนทุนจากตลาดหุ้นหรือบริษัท ซึ่งมีผลทำให้คนงานส่วนหนึ่งถูกพักงานหรือลอยแพ คนงานเหล่านั้นจะขาดรายได้ซึ่งทำให้เขาซื้อสินค้าน้อยลง สินค้าที่ผลิตในโรงงานอื่นๆ จึงล้นตลาดเพราะขายไม่ออก นอกจากนี้แล้วนายทุนจะพยายามหันไปลงทุนในกิจกรรมประเภทอื่นที่ยังมีอัตรากำไรสูง เช่นนายทุนสิ่งทออาจหันไปสร้างโรงงานเคมี แต่ปัญหาคือ คู่แข่งของเขาก็ไม่โง่ เขาจะพากันลงทุนในเคมีเหมือนกัน ซึ่งในที่สุดมีผลทำให้อัตรากำไรโดยเฉลี่ยทั่วทุกภาคของอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะลดลง จะเห็นได้ว่าถ้าเราจะเข้าใจปัญหาของระบบทุนนิยมจริงๆ เราต้องมองภาพรวมของระบบการผลิตในระดับสังคมและระดับโลกด้วย ไม่ใช่มองแบบแยกส่วน มาร์คซ์ เน้นตลอดว่าทุนนิยมคือระบบการผลิตรวมหมู่ในระดับสังคม ไม่ใช่ระบบปัจเจกของผู้ผลิตรายย่อยที่ไม่เชื่อมโยงติดต่อกัน ในบางกรณี เช่นในวิกฤตปี ๒๕๔๐ แทนที่นายทุนจะลงทุนในกิจกรรมอื่นในภาคอุตสาหกรรม เขาจะเลือกลงทุนในการซื้อที่ดินสร้างอาคาร หรือในการเล่นการพนันในตลาดหุ้น (ปั่นหุ้น) เพราะกิจกรรมเหล่านี้ ในระยะแรก จะให้อัตรากำไรมหาศาล แต่ในที่สุดราคาที่ดินและหุ้นที่ขึ้นสูงดุจฟองสบู่ก็จะตกต่ำลงมา เหมือนกับที่เกิดในประเทศไทย การลดลงของอัตรากำไรท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างชนชั้น เราไม่ควรลืมว่าระบบทุนนิยมประกอบไปด้วยการทำงานและการต่อสู้ของมนุษย์ มนุษย์มีบทบาทสำคัญเท่าๆ กับโครงสร้างและกลไกของระบบ ดังนั้นเราไม่ควรมองข้ามบทบาทของการต่อสู้ทางชนชั้นในการกำหนดลักษณะของวิกฤตด้วย มาร์คซ์ อธิบายว่า ... “แนวโน้มในการลดลงของอัตรากำไรผูกพันกับการเพิ่มระดับของการขูดรีดแรงงาน ทั้งสองเพียงแต่เป็นลักษณะของการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของระบบทุนนิยมนั้นเอง” (มาร์คซ์ คาบิตอลเล่ม3) สิ่งที่ มาร์คซ์ กำลังอธิบายตรงนี้คือเราไม่ควรมองแยกส่วนแค่ในเรื่องของการแข่งขันระหว่างนายทุนในตลาดและการลงทุนเพื่อเพิ่มเครื่องจักร เราไม่ควรลืมว่าการลงทุนในเครื่องจักรที่ทันสมัยเป็นความพยายามของนายทุนที่จะขูดรีดมูลค่าส่วนเกินเพิ่มขึ้นจากกรรมาชีพผู้เป็นลูกจ้าง เพราะลูกจ้างที่มีเครื่องมือทันสมัยจะผลิตมูลค่ามากขึ้น บางครั้งการลดลงของอัตรากำไรอาจเกิดได้จากสาเหตุย่อยอื่นๆ นอกจากการลงทุนเพิ่มขึ้นในเครื่องจักร เช่นในกรณีที่สหภาพแรงงานต่างๆ เข้มแข็งและสามารถเรียกร้องค่าแรงสูงขึ้น กำไรของนายทุน(ที่มาจากมูลค่าส่วนเกินที่นายทุนขโมยจากคนงานแต่แรก)ก็จะลดลง การลงทุนในการพัฒนาเครื่องจักรอาจเป็นวิธีหนึ่งที่นายทุนแก้ปัญหาการลดลงของอัตรากำไรที่มาจากการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มของสหภาพแรงงานก็ได้ ถ้าเรามองปัญหาในลักษณะนี้เราจะเห็นว่าการต่อสู้ของกรรมาชีพเพื่อเพิ่มค่าจ้างอาจนำไปสู่การลงทุนเพิ่มในเครื่องจักร ซึ่งในที่สุดทำให้เกิดวิกฤตเพราะอัตรากำไรลดลงจากการที่ทุนคงที่เพิ่มขึ้น และในวิกฤตนายทุนอาจบีบบังคับให้คนงานยอมถูกลดค่าจ้างได้เพราะคนงานกลัวการตกงาน นี้คือสาเหตุที่นักมาร์คซิสต์เช่น Bell & Cleaver พูดถึง “ทฤษฎีวิกฤตของมาร์คซ์ในแง่ของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น” แต่เราไม่ควรลืมว่าโดยทั่วไปแล้วไม่มีชนชั้นนายทุนในประเทศไหนที่จะกล้าจงใจสร้างวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อทำลายการจัดตั้งของกรรมาชีพ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวอาจจะทำให้นายทุนเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือล้มละลาย และอาจเสี่ยงกับความไม่สงบทางสังคมด้วย อย่างไรก็ตามในกรณีของอังกฤษในสมัย Thatcher หลังปี 1979 รัฐบาลจงใจใช้นโยบายบีบอัตราหมุนเวียนของเงินทุนให้ลดลงพร้อมๆ กับการขายรัฐวิสาหกิจและการใช้กฏหมายปราบปรามสหภาพแรงงาน ทั้งนี้เพื่อกดดันบริษัทเอกชนของอังกฤษให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการลดจำนวนคนงาน เพิ่มระดับงานให้คนที่เหลือ และทำลายสหภาพแรงงาน นโยบายดังกล่าวมีผลสองด้านคือ ในแง่หนึ่งประสิทธิภาพการผลิตของอังกฤษเพิ่มขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่งภาคการผลิตอุตสาหกรรมของอังกฤษหลายๆ ส่วนต้องล้มละลายหายไปและเศรษฐกิจก็เข้าสู่วิกฤตเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ระดับความยากจน อัตราว่างงาน และความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มขึ้น สาเหตุหลักที่ Thatcher เลือกใช้นโยบายนี้ก็เพราะในทศวรรษที่ 70 กรรมาชีพอังกฤษมีระดับการต่อสู้สูง และเคยสามารถล้มรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมได้ในปี 1972 และการต่อสู้ระดับนี้เป็นอุปสรรคในการเพิ่มอัตรากำไรของนายทุน สิ่งที่ช่วยให้ Thatcher ทำลายความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานในยุคนั้นได้ นอกจากนโยบายการบีบเงินตราแล้ว คือการที่พรรคแรงงาน ที่เป็นรัฐบาลก่อนหน้านั้น ได้สร้างความแตกแยกในหมู่ผู้นำสหภาพและทำลายวัฒนธรรมการหนุนช่วยซึ่งกันและกันที่เคยมีในขบวนการแรงงาน และถ้าเราจะประเมินความสำเร็จของ นโยบาย Thatcher ในระยะยาว เราจะเห็นว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการลดพลังสหภาพแรงงานเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น แต่สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่คือการที่ระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของอังกฤษถูกทำลายไปเกือบครึ่งหนึ่ง การผลิตล้นเกิน (Over Production) การผลิตล้นตลาด นอกจากจะมาจากการชะลอตัวของการลงทุนในรูปแบบที่พูดถึงข้างบนแล้ว ยังมาจากการแข่งขันระหว่างนายทุนต่างๆ เพื่อทุ่มเทสินค้าเอาชนะคู่แข่งในตลาดในยามที่เศรษฐกิจขยายตัว เพราะนายทุนทุกคนมีความหวังที่จะผลิตสินค้ามากขึ้นเพื่อแย่งตลาดจากนายทุนหรือกลุ่มทุนอื่นๆ แต่สินค้าที่นายทุนทั้งหมดผลิตเพื่อแย่งชิงตลาดกันจะไม่มีวันขายได้หมด สาเหตุหนึ่งที่ช่วยให้เกิดปัญหานี้คือการที่กรรมาชีพ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ได้รับค่าจ้างต่ำกว่ามูลค่าที่เขาผลิตเอง ดังนั้นกรรมาชีพจึงมีพลังซื้อน้อยกว่ามูลค่าทั้งหมดของสินค้า สิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาถ้ามีการหมุนเวียนของทุนเรื่อยๆ แต่เมื่อมีอุปสรรคกับการหมุนเวียนของทุนก็จะเกิดปัญหาทันที ในที่สุดก็จะเกิดการลังเลใจในการลงทุน การถอนทุน และการลดปริมาณการผลิต คนงานก็ตกงานมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มทวีปัญหาในรูปแบบก้นหอยที่ทำให้เศรษฐกิจจมลงทุกที 2 ทางออกของนายทุนในการ “แก้วิกฤต” คือการพยายามที่จะสถาปนาอัตรากำไรให้สูงขึ้นเหมือนเดิม มาร์คซ์ เคยเขียนถึงเงื่อนไขบางอย่างที่อาจทำให้แนวโน้มในการลดลงของอัตรากำไรกลับตัวเป็นการรื้อฟื้นอัตรากำไรแทน ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขที่นายทุนเข้าใจและจงใจใช้ หรืออาจเป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นโดยที่นายทุนไม่รู้ตัวก็ได้ เช่น (ก) การขยายตลาดในยุคล่าอาณานิคม ไปสู่แหล่งใหม่ที่ยังไม่มีการผลิตแบบทุนนิยม ซึ่งมีผลในการแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดในระยะสั้น แต่กลไกอันนี้ใช้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะทั่วโลกมีระบบทุนนิยมเรียบร้อยไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่นายทุนตะวันตกพยายามทำในปัจจุบันคือการย้ายการผลิตจากประเทศแม่ที่มีค่าแรงงานสูงไปสู่ประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำ แต่วิธีการอันนี้ก็มีขีดข้อจำกัดเช่นกัน เพราะประเทศที่มีค่าแรงต่ำจะขาดแรงงานที่มีฝีมือและการศึกษา หรืออาจมีถนนหนทาง การแจกจ่ายไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ไม่พัฒนาเพียงพอต่อการผลิตที่มีประสิทธิภาพ (เช่นกรณีการผลิตในประเทศลาว เขมร หรือเวียดนามเป็นต้น) หรือประเทศเหล่านี้อาจมีระบบการเมืองที่ไม่มั่นคงซึ่งทำให้นายทุนไม่กล้าเสี่ยงกับการลงทุนในประเทศนั้น (เช่นกรณีประเทศอินโดนีเซีย) และนอกจากนี้แล้วค่าขนส่งสินค้ากลับไปขายในประเทศแม่ก็อาจจะแพงเกินไปด้วย อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานการผลิตก็เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้นเพราะในที่สุดคู่แข่งของนายทุนก็จะใช้วิธีการเดียวกัน และเมื่อประเทศที่กำลังพัฒนาเริ่มมีการผลิตมากขึ้นกรรมาชีพในประเทศเหล่านั้นก็จะรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องค่าแรงงานที่เป็นธรรมมากกว่าเดิม ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดในเกาหลีใต้ (ข) การล้มละลาย การล้มละลายปิดโรงงานช่วยทำลายพลังการผลิตล้นเกิน และนอกจากนี้การที่นายทุนที่ยังไม่ล้มละลายสามารถซื้อปัจจัยการผลิตของนายทุนล้มละลายในราคาถูกกว่าราคาจริง จะช่วยสถาปนาอัตรากำไรสำหรับกลุ่มทุนที่ยังเอาตัวรอดได้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทยหลังปี ๒๕๔๐ โดยที่นายทุนใหญ่ (ทั้งไทยและต่างชาติ) ซื้อปัจจัยการผลิตในราคาถูกๆ จากนักธุรกิจที่ล้มละลาย นี่คือปรากฏการณ์ของ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” นั้นเอง ปรากฏการณ์นี้จะทำให้มีคู่แข่งในตลาดน้อยลง สินค้าก็จะได้ไม่ล้นตลาด แต่ปรากฏการณ์ของ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมา เพราะจะทำให้เกิดการรวมศูนย์ของการผลิตที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัทร่วมกันผูกขาดในระดับชาติและระดับโลก เช่นบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก 500 บริษัทที่ควบคุม 67% ของการค้าระหว่างประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่จะเป็นอุปสรรคในการฟื้นอัตรากำไรโดยวิธีล้มละลาย เพราะรัฐบาลต่างๆ จะไม่กล้าปล่อยให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีปัญหาล้มละลายไปง่ายๆ เนื่องจากกลัวผลกระทบอันมหาศาลกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นความไม่พอใจของมวลประชาชาวกรรมาชีพ หรือผลกระทบต่อบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวพันธ์กับบริษัทใหญ่ในแง่ต่างๆ ฉนั้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลในยุคนี้มักจะเข้ามาพยุงบริษัทหรือธนาคารใหญ่ๆ ที่มีปัญหา ผลที่ตามมาคือการฟื้นตัวของอัตรากำไรจะช้าลง อ่อนแอ และไม่สมบูรณ์ ดังที่เห็นในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกทุกวันนี้ (ค) การกดค่าจ้างโดยนายทุน ซึ่งจะมีผลให้กำไรสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันจะทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง และอาจก่อให้เกิดการต่อสู้ของกรรมาชีพที่ไม่พอใจอีกด้วย อย่างไรก็ตาม มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ อธิบายว่าในช่วงวิกฤตทุนนิยมที่มีคนตกงานสูง คนงานที่ตกงานอาจจะเป็นแรงกดดันให้กรรมาชีพที่มีงานทำยอมทำงานเพื่อค่าจ้างที่ตำกว่าปกติเพื่อเอาตัวรอด เพราะกลัวว่าถ้าเรียกร้องค่าจ้างสูงนายจ้างจะเอาคนตกงานมาทำงานแทน มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เรียกกลุ่มคนตกงานที่อาจมาแทนที่คนงานอื่นว่า “กองทัพสำรองของทุนนิยม” วิธีการสถาปนาอัตรากำไรแบบนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการฟื้นเศรษฐกิจบนสันหลังคนงาน ย่อมอาศัยการเปิดศึกทางการเมืองเพื่อทำลายสหภาพแรงงานและกำลังต่อรองของกรรมาชีพ วิธีการทำลายสหภาพอาจใช้การปราบปรามโดยตรง การกล่อมเกลาให้กรรมาชีพยอมจำนน หรือการแปรรูปสถานประกอบการ (เช่นการขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน หรือการเพิ่มการรับเหมาช่วงเป็นต้น) ในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรมของยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ การต่อสู้ของกรรมาชีพอย่างเปิดเผยและแอบแฝงเพื่อปกป้องฐานะทางเศรษฐกิจมีผลทำให้ชนชั้นนายทุนไม่สามารถสถาปนาอัตรากำไรที่สูงเท่าที่เขาต้องการ ประเทศตะวันตกจึงมีวิกฤตทุนนิยมเรื้อรังในลักษณะคลื่นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ตามด้วยการหดตัวของเศรษฐกิจ เป็นระลอกๆ แบบนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อสิบปีก่อน ความอ่อนแอของขบวนการแรงงานทำให้ชนชั้นนายทุนฟื้นอัตรากำไรได้ในระยะสั้นโดยการทำลายมาตรฐานการจ้างงาน (ฆ) การยืดเวลาการทำงานของคนงานให้ยาวขึ้นโดยไม่เพิ่มค่าแรงงานตามสัดส่วนเวลาทำงาน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะกดค่าแรงและเพิ่มกำไร แต่การขยายเวลาการทำงานมีขีดจำกัดเพราะในที่สุดคนงานก็ต้องนอนบ้าง ! อย่างไรก็ตามกรรมาชีพในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันทำงานเพิ่มขึ้นจาก 20 ปีก่อนหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ง) การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของคนงาน ซึ่งหมายความว่าคนงานคนหนึ่งจะต้องผลิตสินค้ามากขึ้น วิธีการในการเพิ่มประสิทธิภาพ อาจอาศัยการบังคับให้คนงานทำงานหนักขึ้นโดยลดจำนวนคนงานทั้งหมดและบีบบังคับคนที่เหลือด้วยมาตรการต่างๆ เช่นระบบการประเมินผลแบบปัจเจก หรือการทำสัญญาการจ้างงานชั่วคราว อีกวิธีหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานคือการนำเครื่องจักรใหม่เข้ามาในโรงงาน แต่วิธีนี้จะเพิ่มสัดส่วนทุนคงที่อย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว (จ) การทำสงคราม เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ชนชั้นนายทุนทำลายปัจจัยการผลิตของคู่แข่งและพลังการผลิตล้นเกิน แต่เจตนาในการทำสงครามแต่แรกอาจไม่ใช่เพื่อการลดพลังการผลิตล้นเกินเป็นหลัก นอกจากนี้การปลุกกระแสชาตินิยมเป็นประโยชน์กับนายทุนเพราะเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นความไม่พอใจของกรรมาชีพต่อนายทุนภายในชาติเดียวกันในยามวิกฤต ไปเป็นความไม่พอใจกับคนต่างชาติ ในที่สุดกรรมาชีพของประเทศหนึ่งก็จะล้มตายในการต่อสู้กับกรรมาชีพของประเทศอื่น เพื่อผลประโยชน์ของนายทุนซึ่งเป็นศัตรูจริงของกรรมาชีพทั้งโลก (ฉ) การซื้อเวลา ความจริงการซื้อเวลาไม่ได้สถาปนาอัตรากำไรแต่อย่างใด แต่เป็นความพยายามที่จะชะลอผลกระทบจากความรุนแรงของวิกฤต ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ทางเศรษฐกิจจะมีความพยายามในหมู่รัฐบาลมหาอำนาจที่จะประชุมหารือและวางแผนเพื่อร่วมมือกันพยุงเศรษฐกิจโลก และในส่วนการเมือง ถ้าชนชั้นนายทุนเกรงว่ากรรมาชีพจะลุกสู้และล้มอำนาจตัวเอง ก็จะมีความพยายามที่จะเอาใจคนชั้นล่างด้วยการเพิ่มสวัสดิการทางสังคม หรือยอมให้รัฐบาลพรรค “แรงงาน” เข้ามาบริหารประเทศเพื่อสร้างบรรยากาศที่ช่วยให้กรรมาชีพยอม “เสียสละเพื่อชาติ” ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามตราบใดที่นายทุนแก้ปัญหาการลดลงของอัตรากำไรไม่ได้ เขาจะต้องกลับมาเปิดศึกกับกรรมาชีพในอนาคตอยู่ดี ดังนั้นการซื้อเวลาเป็นวิธีที่จะค่อยๆ ทำลายความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานทางอ้อมก่อนที่จะเปิดศึกทางตรง สรุป ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ถ้าเราใช้วิภาษวิธีดูภาพรวมและความสัมพันธ์ของแต่ละองค์ประกอบในระบบนี้ (เช่นนายทุน กรรมาชีพ สินค้า ทุน ฯลฯ) จะเห็นได้ว่า (๑) ระบบทุนนิยมมีความขัดแย้งในการทำงานของตัวระบบเอง ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตเสมอ (๒) ความขัดแย้งดังกล่าว และวิกฤตในระบบทุนนิยม จะเกิดขึ้นท่ามกลางการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพในระดับชาติและระดับโลก อย่างไม่ขาดความต่อเนื่อง (๓) ความบ้าของกลไกระบบทุนนิยมมาจากการแข่งขันในตลาดที่ไร้ทิศทาง ซึ่งก่อให้เกิดการผลิตที่ไม่มีการวางแผน ฉนั้นพลังการผลิตมหาศาลของทุนนิยมจะใช้ในการตอบสนองความต้องการของมวลประชาโลกอย่างจริงจังไม่ได้ การควบคุมการผลิตแบบทุนนิยมของชนชั้นนายทุน เปรียบเสมือนเด็กโลภปัญญาอ่อนกลุ่มหนึ่งที่พยายามขับรถไฟขบวนรถด่วน ทุกๆสิบปีรถไฟขบวนนั้นจะเพิ่มความเร็วจนรถตกราง ซึ่งทำให้ประชาชนที่เป็นผู้โดยสารเดือดร้อนเสมอ แต่นายทุนไม่ยอมเลิกสักทีทั้งๆ ที่ขับรถไฟไม่เป็น จะเอาแต่ขับรถไฟต่อท่าเดียว ภาระหน้าที่ของเราชาวกรรมาชีพที่มีสติ คือต้องยึดขบวนรถไฟจากพวกปัญญาอ่อนแล้วมาร่วมกันวางแผนการผลิตแบบใหม่เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ 3 ข้อมูลเรื่องการลดลงของอัตรากำไร (ตัวเลขมาจาก Callinicos 1998 และ Harman 1996) 8.3.1 การเพิ่มขึ้นของสัดส่วน “ทุนคงที่” ต่อ “ทุนเปลี่ยนแปลง” ในประเทศต่างๆ ประเทศ ปี อัตราการเพิ่มของสัดส่วนทุนคงที่ สหรัฐ 1977-1987 2.4% ต่อปี อังกฤษ 1980-1989 2% ต่อปี จีน 1985-1990 100% ใน 5 ปี การลดลงของอัตรากำไร ในทศวรรษ 1960 และ 1970 อัตรากำไรในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกทั้งหลาย ลดลงเรื่อยๆ จนโลกเข้าสู่วิกฤตครั้งแรกหลังการขยายตัวมหาศาลของเศรษฐกิจโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง วิกฤตนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการต่อสู้ของกรรมาชีพทั่วโลกในปี 1968 (พ.ศ. ๒๕๑๑) และผูกพันกับวิกฤตในไทยและการต่อสู้ของกรรมาชีพและนักศึกษาไทยที่ล้มเผด็จการในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ปี (ค.ศ.) อัตรากำไรในสหรัฐ 1946-1968 13% 1969-1973 8.8% 1973-ปัจจุบัน 7.3% ที่มา: องค์กรสังคมนิยมสากลสหรัฐ (ISO) ในยุโรปตะวันตกอัตรากำไรโดยเฉลี่ยในทศวรรษ 1980 ต่ำกว่าอัตรากำไรในทศวรรษ 1950 ถึง 60% ในวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี ๒๕๔๐ แนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรที่ก่อให้เกิดการย้ายการลงทุนไปสู่การปั่นหุ้นในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะเห็นจากงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอกชาวสหรัฐชื่อ เจมส์ กลาสแมน ข้อมูลและตัวเลขจากวิทยานิพนธ์ของ กลาสแมน (Glassman 1999) แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 1990 (พ.ศ. ๒๕๓๓) อัตรากำไรในภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มลดลงจากหน่วยอัตราส่วน 0.53 เหลือ 0.37 ในปี 1996 (พ.ศ. ๒๕๓๙) และถ้าพิจารณาภาพรวมระยะยาวของเศรษฐกิจไทยจะพบว่าสัดส่วนมูลค่าผลผลิตต่อต้นทุนในประเทศไทยลดลงจาก 0.83 ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เหลือแค่ 0.65 ในปี ๒๕๓๙ ซึ่งสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของราคาการลงทุนในเครื่องจักร (ดูหนังสือของ ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ “การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์” บทที่ 12) 4 ทำไมระบบทุนนิยมโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงไม่เกิดวิกฤตเป็นเวลา 20ปี? (ทฤษฏีการผลิตอาวุธถาวร – Permanent Arms Economy) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างประมาณปี ค.ศ. 1945-1965 เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้น นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยมที่มีสภาวะแบบนั้น และในยุคนี้พวกนักวิชาการของทุนและรัฐบาลต่างๆ ก็พากันเชื่อว่านโยบายการใช้รัฐควบคุมการพัฒนาเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อ เคนส์ (Keynes) เป็นสิ่งที่ทำให้วิกฤตทุนนิยมหายไป บางสำนักถึงกับอ้างว่านักเศรษฐศาสตร์สามารถกำจัดปัญหาทั้งหมดของวิกฤตทุนนิยมได้ แต่พอเข้าปลายทศวรรษ 1960 เศรษฐกิจโลกก็เริ่มเข้าสู่ยุควิกฤตอีกครั้ง และเมื่อรัฐบาลต่างๆ พยายามใช้การลงทุนของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่ประสบความสำเร็จ ความคิดของ เคนส์ จึงมีการยอมรับน้อยลง และนักวิชาการกับนักการเมืองก็เริ่มหันมานิยมทฤษฏีเสรีนิยมแทน แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวในช่วงหลังสงครามโลก ไม่ใช่นโยบายของ เคนส์ เลย แต่เป็นการลงทุนมหาศาลในการผลิตอาวุธในยุค “สงครามเย็น” ที่มีการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย การลงทุนเพื่อผลิตอาวุธของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผลในการกระตุ้นอุตสาหกรรมต่างๆ นานา ที่หล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมอาวุธ และมีผลให้กรรมาชีพสหรัฐมีงานทำและรายได้ที่จะนำมาซื้อสินค้ามากขึ้น ผลต่อเนื่องของสภาวะเช่นนี้ก็คือมีการกระตุ้นการผลิตทั่วโลกเป็นเวลานาน “ทฤษฏีการผลิตอาวุธถาวร” เป็นทฤษฏีของนักเศรษฐศาสตร์มาร์คซิสต์ชื่อ คิดตรอน (Kidron) ที่พยายามทำความเข้าใจกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในยุคนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยที่รัฐบาลสหรัฐเก็บภาษีจากนายทุนเอกชนเพื่อมาลงทุนในการผลิตอาวุธมีลักษณะพิเศษที่สำคัญคือ เป็นการเพิ่มการลงทุนอย่างมหาศาลในสิ่งที่เอามากองไว้เฉยๆ โดยที่ไม่ได้เข้าสู่วงจรการสะสมเพื่อการผลิตต่อ เช่นจรวจหัวนิวเคลียร์หรือรถถังที่สหรัฐผลิตขึ้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มพลังการผลิตต่อไปหรือประสิทธิภาพการผลิตในระบบทุนนิยมแต่อย่างใด ฉนั้นการลงทุนเพื่อผลิตอาวุธมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ทำให้สัดส่วนของการลงทุนในเครื่องจักร (ทุนคงที่) เพิ่มขึ้น นอกจากนี้แล้วการผลิตอาวุธไม่ได้ก่อให้เกิดสินค้าล้นตลาดเพราะไม่ได้ผลิตออกมาเพื่อขาย อัตรากำไรของนายทุนจึงขยายตัวได้ ดังที่เห็นในตารางข้างล่าง อย่างไรก็ตามยังมีคำถามหนึ่งที่เราต้องตอบคือ ทำไมนายทุนจึงยอมเสียภาษีเพิ่มเพื่อให้มีการผลิตอาวุธ? คำตอบคือ (1)นายทุนมองว่าความเข้มแข็งของสหรัฐเมื่อเทียบกับคู่แข่งหลักเป็นสิ่งที่จะช่วยการขยายกิจกรรมของนายทุนสหรัฐไปทั่วโลก และ (2) “ภัยจากคอมมิวนิสต์” อาจทำให้การต่อสู้ของกรรมาชีพสหรัฐเองเพิ่มขึ้นถ้าไม่มีการปราบปรามในระดับโลก ผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการผลิตอาวุธในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่สงครามโลกถึงสงครามเย็น ปี ค.ศ. 1939 1941 1943 1944 1945 1946 1947 ทุนคงที่ต่อการจ้างงาน 3.5 2.71 2.03 2.63 อัตรากำไร 8.12 10.3 11.1 11.1 10.23 จากตัวเลขของ Mage, S. (1963) (หน่วยคือ “หน่วยสัดส่วน”) สัดส่วนการลงทุนในการผลิตอาวุธต่อผลผลิตรวมของสหรัฐระหว่าง ค.ศ. 1939-1969 (%) 1939 1948 1951 1953 1955 1957 1959 1961 1963 1965 1967 1969 1.5 4.3 13.4 13.6 9.9 10.2 9.7 9.3 8.8 7.6 9.1 9.0 ข้อเสียของเศรษฐกิจการผลิตอาวุธถาวร นอกจากข้อเสียสำหรับมวลชนกรรมาชีพและชาวนาทั่วโลกเนื่องจากความสิ้นเปลืองในการผลิตอาวุธแทนการผลิตสินค้าที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ และ ปัญหาของสงครามร้อนๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่นที่เวียดนาม แล้ว การลงทุนในการผลิตอาวุธโดยสหรัฐมีข้อเสียสำคัญที่จำกัดการใช้วิธีนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ข้อจำกัดของเศรษฐกิจผลิตอาวุธถาวรคือเมื่อสหรัฐเน้นการลงทุนในการผลิตอาวุธ คู่แข่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของสหรัฐสองคู่แข่งคือ เยอรมันตะวันตกและญี่ปุ่น ที่ถูกบังคับไม่ให้ผลิตอาวุธหลังแพ้สงครามโลก มีโอกาสทุ่มเทการลงทุนในการพัฒนาประสิทธิภาพทางอุตสาหกรรมจนทำให้สหรัฐเสียเปรียบ นอกจากนี้กลไกของเศรษฐกิจอาวุธไม่ได้ทำให้การลงทุนในทุนคงที่ของเศรษฐกิจโดยรวมหยุดนิ่งหรือลดลงตลอดไป เพียงแต่เป็นการชะลอปัญหานี้เท่านั้น และการที่อาวุธรุ่นต่อไปแพงขึ้นเรื่อยๆ มีผลทำให้แรงการกระตุ้นทางเศรษฐกิจของการลงทุนอ่อนลงตามลำดับ ฉนั้นจะเห็นได้ว่าเมื่อประธานาธิบดี เรแกนพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการสั่งอาวุธเพิ่มขึ้นในยุคหลังๆ กลไกนี้ล้มเหลวและทำให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อแทน 5 ประเทศที่เคยเรียกตัวเองว่า “สังคมนิยม” ข้อจำกัดเรื่องหน้ากระดาษในหนังสือเล่มนี้ทำให้เราไม่สามารถที่จะอธิบายอย่างสมบูรณ์ได้ว่าทำไมประเทศรัสเซีย จีน หรือ เวียดนาม ไม่ใช่ประเทศสังคมนิยม แต่เป็นทุนนิยมรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะ “ปิดประเทศ-ระดมทุนภายใน-รัฐนำการพัฒนา” ที่เรียกว่า ทุนนิยมโดยรัฐ (ดู ใจ อึ๊งภากรณ์ “อะไรนะลัทธิมาร์คซ์ เล่ม1 บทที่ 4) เหตุที่ระบบทุนนิยมโดยรัฐล่มสลาย ถึงแม้ว่าระบบทุนนิยมโดยรัฐสามารถสร้างรัสเซียและจีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกได้ และสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้อยพัฒนาในช่วงระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดระบบการผลิตแบบนี้ก็มีขีดข้อจำกัดของมันเองดังนี้ (1) ระบบทุนนิยมโดยรัฐมีประสิทธิภาพสูงในการระดมทุนภายในประเทศในขั้นตอนแรก แต่เมื่อเข้ายุคทศวรรษที่ 1970 และ 1980 เริ่มมีปัญหาในการระดมทุน เพราะปริมาณทุนภายในประเทศไม่เพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อแข่งกับตะวันตก นอกจากประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกจะสามารถระดมทุนข้ามชาติมหาศาลจากทุกมุมของโลกแล้ว ประเทศตะวันตกยังสามารถอาศัยเทคโนโลจีระดับโลกที่ทันสมัยที่สุดอีกด้วย โดยการแบ่งงานในการค้นคว้าวิจัยระหว่างบริษัทข้ามชาติต่างๆ ได้ ส่วนประเทศทุนนิยมโดยรัฐต้องประดิษฐ์เทคโนโลจีของตนเองภายในกรอบจำกัดของประเทศเท่านั้น (2) เนื่องจากระบบการเมืองในประเทศทุนนิยมโดยรัฐเป็นรูปแบบเผด็จการข้าราชการ ระบบบริหารในหน่วยงานต่างๆ จะเต็มไปด้วยความฝืดเคือง แต่ละระดับของหน่วยงานต่างๆ จะพยายามปกปิดความจริงจากเจ้านายส่วนบน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวหรือป้องกันตัวไม่ให้ถูกลงโทษเมื่อทำตามแผนนโยบายเศรษฐกิจที่เจ้านายสั่งไม่ได้ (3) ความพยายามที่จะผลิตอาวุธเพื่อแข่งกับสหรัฐอเมริกา โดยที่เศรษฐกิจอ่อนแอกว่าสหรัฐแต่แรก ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียต้องรับภาระหนักเป็นพิเศษจนแข่งไม่ไหว ในขณะเดียวกันประชาชนก็ไม่พอใจกับสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนกว่าประเทศตะวันตกและไม่มีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองเลย จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าระบบทุนนิยมโดยรัฐมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างออกไปจากระบบทุนนิยมตลาด แต่วิกฤตของระบบนี้มีต้นกำเนิดจากสาเหตุบางอย่างที่คล้ายกับปัญหาของระบบทุนนิยมตลาดในสองแง่คือ (1)การแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนในระดับรัฐ ในลักษณะการแข่งขันทางด้านทหาร ซึ่งบีบบังคับให้มีการสะสมทุนเพื่อลงทุนต่อในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธ เป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจรัสเซียและจีนล้มละลาย หรือแข่งขันในเวทีโลกต่อไปไม่ได้ และ (2)การต่อสู้ทางชนชั้นในรูปแบบความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลมีผลทำให้ระบบเดิมไปไม่รอด นอกจากนี้วิธีการ “แก้” ปัญหาของชนชั้นปกครองในประเทศทุนนิยมโดยรัฐ ไม่ว่าจะเป็น รัสเซีย จีน โปแลนด์ หรือ เวียดนาม ก็ไม่แตกต่างจากวิธีการของชนชั้นปกครองในประเทศทุนนิยมตลาดเลย คือมีการแปรรูปสถานประกอบการให้เป็นบริษัทเอกชน มีการลดสวัสดิการของรัฐ มีการลอยแพคนงานเป็นล้านๆ และมีการทำลายฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนทั่วไปโดยการหันมาใช้นโยบายเสรีนิยมแทนนโยบายทุนนิยมโดยรัฐ (ดู Haynes & Husan 1998) 6 ทางออกสำหรับชนชั้นกรรมาชีพ “การยึดปัจจัยการผลิตโดยสังคมส่วนรวมจะยับยั้งการผลิตเพื่อกำไรที่เคยทำให้ผลผลิตทางวัตถุครอบงำผู้ผลิตที่มีชีวิต ความปั่นป่วนของระบบการผลิตจะถูกเปลี่ยนไปเป็นการวางแผนในการผลิตที่ใช้สติปัญญา เมื่อนั้น การต่อสู้ของมนุษย์เพื่อเป็นตัวของตัวเองจะจบสิ้น และ ณ จุดๆนั้นมนุษย์จะแปรสภาพจากสัตว์ไปเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์” (เองเกิลส์ ในหนังสือแอนที่ดูริง) เราจะเห็นได้ว่าระบบทุนนิยมและกลไกตลาดเสรีเป็นระบบที่ไร้สติปัญญาและไม่สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้โดยไม่มีวิกฤต สาเหตุหลักไม่ได้มาจากความโลภมากของนายทุน ถึงแม้ว่านายทุนส่วนใหญ่จะไร้ศิลธรรมและโลภมากจริง แต่สาเหตุหลักมาจากกลไกภายในของระบบทุนนิยม ซึ่งจะพบในระบบทุนนิยมทุกรูปแบบ ฉนั้นแนวทางออกสำหรับชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีทางเดียว นั้นคือยึดอำนาจรัฐจากนายทุนเพื่อมาเป็นอำนาจของคนส่วนใหญ่ และล้มระบบทุนนิยมโดยสถาปนาระบบสังคมนิยมแทน ระบบสังคมนิยมเป็นระบบที่มีการควบคุมเศรษฐกิจและการเมืองโดยคนส่วนใหญ่ด้วยวิธีประชาธิปไตยแท้ และเป็นระบบที่กรรมาชีพพื้นฐานทุกคนจะต้องมีส่วนในการสร้างร่วมกัน ฉนั้นเราไม่สามารถกำหนดไว้ล่วงหน้าได้ว่ารายละเอียดของระบบสังคมนิยมจะเป็นอย่างไรนอกจากจะระบุว่า จะมีการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของมวลมนุษย์ จะไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจ จะไม่มีการขูดรีดแรงงาน จะไม่มีสังคมชนชั้น และมนุษย์จะมีเสรีภาพเกินความฝันในปัจจุบัน แต่ก่อนที่จะถึงขั้นตอนนั้นเราชาวกรรมาชีพควรทำอะไรบ้าง? เราต้องทำความเข้าใจกับโลกรอบตัวเราอย่างชัดเจนโดยอาศัยทฤษฏีลัทธิมาร์คซ์ ซึ่งเป็นทฤษฏีที่ตั้งขึ้นมาและพัฒนาเรื่อยๆ เพื่อให้ชนชั้นกรรมาชีพปลดแอกตัวเอง แต่การศึกษาโลกรอบตัวเราไม่เพียงพอ บุคคลคนเดียวเปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้ และชนชั้นกรรมาชีพจะไม่พัฒนาตัวเองและยึดอำนาจรัฐโดยอัตโนมัติิ ถ้าเราจะเดินทางจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่เราต้องขึ้นรถไฟหรือรถทัวร์ ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมเราต้องมีเครื่องมือ เครื่องมือนั้นคือพรรคจัดตั้งของกรรมาชีพ กรรมาชีพต้องมีพรรคจัดตั้งเพราะในหมู่คนงานธรรมดา แต่ละคนจะมีความคิดแตกต่างกัน บางคนจะก้าวหน้าและพร้อมที่จะต่อสู้ทางชนชั้น บางคนจะปฏิเสธการต่อสู้ดังกล่าวและไปใช้เวลาในการกราบไหว้เจ้านายทั้งวันทั้งคืน คนส่วนใหญ่อาจจะอยู่ระหว่างกลางสองกลุ่มแรก คือในสมองของเขามักจะมีความคิดสองประเภทที่ขัดแย้งกัน นั้นคือความคิดของฝ่ายนายทุนที่เขาป้อนมาผ่านโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ และความคิดจิตสำนึกทางชนชั้นที่มาจากประสบการณ์การทำงานภายใต้ระบบขูดรีดแรงงาน หน้าที่หลักของพรรคจัดตั้งคือการขยายความคิดประเภทจิตสำนึกทางชนชั้น โดยการนำเสนอแนวความคิดนี้ต่อกรรมาชีพพร้อมๆ กับการร่วมในการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน ดังนั้นพรรคมาร์คซิสต์จะต้องมีเป้าหมายสองระดับคือ ในระยะยาวเปลี่ยนระบบเป็นสังคมนิยม และในระยะสั้นต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกรรมาชีพและผู้ถูกกดขี่ทั้งปวง อ่านเพิ่ม Bell, P. F. & Cleaver, H. (1982) Marx’s crisis theory as a theory of class struggle. Political Economy Vol. 5, 189-261. Callinicos, A. (1991) “The revenge of history”. Polity Press, UK. Callinicos, A. (1996) “The revolutionary ideas of Karl Marx”. Bookmarks, London. Callinicos, A. (1998) World Capitalism at the abyss. International Socialism Vol. 81, 3-43. Callinicos, A. (1999) Capitalism, competition and profits: a critique of Robert Brenner’s theory of crisis. Historical Materialism No.4, 9-32. Cliff, Tony (1974) “State Capitalism in Russia”. Pluto Press, UK. Engels, Frederick (1976) “Anti-Duhring”. Foreign Language Press, Peking. Harman, C. (1984) “Explaining the crisis. A Marxist re-appraisal”. Bookmarks, London. Harman, C. (1995) “Economics of the madhouse. Capitalism and the market today.” Bookmarks, London. Harman, C. (1996) The crisis of bourgeois economics. International Socialism Vol. 71, 3-56. Haynes, M. & Husa, R. (1998) The state and market in the transition economies. Journal of European Economic History Vol. 27(3), 609-646. Kidron, M. (1968) “Western capitalism since the war”. Penguin. Mage, S. (1963) “The law of the falling rate of profit, its place in the Marxian theoretical system and its relevance for the U.S. economy.” PhD thesis, Columbia University. Marx, Karl (1990) “Capital”. Penguin Books, London. Marx, Karl (1973) “Grundrisse”. Paladin, UK. Trotsky, Leon (1977) “The history of the Russian Revolution”. Pluto Press, London. ใจ อึ๊งภากรณ์ บรรณาธิการ (๒๕๔๒) “อะไรนะลัทธิมาร์คซ์ เล่ม๑ ” ชมรมหนังสือ ป.ร. ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ (๒๕๔๓) “การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์” ชมรมหนังสือ ป.ร.