เปิดคำสั่งยึดทรัพย์ “ถนอม-ประภาส-ณรงค์” รัฐบาล “สัญญา ธรรมศักดิ์” ใช้ม.17 เชือด!

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่ง ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2517 ตามอำนาจในมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515ใ ห้ยึดทรัพย์สินของ จอมพลถนอม กิตติขจร และภรรยา จอมพลประภาส จารุเสถียร และภรรยา พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร และภรรยา เป็นของรัฐทันที เพื่อป้องกันและระงับการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร การก่อตัวคุกคามความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ดังมีรายละเอียดประกาศคำสั่ง 10 ข้อ ดังนี้

1. ให้ทรัพย์สินของจอมพลถนอม กิตติขจร และภรรยา จอมพลประภาส จารุเสถียร และภรรยา พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร และภรรยา บรรดาทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้ หรือที่กระทรวงการคลังได้รับชำระหนี้ไว้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สรล.40/2516 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2516 ทั้งหมด ตกเป็นของรัฐทันทีในวันที่ออกคำสั่งนี้

2. ให้ลูกหนี้ซึ่งจะต้องชำระหนี้ให้แก่จอมพลถนอม กิตติขจร หรือภรรยา จอมพลประภาส จารุเสถียร หรือภรรยา พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร หรือภรรยาตามข้อ 4.(4) แห่งคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สรล.40/2516 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2516 ชำระหนี้นั้น เมื่อถึงกำหนดชำระให้แก่กระทรวงการคลังและให้ทรัพย์สินที่ชำระนั้นตกเป็นของรัฐทันที

3. ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ตกเป็นของรัฐตามข้อ 1 และข้อ 2 ในนามของรัฐและให้ดำเนินการตามควรทุกประการในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น และให้มีอำนาจนำเงินทรัพย์สินดังกล่าวไปชำระภาษีอากรของบุคคลดังกล่าวทั้ง 6 ได้

4. ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งนี้

5. ในกรณีที่จอมพลถนอม กิตติขจร หรือภรรยา จอมพลประภาส จารุเสถียร หรือภรรยา พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร หรือภรรยา หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าวอ้างว่าทรัพย์สินใดที่ตกเป็นของรัฐตามข้อ 1. หรือข้อ 2. เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ หรือบุคคลใดที่อ่างว่าทรัพย์สินที่ตกเป็นของรัฐตามข้อ 1. และข้อ 2. เป็นของตนซึ่งได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ ให้ยื่นคำร้องพร้อมด้วยหลักฐานและรายละเอียดของการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้นต่อคณะกรรมการตามข้อ 4. ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ออกคำสั่งนี้

6. ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องตามข้อ 5. พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการได้ว่าทรัพย์สินใดที่ตกเป็นของรัฐตามข้อ 1. และข้อ 2. เป็นของตกที่ได้มาโดสุจริตและโดยชอบ ให้กรรมการโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงการคลังคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ยื่นคำร้อง หลังจากที่กระทรวงการคลังได้หักภาษีเงินได้และภาษีอากรอื่นอันเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะคืนนั้นแล้ว

7. ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องตามข้อ 5. ไม่อาจพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ตนได้มาโดยสุจริตและโดยชอบให้คณะกรรมการบันทึกการวินิจฉัยชี้ขาดการไม่คืนทรัพย์สินให้ปรากฎไว้เป็นหลักฐานและให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบถึงการวินิจฉัยของคณะกรรมการโดยไม่ชักช้า การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

8. ภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ออกคำสั่งนี้ ถ้าความปรากฎแก่กระทรวงการคลังโดยคำร้องของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาว่า เจ้าหนี้นั้นต้องเสียประโยชน์ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาเพราะผลแห่งคำสั่งนี้ ถ้ากระทรวงการคลังเห็นว่าหนี้ตามคำพิพากษานั้นเป็นหนี้อันเกิดจากนิติกรรมที่เกิดขึ้นก่อนที่นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งที่ 40/2516 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2516 และเป็นหนี้ที่มิได้เกิดขึ้นด้วยการสมยอม ให้กระทรวงการคลังด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจ่ายเงินตามจำนวนที่เห็นสมควรจากเงินที่ได้รับมาโดยผลแห่งคำสั่งนี้ให้แก่เจ้าหนี้นั้นได้ ทั้งนี้เว้นแต่ทรัพย์สินที่ตกเป็นของรัฐไม่เพียงพอแก่การชำระภาษีอากรของบุคคลดังกล่าว

9. การคืนทรัพย์สินให้แก่จอมพลถนอม กิตติขจร หรือภรรยา จอมพลประภาส จารุเสถียร หรือภรรยา พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร หรือภรรยา ตามข้อ 6. ถ้าปรากฎว่าบุคคลเหล่านั้นมีภาระที่จะต้องชำระภาษีอากรค้าง หรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของรัฐตามข้อ 1. และ ข้อ 2. มีไม่เพียงพอแก่การชำระภาษีอากรค้างให้คณะกรรมการรอการคืนทรัพย์สินไว้ก่อนจนกว่าจะได้ชำระภาษีอากรค้างแล้ว หรือไม่คืนทรัพย์สินให้แล้วแต่กรณี

10. ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้ขาดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินที่ยึดไว้รวมกันกว่า 434 ล้านบาท

อนึ่ง มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 บัญญัติไว้ดังนี้

“ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าการกระทำจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันประกาศธรรมนูญการปกครองนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้น รวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ”