“ไทย-เดนมาร์ค” จากสายพระเนตรรัชกาลที่ 9 สู่ “แบรนด์นมแห่งชาติ” ที่เป็นมากกว่านม UHT

  • 3.7K
  •  
  •  
  •  
  •  

ไทย-เดนมาร์ค
Photo Credit : องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้ความสนพระทัยเกี่ยวกับกิจการการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์ค เมื่อครั้งพระองค์ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเดนมาร์ก ทรงให้ความสนพระทัยในกิจการโคนมเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทรงเล็งเห็นว่า “อาชีพการเลี้ยงโคนม” จะทำให้คนไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่า และช่วยให้เกษตรกรไทยมีอาชีพมั่นคง

ก่อกำเนิดเป็นความร่วมมือด้านวิชาการ “การเลี้ยงโคนมระหว่างประเทศไทย – ประเทศเดนมาร์ค” ในปี 2504 และจัดตั้ง “ฟาร์มโคนม และศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค” ในปี 2505 โดยศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ จะฝึกอบรมบุคลากร สาธิต และถ่ายทอดวิชาการเลี้ยงโคนมอย่างเป็นระบบ ให้ได้รับความรู้และเกิดความชำนาญ จนสามารถประกอบอาชีพ “เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม” อาชีพพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ต่อมาในปี 2514 รัฐบาลไทยได้รับโอนกิจการฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนม ไทย-เดนมาร์ค จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในชื่อ “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)” และผลิต-จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม ภายใต้ยี่ห้อ “ไทย-เดนมาร์ค” ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การผลิตจาก “นมโคสดแท้ 100% ไม่ผสมนมผง” มาถึงทุกวันนี้ และเมื่อไม่นานนี้ ยังได้ Revamp แบรนด์ให้ทันสมัย พร้อมทั้งพัฒนาสินค้า – ช่องทางการขายรูปแบบใหม่ เพื่อขยายฐานเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมทั้งเพิ่มโอกาสการบริโภคไทย-เดนมาร์คให้มากขึ้น และทำให้ “แบรนด์ไทย-เดนมาร์ค” หรือ “นมวัวแดง” เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมอันดับ 1 ที่คนไทยนึกถึง และเลือกซื้อ

Resize Thai-Denmark_08
Photo Credit : องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

 

กำเนิด “นม UHT กล่องแรกของคนไทย”

หากย้อนกลับไปถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ครั้งแรกเริ่มขึ้นเมื่อปี 2507 ใช้นมดิบที่ผลิตได้ 60 ลิตรนำมาผ่านความเย็น ลดอุณหภูมิจาก 35 องศาเซลเซียส ให้เหลือ 6 องศาเซลเซียส บรรจุลงถังอลูมิเนียม 2 ชั้น ภายในบรรจุไม้ก๊อกเพื่อรักษาความเย็น ได้น้ำนมประมาณ 50 ลิตร ส่งขายโรงงานนมในกรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กระทั่งในปี 2508 เกษตรกรโคนมชาวเดนมาร์กส่งมอบขวดแก้วขนาด 250 มล. 500 มล. และ 1,000 มล. ให้ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค สำหรับใช้บรรจุนมหลังพาสเจอร์ไรส์ เพื่อให้การจัดจำหน่ายจึงสะดวกขึ้น เพราะสมัยนั้นคนไทยยังไม่นิยมดื่มนม ทำให้บางส่วนต้องแจกตามโรงพยาบาล โรงเรียน และที่ฟาร์ม

ต่อมาเมื่อจัดตั้ง “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)” ในปี 2514 ได้พัฒนาต่อยอดจาก “ผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์” สู่ “ผลิตนม UHT กล่องแรกของไทย” วางจำหน่ายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2519 ทำให้สามารถเก็บไว้ได้นาน โดยไม่ต้องแช่เย็น และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคไทย

Resize Thai-Denmark_02
Photo Credit : องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)
Resize Thai-Denmark_03
Photo Credit : องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

ขณะเดียวกันรัฐบาลรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมมากขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายโรงงานนม อ.ส.ค. ไปยังภูมิภาคต่างๆ ของไทย ปัจจุบันมี 5 แห่ง ได้แก่

– โรงงานนมมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี กำลังการผลิต 300 ตันต่อวัน
– โรงงานนมเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ กำลังการผลิต 20 ตันต่อวัน
– โรงงานนมปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำลังการผลิต 120 ตันต่อวัน
– โรงงานนมขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น กำลังการผลิต 150 ตันต่อวัน
– โรงงานนมสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย กำลังการผลิต 140 ตันต่อวัน

นอกจากนี้ อ.ส.ค. ดูแลเกษตรกร 20% ของประเทศ จากปัจจุบันไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกว่า 16,000 ครัวเรือน และรับซื้อน้ำนมดิบ 600 ตันต่อวัน จากกำลังการผลิตน้ำนมดิบทั่วประเทศกว่า 3,000 ตันต่อวัน

Resize Thai-Denmark_05
Photo Credit : องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)
Resize Thai-Denmark_04
Photo Credit : องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

 

ยกระดับเป็นมากกว่า “นม UHT” แต่คือ “ผลิตภัณฑ์นม” ในชีวิตประจำวันของคนไทย

พัฒนาการของอุตสาหกรรมนมในประเทศไทย มูลค่าตลาดกว่า 50,000 ล้านบาท ขยับจากตลาด “Mainstream” ไปสู่ยุค “Segmentation” ที่ผลิตภัณฑ์นมหลากหลาย และซับซ้อนมากขึ้น ด้วยการพัฒนา “Value Added Product” ทั้งการใส่คุณค่าสารอาหารเพิ่มเข้าไป และการสร้างเซ็กเมนต์ใหม่ เพื่อครีเอทความต้องการใหม่

ดังนั้นเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ “อ.ส.ค.” ได้วางยุทธศาสตร์ก้าวสู่การเป็น “นมแห่งชาติ” ภายในปี 2564 (National Milk by 2021) โดยโฟกัส 4 เสาหลัก ประกอบด้วย

1. ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้เป็นอาชีพแก่เกษตรกรไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน / 2. พัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมนมให้ครบวงจร และมีมูลค่าเพิ่ม / 3. สร้างแหล่งความรู้ด้านกิจการโคนม และอุตสาหกรรมนม / 4. มุ่งบริหารจัดการองค์กรให้เป็นองค์กรที่มีขีดสรรถนะสูง ด้วยหลักธรรมาภิบาล

ในขณะที่ด้านการเงิน ต้องทำยอดขายแตะระดับ 10,000 ล้านบาท จากในปี 2560 มียอดขาย 9,250 ล้านบาท

Resize Thai-Denmark_07
Photo Credit : องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)
Resize Thai-Denmark_09
Photo Credit : องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

เวลานี้ “ไทย-เดนมาร์ค” ได้ Revamp แบรนด์ให้ทันสมัยขึ้น และไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ในตลาดนม Mainstream ในรูปแบบนม UHT และพาสเจอร์ไรส์เท่านั้น แต่ยังได้ต่อยอดจากวัตถุดิบ “นมโคสด” ไปสู่การพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยสินค้าบางรายการ “ไทย-เดนมาร์ค” เคยทำตลาดมาก่อนแล้ว แต่ในอดีตไม่ได้รุกตลาดมากนัก ทว่าปัจจุบันกลับมาบุกอีกครั้ง เช่น นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ควบคู่กับการขยายโปรดักต์ไลน์ใหม่ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทุกไลฟ์สไตล์ และเพิ่มโอกาสการบริโภคผลิตภัณฑ์ไทย-เดนมาร์ค ได้แก่

– กลุ่มผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม
– กลุ่มผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตถ้วย
– กลุ่มนมออร์แกนิก ภายใต้แบรนด์ “มอร์แกนิค” เป็นผลผลิตที่ได้จากฟาร์มโคนมอินทรีย์ ที่เริ่มดำเนินงานในปี 2550
– กลุ่มผลิตภัณฑ์ไอศกรีม

โดยทุกกลุ่มสินค้า ยังคงยืนอยู่บน “Value Proposition” อันแข็งแกร่งของแบรนด์ไทย-เดนมาร์ค นั่นคือ ผลิตจากนมโคสดแท้ 100%

Resize Thai-Denmark_16
Photo Credit : องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)
Resize Thai-Denmark_15 (Facebook Thai-Denmark Fan Club)
Photo Credit : Facebook Thai-Denmark Fan Club

 

Resize Thai-Denmark_13 (Facebook Thai-Denmark Milk Shop KMUTT)
Photo Credit : Facebook Thai-Denmark Milk Shop KMUTT

เปิดโมเดล “Milk Truck” – “ไทย-เดนมาร์คคาเฟ่” พร้อมส่งเมนูเครื่องดื่มปั่น-ไอศกรีม Soft Servce

นอกจากจำหน่ายผ่านช่องทางร้านค้า และ Modern Trade แล้ว ยังได้พัฒนาช่องทางการขายใหม่ 2 รูปแบบ ที่มาพร้อมกับการพัฒนาเป็นเมนูเครื่องดื่ม และของหวานที่ทำมาจากนมโคสดไทย-เดนมาร์ค ซึ่งเป็นการครีเอทการบริโภคใหม่ และปรับตัวให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือ

1. “ร้านไทย-เดนมาร์ค” เป็นร้านค้ากึ่งคาเฟ่ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของไทย-เดนมาร์ค และให้บริการเมนู นมสดเย็น นมสดปั่น และไอศกรีม Soft Serve โดยภายในร้านมีที่นั่งให้ลูกค้า เน้นขยายไปตามสถาบันการศึกษา เพื่อขยายตลาดสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งกลุ่มนักเรียน – นักศึกษา ซึ่งเป็น Core Target ของผลิตภัณฑ์นม

วัตถุประสงค์ของการเปิด “ร้านไทย-เดนมาร์ค” ไม่เพียงแต่เป็น Touch Point ในการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงแล้ว ขณะเดียวกันยังเป็นเหมือน Lab พัฒนา และทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

Resize Thai-Denmark_17 (Facebook Thai-Denmark Milk Shop KMUTT)
Photo Credit : Facebook Thai-Denmark Milk Shop KMUTT

2. “ไทย-เดนมาร์ค Milk Truck” หลังจากเกิดโครงการร้านไทย-เดนมาร์คในสถาบันการศึกษาแล้ว แต่ยังคงมีช่องว่างในการเข้าถึงผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้เอง อ.ส.ค. จึงได้พัฒนาโมเดลการขายใหม่ ในรูปแบบ “หน่วยรถเคลื่อนที่” ที่จะไปตามสถานที่ต่างๆ โดยสินค้าที่จำหน่าย มีทั้งเมนูนมสดเย็น นมสดปั่น ไอศกรีม Soft Serve และยังได้พัฒนาเครื่องดื่มเมนูใหม่ๆ ต่อเนื่อง โดยใช้นมโคสด 100% เป็นวัตถุดิบ

Resize Thai-Denmark_12 (Facebook Thai-Denmark Fan Club)
Photo Credit : Facebook Thai-Denmark Fan Club

จากสายพระเนตรอันยาวไกลของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อกว่า 5 ทศวรรษที่แล้ว ทำให้คนไทยทุกวันนี้ได้มีอาชีพการเลี้ยงโคนมที่มั่นคง-ยั่งยืน และคนไทยอีกหลายสิบล้านคน ได้มีผลิตภัณฑ์นมคุณภาพของไทย บริโภคเพื่อเสริมสร้างสุขภาพแข็งแรง

 

ที่มา : ประวัติไทย-เดนมาร์ค “55 ปี อ.ส.ค.” 

 


  • 3.7K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ