รายงานสถิติ Thailand Digital Stat 2021 จาก We Are Social

รายงานสถิติ Thailand Digital Stat 2021 จาก We Are Social

รายงานสถิติ Thailand Digital Stat 2021 จาก We Are Social ฉบับล่าสุดที่นักการตลาดไทยหลายคนรอคอยว่าจะคลอดออกมาเมื่อไหร่ จริงๆ ออกมาสักสัปดาห์หน่อยๆ แล้วครับ แต่ด้วยสัปดาห์ที่ผ่านมาผมช้าเพราะมัวแต่ติด Clubhouse มากมายจนแทบไม่มีเวลานอน มาวันนี้ตั้งใจสรุปและอธิบายถึงบริบทเบื้องหลังของ Data แต่ละหน้า ถ้าพร้อมแล้วเรามาลุยอ่านไปด้วยกัน ผมขอสรุปและคัดมาเฉพาะส่วนที่สำคัญสำหรับผม ส่วนตอนท้ายบทความมีลิงก์ให้ดาวน์โหลดไปใช้งานแบบเต็มๆ ถ้าพร้อมแล้วขอเริ่มเข้าสู่รายงานข้อมูลสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตและออนไลน์ของคนไทยในปี 2021 เลยครับ

1. ภาพรวมการออนไลน์ของคนไทยในปี 2021

เมื่อเทียบตัวเลขอัตราการเกิดที่ต่ำกว่าปีก่อนประมาณ 10% ในปี 2020 มีคนเกิดใหม่ราวๆ 18x พันคน แต่มาปีนี้เหลือแค่ 163,000 คนเท่านั้น ประเทศไทยน่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้มาก ส่วนจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือก็เริ่มลดลง แต่ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจและไม่เหมือนปีก่อนๆ คือจำนวนคนที่เข้ามาใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงกว่าคนที่เข้าสู่โซเชียลมีเดีย และตัวเลขนี้ก็สูงขึ้นกว่าปีก่อนมาก ส่วนหนึ่งผมว่าน่าจะมาจากช่วงโควิด19 และก็บรรดาภาครัฐที่ออกแคมเปญ เราไม่ทิ้งกัน เราชนะ ไทยชนะ คนละครึ่ง ยิ่งเป็นตัวผลักดันให้คนไทยจะต้องออนไลน์ให้ได้ถ้าอยากจะรับสิทธิ์ช่วยเหลือต่างๆ

แต่ก็จะเห็นว่ายังมีคนอีกสิบกว่าล้านคนที่ยังไม่ได้ออนไลน์ ซึ่งก็เหมือนที่เราเห็นตามข่าวว่ายังมีชาวบ้านอีกไม่น้อยที่ยังต้องออกจากบ้านไปลงทะเบียนรับสิทธิ์ช่วยเหลือที่ธนาคารครับ

2. สรุปภาพรวมประชากรไทยในปี 2021

ในต้นปี 2021 คนไทยเกือบแตะ 70 ล้านคนแล้ว โดยมีสัดส่วนของผู้หญิงมากว่าชายเล็กน้อย แต่ที่น่าสนใจคืออายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 40.3 ปีแล้ว ผมถือว่าใครน้อยกว่านี้ถือว่ายังไม่แก่แล้วกัน(ผมคนนึง) และคนไทยกว่า 51.8% อยู่ตามหัวเมือง นั่นหมายความว่ากรุงเทพจะยิ่งหนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องการย้ายเข้าสู่หัวเมืองหรือเมืองหลวงก็เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกครับ

เคยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ประชากรโลกกว่า 70% จะอาศัยอยู่ในเมืองหลวงหรือหัวเมืองใหญ่ นั่นหมายความว่าเราต้องออกแบบเมืองกันใหม่ว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้คนมากมายสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสะดวกสบายไม่ทำลายสุขภาพกายและสุขภาพจิต

3. คนไทยใช้ Smartphone 98.9% และใส่ Smart Watch 21.9% ในปี 2021

ตัวเลขการเป็นเจ้าของโทรศัพท์ Smartphone สูงขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ 98.9% ซึ่งก็เข้าใกล้ตัวเลข 100% ที่ทุกคนเป็นเจ้าของ Smartphone แต่ในขณะเดียวกันการเข้าถึงอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์ก็ยังมีไม่ถึง 50% ในวันนี้ ต้องบอกเลยว่าในช่วงล็อคดาวน์รอบแรกเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเจ้าเชื้อไวรัสโควิด19 ผมในฐานะอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งก็พบว่านักศึกษาหลายคนไม่ได้มีคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คกันทุกคน และนักศึกษาหลายคนก็ไม่ได้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่จะเข้าถึงการเรียนออนไลน์อย่างไม่กระตุกหรือติดขัดได้

น่าสนใจคือคนไทยในปี 2021 เป็นเจ้าของ TV ที่ Steaming หรือดูออนไลน์ได้ถึง 8.4% แล้ว สารภาพตรงๆ ผมคนนึงที่มี TV ไว้เปิดดู Netflix เป็นหลัก ลำพังถ้าจะดูช่องข่าวรายการธรรมดาผมยังดูผ่านการ Streaming ด้วยแอปในมือถือแล้วส่งมาออกจอทีวีเอาเลยครับ

น่าสนใจกว่านั้นคือคนไทยในปี 2021 กว่า 21.9% เป็นเจ้าของ Smart Watch หรือ Wearable ต่างๆ อย่างที่เราเริ่มเห็นกันว่าอุปกรณ์พวกนี้มีขายในราคาถูกลงมาก เอาเป็นว่าบางครั้งสามารถหาซื้อได้ในราคาไม่ถึงพันบาท ก็สามารถนับก้าวเดิน นับอัตราการเต้นของหัวใจ นับการเผาผลาญแคลอรี่ได้สะดวกสบายจริงๆ

4. คนไทยออนไลน์วันละ 8 ชั่วโมง 44 นาทีในปี 2021

ชั่วโมงการออนไลน์ของคนไทยเหมือนจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนที่อยู่ระดับ 9 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในขณะเดียวกันการออนไลน์ของคนไทยก็ไปเพิ่มในส่วนอื่นๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะฟังเพลงหรือเล่นเกม หรือการดูทีวีทางออนไลน์ครับ

5. คนไทยออนไลน์ผ่านมือถือวันละ 5 ชั่วโมง 7 นาที ในปี 2021

6. ค่าเฉลี่ยความเร็วอินเทอร์เน็ตของคนไทยในปี 2021

ในปีที่ผ่านมาความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของคนไทยพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกด้าน ในด้าน 4G หรือ 5G เองก็ทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของคนไทยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบเท่าตัว มาอยู่ที่ 51.75 MBPS

ส่วนเน็ตบ้านของคนไทยก็เร็วเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างน่าตกใจ ด้วยความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 308.35 MBPS ต่อวินาที(บ้านผม 1GB ไปแล้ว) ซึ่งความเร็วของเน็ตบ้านเราเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 146.4% เลยทีเดียวครับ

7. สัดส่วน Share of Web Traffic by Device

เอาง่ายๆ ก็คือสัดส่วนของอุปกรณ์ที่เข้ามายังเว็บของไทยในปี 2021 มาจากไหนบ้าง จากภาพรวมจะเห็นว่าโทรศัพท์มือถือยังคงเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 60.2% แต่ในขณะเดียวกันคอมพิวเตอร์ก็ตามมาไม่น่าเกลียดอยู่ที่ 37.4% ส่วนอุปกรณ์จำพวก Tablet สัดส่วนกลับน้อยมากเพราะมีแค่ 2.3%

แต่อยากจะบอกว่าส่วนใหญ่คนเข้าเว็บการตลาดวันละตอนด้วยคอมพิวเตอร์นะครับ

8. Browser ที่คนไทยนิยมใช้ในปี 2021

อันดับหนึ่งเป็น Chrome ตามมาด้วย Safari ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจาก iPhone เป็นหลัก แล้วก็ตามมาด้วย FireFox แต่ที่น่าสนใจคือ Samsung internet ที่ได้ share ถึง 3.2% ครับ ส่วน Internet Explorer มีแค่ 0.6% เท่านั้น

ดังนั้นถ้าจะทำเว็บใหม่ในปีนี้ก็รู้แล้วนะครับว่าต้องโฟกัสกับ Device อะไรและ Browser ตัวไหน อย่ามัวไปทุ่มทุนกันทุก Browser มากเกินไปซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ผู้ใช้ส่วนใหญ่อีกต่อไปครับ

9. สถิติเว็บไซต์ที่คนไทยเข้ามากที่สุดในปี 2021

อันดับหนึ่งตลอดการยังคงเป็น Google ซึ่งมีการเข้ามากถึง 556 ล้านครั้ง ตามมาด้วย YouTube และ Facebook ส่วน Pantip เว็บบอร์ดชื่อดังของไทยติดอันดับ 5 ด้วยจำนวนการเข้าชมมากกว่า 176 ล้านครั้ง น่าสนใจกว่านั้นคือ Shopee.co.th ที่ติดอันดับ 8

ส่วนเว็บ 18+ ก็ติดมาถึง 3 อันดับ แต่ไม่แน่ใจว่าในปีหน้า Pornhub จะหายไปจาก top 20 เว็บคนไทยนิยมเข้าหรือไม่

แต่ที่น่าสนใจคือ True ID ที่ขยับขึ้นมาติดอันดับ 18 ของเว็บยอดนิยมที่คนไทยชอบเข้าในปี 2020 หรือ 2021 ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ต้องชื่นชมทีมงานของ True ที่ผลักดัน True ID ให้ติดตลาดการท่องเว็บของคนไทยจนได้ครับ

10. เจาะลึกข้อมูลสถิติเว็บยอดนิยมที่คนไทยชอบเข้าในปี 2021

ข้อมูลหน้านี้เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มาก เพราะแต่เดิมทุกปีที่ผ่านมาไม่เคยมีส่วนที่แยกลงลึกในรายละเอียดขนาดนี้เลย

YouTube เป็นเว็บที่มีคนเข้าผ่านคอมพิวเตอร์มากที่สุดจาก 10 เว็บยอดนิยม ตามมาด้วย Facebook และ Shopee คาดว่าน่าจะด้วย Experience ที่ดีกว่า และอีกอย่างทั้ง 3 แพลตฟอร์มนี้ก็ล้วนมีแอปประจำตัวที่ใครๆ ก็มีติดเครื่องกัน

ส่วน Thairath จะเห็นว่าคนส่วนใหญ่เข้าผ่านมือถือเป็นหลัก น่าจะด้วยการทำ SEO ที่เก่งมาก เรียกได้ว่าเสิร์จหาอะไรก็เจอโดยเฉพาะคำว่าหวยนั่นเอง

น่าสนใจตรงการแยกข้อมูลการเข้าเว็บตามเพศในรายงาน Thailand Digital Stat 2021 ของ We Are Social ในปีนี้ทำให้เห็นบริบทบางอย่างของการเล่นอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่น่าสนใจ

ผู้ชายเข้า Google มากกว่าผู้หญิงหรือแทบจะทุกเว็บเลยก็ว่าได้ ส่วนที่หนักสุดๆ คือ Gool.in.th ที่มีผู้ชายเข้าถึง 74.5% แต่ที่เซอร์ไพรส์กว่านั้นคือผู้หญิงถึง 25.5% ก็เข้าเว็บนี้ด้วย อยากรู้เลยครับว่าทำไม

11. สัดส่วนของแต่ละเว็บที่คนไทยนิยมเข้ามาจาก Source ไหน

ต้องยอมรับเลยว่ารายงาน Digital Stat 2021 ของ We Are Social ในปีนี้นั้นลึกกว่าทุกปีจริงๆ เพราะมีการบอกให้รู้ว่าแต่ละเว็บยอดนิยมที่คนไทยชอบเข้าในปี 2021 นั้นมาจากช่องทางไหนบ้างครับ

12. คำที่คนไทยค้นหาใน Google มากที่สุดในปี 2020-2021

หนัง หวย บอล เพลง และ แปล ยังคงติดคำค้นหายอดนิยมของคนไทยเป็นประจำทุกปี แต่ที่เพิ่มมาอย่างน่าสนใจก็คือ เราไม่ทิ้งกัน ที่ติดขึ้นมาเพราะใครๆ ก็ต้องการเงินเยียวยาช่วยเหลือในช่วงล็อคดาวน์ครับ

13. พฤติกรรมการเสิร์จของคนไทย ที่เปลี่ยนไปเป็นใช้เสียงพูดถาม และใช้ค้นหาด้วยภาพ

จะเห็นว่าอัตราการใช้พูดถาม Google เพื่อค้นหาข้อมูลที่ตัวเองสนใจของคนไทยในปี 2020 นั้นมากถึง 48.8% หรือเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ส่วนการค้นหาด้วยรูปภาพก็มากกว่า 51.4% ของคนไทยไปแล้ว ส่วนคนไทยกว่า 55.5% ก็ยังมีการค้นหาข้อมูลผ่าน Social media มากขึ้น น่าสนใจว่า Facebook Search น่าจะขยับขึ้นมาติดอันดับเครื่องมือของนักการตลาดมากขึ้น รอดูกันว่าทาง Facebook จะขยับอย่างไรเพราะทาง Facebook เองก็หวังจะได้ส่วนแบ่งจากตลาด Search Engine มานานจาก Google อยู่แล้ว

14. คนไทยชอบเสพคอนเทนต์แบบไหนบนออนไลน์ในปี 2021

99% ชอบดูวิดีโอออนไลน์
67.5% ชอบฟังเพลงออนไลน์
51.4% ชอบดู Influencer
51% ชอบฟังวิทยุทางออนไลน์
44.2% ชอบฟัง Podcast

ผมเชื่อว่าปีหน้าคงมี Clubhouse แน่นอนครับ

15. พฤติกรรมการเล่นเกมของคนไทยในปี 2021

ต้องบอกว่าเกมหรือ e-sport ในไทยนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป และยิ่งดูจากข้อมูลล่าสุดของ We Are Social ก็บอกให้รู้ว่าคนไทยนิยมเล่นเกมไม่น้อย โดยอุปกรณ์หลักที่คนไทยนิยมใช้เล่นเกมคือโทรศัพท์มือถือ เพราะมากถึง 90.7%

ตามมาด้วย Laptop หรือ Desktop 36.7% ตามมาด้วย Game Console 17.7% น่าสนใจคือ Tablet ถูกเอามาใช้กับการเล่นเกมมากถึง 24.7% แต่ก็ไม่แปลกใจเมื่อนึกย้อนไปก็ทำให้เห็นว่าเด็กสมัยนี้ล้วนมี Tablet เป็นของตัวเองคนละเครื่อง แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือการเล่นเกมผ่าน VR ในไทยเริ่มมีตัวเลขแตะสองหลักอยู่ที่ 10% แล้วครับ

ใครที่สนใจเรื่องเกมและการตลาด บอกได้เลยว่าควรค่าแก่การทดลองและลงทุนอย่างยิ่งครับ

16. สถิติอุปกรณ์ Smart Home หรือ Smart Device ในไทย 2021

จากรายงานล่าสุดบอกให้รู้ว่ากว่า 2.33 ล้านบ้านเรือนในไทยนั้นมีอุปกรณ์จำพวก Smart Device หรือ Smart Home อยู่ในบ้านเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคิดเป็นมูลค่าตลาดกว่า 68.7 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็แบ่งสัดส่วนแยกย่อยไปตามอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน หรือระบบล็อคดิจิทัลก็ตามที่ได้ส่วนแบ่งเป็นเงินไม่น้อย ตามมาด้วยทีวี กับหลอดไฟ(บ้านผมมี) และอุปกรณ์เรื่องของพลังงาน(กำลังจะติด Solar Cell อยู่เหมือนกัน)

17. พฤติกรรมคนไทยกับเรื่อง Online Privacy

จะเห็นว่าคนไทยเริ่มใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นทุกที เรากลัวว่าเราจะติดมือถือมากเกินไป เรากังวลว่าข้อมูลของเราจะถูกเอาไปใช้แบบไหน เราติดตั้งตัวบล็อคแอดไม่ลดลง และเราเริ่มขยันเคลียร์ Cookies เว็บไซต์ต่างๆ บ่อยขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา

18. พฤติกรรมการเล่นโซเชียลมีเดียของคนไทย 2021

คนไทยใช้เวลากับโซเชียลมีเดียวันละ 2 ชั่วโมง 48 นาที และใช้โซเชียลมีเดียในการทำงานมากถึง 47% แต่ที่น่าสนใจคือเฉลี่ยแล้วคนไทยที่เล่นโซเชียลมีเดียมักจะมีทั้งหมด 10 Account

นับง่ายๆ ตัวผมมี 2 Facebook 1 Instagram 1 Twitter 2 YouTube 1 Clubhouse แล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่ที่มีพวกแอคหลุมอื่นๆ อีกจะนับเบิ้ลไปได้ขนาดไหน

19. YouTube แซงหน้า Facebook ในฐานะ Social media platform ที่มีคนไทยใช้งานมากที่สุดในปี 2021

ข้อมูลหน้านี้น่าสนใจมากครับ แต่เดิมที Facebook ครองอันดับหนึ่งในใจคนไทยมาตลอด แต่มาปีนี้ในปี 2020-2021 เป็นปีแรกที่ Facebook ต้องเสียแชมป์ให้กับ YouTube เป็นครั้งแรก อยากรู้เลยครับว่าปีหน้า Clubhouse ในไทยจะเป็นอย่างไร แล้ว Facebook จะกลับขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งได้ไหม อันนี้ต้องติดตามกันครับ

20. สถิติจำนวนผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทยปี 2020-2021

ผู้ใช้ Facebook ในไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ที่ 51 ล้านคนเมื่อต้นปี 2021 โดยสัดส่วนชายหญิงไม่ได้ต่างกันมาก โดยมีผู้หญิงใช้งานมากกว่าเล็กน้อยครับ

และส่วนใหญ่ก็ยังคงเข้าใช้งานผ่านมือถือเท่านั้นเป็นหลัก ดังนั้นการทำคอนเทนต์ต้องคิดถึงการมองเห็นบนมือถือเป็นหลักนะครับ ไม่ใช่ออกแบบบนคอมโดยลืมคิดถึงข้อนี้ไป

21. ค่าเฉลี่ย Facebook Engagement ในแต่ละประเทศโพสของไทย

นี่น่าจะเป็นข้อมูลสำคัญที่นักการตลาดและเจ้าของธุรกิจทุกคนอยากรู้ คืออยากรู้ว่าโพสของตัวเองเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ แล้วดีหรือแย่กว่าเขา ซึ่งค่าเฉลี่ย Engagement สำหรับโพสแต่ละประเภทก็แตกต่างกันไป

ถ้าโพสเป็นรูปจะได้ Engagement เฉลี่ยที่ 0.2%
ถ้าโพสเป็นวิดีโอจะได้ Engagement เฉลี่ยที่ 0.07% (ดรอปลงอย่างน่าตกใจ)
ถ้าโพสแบบลิงก์จะได้ Engagement เฉลี่ย 0.03%
และถ้าโพสแบบสเตตัสทั่วไปจะได้ Engagement เฉลี่ย 0.11%

ดังนั้นถ้าใครอยากรู้ว่าตัวเองทำผลงานในแต่ละโพสได้ดีแค่ไหนของการทำ Social media Content Marketing ก็หน้านี้เป็นตัวเปรียบเทียบผลงานในการขอขึ้นเงินเดือนหรือระวังถูกตัดโบนัสนะครับ

22. ข้อมูลสถิติผู้ใช้งาน YouTubeไทยในปี 2021

มีความต่างกับ Facebook ในแง่ของสัดส่วนเพศที่เข้ามาใช้งาน จะเห็นว่ามีผู้หญิงมากกว่าชายประมาณหนึ่ง ส่วนจำนวนผู้ใช้งาน YouTube ในไทยอยู่ที่ 37.3 ล้านคนครับ

23. คนไทยค้นหาหรือชอบดูอะไรบน YouTube 2021

สิ่งที่คนไทยชอบค้นหาเพื่อดูบน YouTube ในอันดับแรกๆ ก็ยังคงเป็น เพลง หนัง การ์ตูน และผี ที่น่าสนใจคือมีคำว่า “เก่า” เข้ามา น่าสนใจตรงคำว่า “วิบวับ” ซึ่งก็เป็นอีกเพลงที่ได้ยินบ่อยมากในปีที่แล้ว และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ TikTok ติดเข้ามาเป็นปีแรก ซึ่งจะเห็นว่า Content Journey ของ TikTok นั้นไม่ได้อยู่แค่ใน TikTok แต่ถูกกระจายออกไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่คนไทยนิยมใช้ควบคู่กันไป

24. สถิติผู้ใช้งาน Instagram 2021 ในไทย

ในต้นปี 2021 มีคนไทยใช้งาน Instagram กว่า 16 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 ล้านคน หรือคิดเป็น 6.7% และมีสัดส่วนของเพศหญิงเยอะกว่าชายอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นพวกแบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าต่างๆ ต้องห้ามพลาดเจาะตลาดผ่าน Instagram ครับ

25. สถิติผู้ใช้งาน LinkedIn ของไทย 2021

LinkedIn นับเป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับคนหางาน แม้จะมีจำนวนผู้ใช้ไม่มาก อยู่ที่ 3.2 ล้านคน แต่คุณภาพของ Audience ที่ใช้งานนั้นแน่นมากจริงๆ โดยมีผู้ชายเป็นผู้ใช้งานหลักถึง 56.3% ครับ

26. สถิติการใช้ Twitter คนไทย 2021

น่าแปลกใจที่มีตัวเลขผู้ใช้งาน Twitter ในไทยแค่ 7.35 ล้านคน ซึ่งในความรู้สึกส่วนตัวผมคิดว่าจะเยอะกว่านี้เสียอีก โดยมีสัดส่วนผู้ใช้งานที่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงค่อนข้างชัดเจนประมาณหนึ่ง ซึ่งก็แปลกใจอีกรอบเมื่อมักจะเห็นเทรนด์แฮชแท็กที่เป็นสาย Y ไม่ก็เกาหลีเป็นส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าผู้ชายส่วนใหญ่ที่เล่นไม่ชอบโพสหรืออย่างไรนะครับ

27. สถิติข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์มือถือของคนไทยในปี 2021

จากข้อมูลจะเห็นว่าคนไทยมีจำนวนโทรศัพท์มือถือมากกว่าจำนวนประชากรอย่างเห็นได้ชัด และมีผู้ใช้งานแบบรายเดือนอยู่ที่ 28% ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยจะใช้แบบเติมเงินเป็นหลัก

28. สัดส่วนระบบปฏิบัติการโทรศัพท์มือถือหรือ Mobile OS ของไทย 2021

คนไทยแค่ 25% เท่านั้นที่ใช้ iOS หรือโทรศัพท์มือถือตระกูล iPhone ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยใช้ Andriod ก็ตามภาพรวมของตลาดผู้ใช้งานมือถือทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัด

แต่ไม่แน่นะครับว่าปีหน้าผู้ใช้งาน iPhone อาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้วยการมาของ Clubhouse ที่ทำให้หลายคนพยายามหา iPhone มาร่วมแพลตฟอร์มนี้เพราะไม่อยากหลุดเทรนด์ FOMO ก็เป็นได้

29. คนไทยใช้เวลาออนไลน์บนมือถือเพิ่มขึ้น 25% รวมเป็น 58,810 ล้านชั่วโมง!

ข้อมูลหน้านี้แม้จะมีแต่ส่วนของการใช้งาน Andriod เท่านั้น แต่ก็ยังน่าสนใจตรงที่เมื่อนับจำนวนชั่วโมงการใช้งานของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ Andriod ทั่วประเทศไทยในปี 2020 ก็มีจำนวนมากถึง 58,810 ล้านชั่วโมง!

เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 25% น่าจะมาจากช่วงล็อคดาวน์เพราะโควิด19 และมีการดาวน์โหลดแอปต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่า 2.15 พันล้านครั้ง ซึ่งนับรวมเป็นยอดการใช้เงินบนแอปรวมถึง 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็น่าจะเกือบ 3 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว!

30. แอปที่คนไทยนิยมใช้ในปี 2021

พฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือของคนไทยในปี 2020 เมื่อเจาะลึกลงไปว่าเราใช้แอปอะไรบ้างก็จะเห็นว่าแอปแชทกับโซเชียลมีเดียตีคู่กันมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยแอปดูวิดีโอ และแอปช้อปปิ้ง(น่าจะมาจากช่วงโควิด19) ส่วนแอปประเภทสุขภาพก็เพิ่มขึ้นมาอย่างน่าสนใจครับในปีนี้

31. คนไทยใช้ Smartphone อย่างไรบ้าง

ในปีที่ผ่านมาจากการล็อคดาวน์ส่งผลให้พฤติกรรมหลายๆ อย่างของเราเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน เราเริ่มหันมาใช้มือถือเพื่อการ LIVE หรือ Video Call มากขึ้น เราสแกน QR Code แทนการใช้เงินสดอย่างเห็นได้ชัด เรายอมจ่ายเงินเพื่อค่าคอนเทนต์ต่างๆ และเราก็เริ่มหันมาใช้ E-ticket กันอย่างจริงจังครับ

32. แอปที่คนไทยใช้บ่อยที่สุดในปี 2020-2021

แอปที่คนไทยใช้บ่อยที่สุดยังคงเป็น Facebook ตามมาด้วย LINE แต่ที่น่าสนใจคือมี 2 App Shopping ติดมาคือ Lazada กับ Shopee แซงหน้า Instagram ด้วยซ้ำ

ส่วน K-Plus ที่เป็นแอปธนาคารก็ติดอันดับ 7 แอปยอดนิยมของคนไทยในปีที่ผ่านมา ตามมาด้วย SCB Easy ในอันดับที่ 9 ต้องยอมรับว่าสองธนาคารนี้สร้าง Digital Experience ได้ดีจริงๆ

33. TikTok ขึ้นเป็นแอปที่คนไทยดาวน์โหลดเยอะที่สุดในปี 2020!

ถามว่าแปลกใจไหมก็ไม่ค่อยแปลกใจ เพราะ TikTok ถือว่ามาแรงมากในระดับโลกจากช่วงล็อคดาวน์ที่ผ่านมา เพราะเมื่อคนเริ่มเบื่อคนก็เริ่มอยากหาอะไรสนุกๆ ทำ จึงทำให้ TikTok นั้นโตขึ้นมาเองแบบ Organic ซึ่งต้องรอดูว่าพฤติกรรมการใช้งานจะเป็นอย่างไรในปีนี้

น่าสนใจที่ Food Panda เองก็ติดอันดับแอปที่มีการดาวน์โหลดสูงที่สุดในปี 2020 ในอันดับที่ 9 เพราะในช่วงนั้นใครๆ ก็เลือกที่จะสั่งอาหารมาแทนที่จะออกไปซื้อนอกบ้าน เป็นช่วงเวลาแห่งแอป Food Delivery ที่โตแบบก้าวกระโดดก็ว่าได้ครับ

34. Tinder หายไปจากแอปที่คนไทยยอมจ่ายเงินให้มากที่สุด! และ MEB Mobile E-Books ก็ก้าวขึ้นมาติดอันดับ 3 ในปี 2020

ปกติทุกปีผมจะเห็น Tinder ติดอันดับแอปที่คนยอมจ่ายเงินให้เป็นประจำ แต่ปีนี้กลับหายไปอย่างน่าตกใจ อาจจะเพราะด้วยโควิด19 ทำให้เราไม่กล้าออกไปเจอคนแปลกหน้าแบบง่ายๆ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเค้าจะปลอดเชื้อหรือไม่ แต่น่าสนใจคือ LINE กลับมาเป็นอันดับหนึ่งอีกครั้ง

และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ MEB Mobile E-Books พุ่งทะยานขึ้นมาติดอันดับ 3 แอปที่คนไทยใช้เงินด้วยมากที่สุดในปี 2020 ที่ผ่านมา อยากรู้เลยครับว่าหนังสือแบบไหนที่คนไทยชอบซื้ออ่าน ไว้จะหาโอกาสชวน MEB มาคุยด้วยในการตลาดวันละตอนเร็วๆ นี้ครับ

35. สถิติข้อมูลทางการเงินของคนไทยในปี 2021

ชุดข้อมูลสถิติการเงินของคนไทยในปี 2020 ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร และคนไทยมีแค่ 9.8% เท่านั้นที่มีบัตรเครดิตของตัวเอง โดยการใช้เงินทางออนไลน์ของไทยยังมีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน แต่ในขณะเดียวกันก็บอกให้รู้ว่าบริการเก็บเงินปลายทางหรือ COD เป็นอะไรที่สำคัญมากของการทำธุรกิจออนไลน์ในบ้านเรา

36. การช้อปออนไลน์หรือ E-commerce กลายเป็นเรื่องปกติของคนทุกวัย

ข้อมูลหน้านี้ถือว่าละเอียดและดีต่อคนที่ขายของออนไลน์มาก จะเห็นได้ว่าตัวเลขการช้อปออนไลน์ของคนไทยนั้นสูงมากสำหรับคนทุกวัยแทบไม่มีข้อแตกต่าง ที่ดูเหมือนจะแตกต่างเล็กน้อยก็คือกลุ่มคนที่อายุ 55-64 ปี แต่ก็มีการช้อปออนไลน์ถึง 71.7% ในรอบเดือนที่ผ่านมา นั่นก็ไม่ได้ถือว่าต่ำอย่างน่าเกลียดเมื่อเทียบกับช่วงวัยและช่วงอายุอื่นแต่อย่างไรครับ

37. พฤติกรรมการใช้เงินบน E-commerce ของคนไทยว่าหมดไปกับอะไรเป็นส่วนใหญ่

น่าแปลกใจที่การเดินทาง ท่องเที่ยว และโรงแรมยังคงนำโด่ง ทั้งที่ข้อมูลอื่นๆ ก็กราฟตกหมดแล้ว แต่เมื่อดูตัวเลขที่เป็นเปอร์เซ็นต์นั้นเห็นได้ชัดว่าแม้ตัวเลขจะดูสูงแต่ก็ลดลงไปถึง 43.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่น่าสนใจคือพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มากถึง 2.4 พันล้านเหรียย หรือคิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 7-8 หมื่นล้านบาท

ตามมาด้วยสินค้าประเภทอาหารและของใช้ส่วนบุคคล ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนล็อคดาวน์ถึง 74.3% ตามมาด้วยของเล่น แล้วค่อยตามมาด้วยสินค้าประเภทแฟชั่น ก็ล็อคดาวน์นานไม่รู้จะแต่งตัวไปอวดใครนิครับ

38. คนไทยเสิร์จหาอะไรเพื่อช้อปปิ้งมากที่สุดในปี 2021

น่าสนใจว่ากระเป๋าเป็นอะไรที่คนไทยค้นหาเพื่อช้อปปิ้งมากที่สุดในปี 2020 ตามมาด้วยโทรศัพท์และก็แบรนด์ OPPO ตามมาด้วย Samsung และ iPhone ตามมาด้วยรองเท้าและของเล่นแล้วก็โน๊ตบุ๊ค เข้าใจได้ว่าเอาไว้ทำงานในช่วงล็อคดาวน์ครับ

39. คนไทยช้อปออนไลน์เพิ่มขึ้น 42.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน

40. คนไทยใช้เงินผ่านมือถือกับการซื้อ Digital Content และ Food Delivery

ในช่วงล็อคดาวน์หลายคนก็หันมาซื้อหนังออนไลน์หรือไม่ก็สมัครสมาชิกพวก Video Online Streaming ต่างๆ มากมาย ตามมาด้วยการใช้เงินเพื่อสั่งอาหารให้มาส่งที่บ้าน จึงกลายเป็นสองปัจจัยหลักที่คนไทยใช้เงินผ่านมือถือในปีที่ผ่านมาครับ

41. พฤติกรรมการเรียนรถผ่านแอปที่ลดลงของคนไทย

จะเห็นว่าการเรียนรถผ่านแอปจากเดิมที่เคยเพิ่มขึ้นทุกปีนั้นลดลงอย่างดิ่งลงเหวตั้งแต่ล็อคดาวน์มาก เพราะเรารู้สึกไม่สบายใจที่จะนั่งรถกับคนแปลกหน้า หลายคนก็เริ่มมองหารถยนต์ของตัวเองไว้ใช้เพื่อความปลอดภัยว่าจะห่างไกลโควิด19 มากขึ้น

42. สถิติข้อมูลการสั่ง Food Delivery ของคนไทยเพิ่มขึ้น 38.2%

ข้อมูลหน้านี้น่าสนใจเพราะบอกให้รู้ว่ามีคนไทยที่สั่งอาหารผ่านแอปถึง 9.97 ล้านคน โดยคิดเป็นเงินรวมราวๆ 274 ล้านเหรียญ คิดเป็นเงินไทยก็เกือบหมื่นล้านบาทอยู่ครับ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 38.2% จากปีที่แล้ว แต่ยอดในการสั่งยังไม่เยอะมาก เพราะเป็นมีแค่ 28 เหรียญหรือราวๆ พันบาทต่อหัวเท่านั้นเอง

43. โฆษณาทาง TV ยังไม่ตายในปี 2021

จากข้อมูลจะเห็นว่าในปี 2021 เองคนไทยรู้จักแบรนด์ใหม่ผ่าน TV เป็นอันดับสองรองจาก Search Engine

แต่ในขณะเดียวกันเวลาคนจะหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ตัวเองสนใจก็จะเลือกใช้การเสิร์จหาผ่าน Google รองมาคือ Social media แต่ที่น่าสนใจคือหาข้อมูลผ่านแอปต่างๆ ไม่รู้ว่าแอปที่ใช้หาข้อมูลนั้นเป็นแอปช้อปปิ้งเองหรือแอปของแบรนด์ที่ตัวเองสนใจเหมือนกันนะครับ

44. งบโฆษณาช่องทางใดโตในปี 2021 ของไทย

จากข้อมูลจะเห็นว่างบการตลาดในด้านของ Search นั้นเพิ่มขึ้นเยอะที่สุด รองมาคือ Video ad ส่วนงบประเภทประกาศตามเว็บลดลงถึง 7.7% ที่ดูจะไม่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่คือ Digital Banner แต่งบที่เยอะที่สุดก็คือ Digital Ad ที่มากถึง 767 ล้านเหรียญครับ

สรุป 44 ข้อมูลสถิติ Thailand Digital Stat 2021 ของคนไทยที่น่าสนใจจาก We Are Social

จะเห็นว่าตั้งแต่โควิดเข้ามาเกิดการล็อคดาวน์ หลายสิ่งที่คนไทยเคยทำก็เปลี่ยนไปมากเมื่อเทียบกับปี 2019 ก่อนหน้า เราไม่เคยสั่งอาหารทางแอปจริงจังก็กลายเป็นเรื่องปกติ และเราก็ออนไลน์เยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแถมไม่ได้ลดลงกลับไปเท่าเดิมแม้จะเลิกล็อคดาวน์แล้ว

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า New Normal และ Next Normal ที่นักการตลาดไทยต้องรีบรู้และปรับตัวให้ไว เพราะถ้าคุณปรับตามผู้บริโภคไม่ทัน สุดท้ายธุรกิจคุณก็จะหายไปโดยไม่มีใครช่วยได้นอกจากตัวคุณเองครับ

ดาวน์โหลดรายงานข้อมูลสถิติออนไลน์ของคนไทย Thailand Digital Stat 2021 ของ We Are Social ไปใช้งานได้ที่ลิงก์นี้ > http://bit.ly/3dKG3L2

อ่านรายงานของ We Are Social อื่นๆ ในการตลาดวันละตอน > https://www.everydaymarketing.co/?s=we+are+social

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่