Loading...

“สื่อนั้นสำคัญไฉน” ความสำคัญของสื่อ และสิ่งที่สื่อขาดหายไปในปัจจุบัน

การสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกคน และยิ่งในปัจจุบันยังมีช่องทางมากมายให้เราได้สื่อสารกัน แน่นอนว่า “สื่อหลัก” ยังคงเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในการสื่อข่าวสารได้ในวงกว้าง

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2563

  

     การสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกคน และยิ่งในปัจจุบันยังมีช่องทางมากมายให้เราได้สื่อสารกัน แน่นอนว่า “สื่อหลัก” ยังคงเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในการสื่อข่าวสารได้ในวงกว้าง แต่ถึงอย่างไรนั้น ประชาชนอย่างเราก็ทำหน้าที่เป็นสื่อได้ โดยผ่านช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายในยุคดิจิทัล แล้วอย่างนี้สิ่งที่ “สื่อ” ควรหันมาสนใจและคำนึกถึงคืออะไร?

     ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งในแง่สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ผศ.อัญรินทร์ อมรอิสริยาชัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล่าถึงบทบาทสำคัญของสื่อ ณ เวลานี้ว่า สื่อแต่ละช่องแต่ละแพลตฟอร์มมีลีลาการนำเสนอที่ต่างกัน แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ “ลีลาของเราเป็นกลางไหม?” หรือชักนำ คุกรุ่นอารมณ์ นำไปสู่การสรุปความที่อาจไม่เป็นกลางหรือไม่ รวมถึงการให้ข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น COVID-19 ฝุ่น PM 2.5 ภัยแล้ง การถูกเลิกจ้าง ความเห็นต่าง การแสดงออกทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ระดับการส่งผลทั้งกว้างและใกล้ตัวเรา สื่อมวลชนสามารถให้ความรู้แก่ประชาชนได้เพื่อขับเคลื่อนสังคม เช่น การนำเสนอเรื่องราวหรือแนวทางการปรับตัวต่าง ๆ ต่อความไม่แน่นอน

     ปรากฏการณ์ที่ข้อมูลข่าวสารเพิ่มและไหลอย่างรวดเร็วนั้นเกิดจากสื่อที่มีมากขึ้นรวมถึงสื่อออนไลน์ และเป็นธรรมชาติของตัวสื่อที่ง่ายต่อการบริโภคและง่ายต่อการส่งต่อ ทุกวันนี้ บางทีสื่อกระแสหลักยังเอาประเด็นจากสื่อออนไลน์ เอามาต่อยอด มันจึงง่ายมากต่อการสร้างความรู้สึกร่วมต่อคนรุ่นใหม่ เกิดแรงกระเพื่อมไปสู่การแสดงออกของคนรุ่นใหม่เมื่อได้เจอ Community เดียวกัน สื่อเองก็ต้องตามให้ทัน และต้องกรองข่าวให้ดีเสียก่อน

     “ถ้าเราพูดถึงทฤษฎีสื่อที่มันคลาสสิกมากคือสื่อต้องกำหนดวาระข่าวสาร มี Agenda ชัดเจน แต่ตอนนี้เน้นเร็วท่ามกลางสถานการณ์อันเปราะบาง เราต้องมามองใหม่ เรื่องเร็วมันดี เราทำได้เร็วกว่า ลึกกว่า มันดีต่อการ Engage แต่ความสำคัญของมันควรตกเป็นเรื่องรอง ต้องเน้นเรื่องความถูกต้องเหมาะสมและระวังว่ามันส่งผลกระทบต่อใครบ้าง” อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ กล่าว

     ผศ.อัญรินทร์ มองว่า ยอด Engagement สำหรับสื่อออนไลน์เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะส่งผลต่อยอดการมองเห็น ยอดไลก์และฟอลโลว์ ส่งผลต่อระดับความน่าเชื่อถือ เหมือนกับข่าวในโทรทัศน์ ช่องไหนที่ Rating สูง จะดูน่าเชื่อถือ ทำให้คนผลิตเนื้อหาจำเป็นต้องให้คนมีส่วนร่วม มีการคลิกเข้าไปอ่านไปดู แต่จริง ๆ แล้วก็สามารถ Engage แบบอื่นได้ พฤติกรรมการเปิดรับสื่อของคนเปลี่ยนแปลง คนกระหายใคร่รู้มากขึ้น เป็น Information Seeker ทุกคนสนุกกับการสาวสืบข้อมูลออนไลน์เพราะใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ แต่ก็ควรสร้าง Engagement ด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ หัวข้อและเนื้อหาน่าสนใจ มีความถูกต้อง และคนจะ Engage ได้จริงเมื่อคนอ่านได้ประโยชน์จริง ๆ ยกความรู้ อารมณ์ จิตใจ เป็นการ Engage อย่างยั่งยืน สื่อเองก็จะได้ความน่าเชื่อถือในระยะยาว

     เมื่อพูดถึงสิ่งสำคัญที่สื่อขาดหายไป ผศ.อัญรินทร์ ให้ความคิดเห็นว่า สื่อหลายแห่งพยายามปรับตัว จึงเกิดปรากฏการณ์การเล่าข่าวขึ้น ทำให้ข่าวดูสนุกและน่าสนใจ ซึ่งการเล่าข่าวและวิธีการถ่ายทอดเนื้อหาข่าวสารในปัจจุบันมันดุเดือด ในบางสถานการณ์มันเลวร้ายสำหรับใครบางคน หรือเร้าให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ ฉะนั้น สิ่งที่หายไปคือ “ความระมัดระวังในการนำเสนอ” อาจเป็นเพราะโฟกัสเป้าหมายในการสร้าง Engagement หรือ Rating จนมองข้ามรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคนดู เรื่องจำเป็นไม่ถูกขยายความ เช่น การให้ความรู้ในแง่มุมกฎหมายที่ประชาชนควรรู้ สื่อต้องเข้าใจความเห็นต่าง พฤติกรรม ทัศนคติ และผู้ชม เพราะระดับการแสดงออกมันมีมากขึ้น ต้องทันสมัย ทันเทคโนโลยี พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง

     “การเล่า การรายงานข่าว มีกระบวนการรีเช็กตัวเองว่าชี้นำเกินไปหรือไม่ เช่น เรากำลัง Live ในสถานการณ์หนึ่ง โอกาสในการชี้นำหรือปลุกความรู้สึกมันมีสูงมาก สื่อต้องรับผิดชอบต่อสิ่งพวกนี้ เพราะสื่อมีส่วนในการบ่มเพาะของทุก Generation ที่ดูอยู่ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ Reach น้อย แต่ Impact มาก” ผศ.อัญรินทร์ กล่าว

     อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ ฝากถึงสื่อรุ่นใหม่ว่า สื่อต้องระวัง และมีจริยธรรมในการนำเสนอ ตระหนักเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา เพราะสิ่งที่จะถ่ายทอดผ่านเรา มันมีผลต่อคนรับเสมอ จงอย่ามองแค่จะสร้าง Rating ยอด Engagement อย่ามุ่งไปที่เรื่องแข่งขันทางด้านเนื้อหา ความหวือหวาและความน่าสนใจอย่างเดียว แต่อย่าลืมมองถึงผลกระทบที่ผู้เสพหรือผู้รับสารจะได้รับด้วย มีความ “ช้า” บ้างก็ได้ ระวังเรื่องการเร้าอารมณ์ มันอาจจะเร้าในสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ได้