หมู่บ้านจีนฮากกา เบตง
  AREA แถลง ฉบับที่ 32/2565: วันพุธที่ 12 มกราคม 2565

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ในเบตงยังมีหมู่บ้านจีนฮากกา (แคะ) เช่นกัน ดร. โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้มีโอกาสไปเยือนในวันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม 2564 นับเป็นหมู่บ้านโบราณอายุนับร้อยปี

ในเว็บไซต์ Southdeep Outlook (https://bit.ly/3qAQN3w) ได้บรรยายไว้ว่า เบตง 1 ใน 3 เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบที่เน้นในเรื่องของการพัฒนาแบบยั่งยืนโดยนำความเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่  ชมทะเลหมอกยามเช้าที่สวยงามในมุมมอง 360 องศา ที่เดียวจังหวัดชายแดนใต้ความสูงจากระดับน้ำทะเลในอำเภอเมืองจังหวัดยะลา แช่บ่อน้ำร้อน เล่นน้ำตก ถ้ำกลางหุบเขา  พร้อมกับเรียนรู้วิถีชุมชนอาหารโบราณของชาวฮากกา ในชุมชนเก่า 100 ปีของคนไทยเชื้อสายจีน  ทั้งหมดนี้ เบตงจังหวัดยะลาอำเภอใต้สุดชายแดนไทยซึ่งถูกยกให้เป็นเมืองต้นแบบด้านการท่องเที่ยวและพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

            ใน พ.ศ.2343 ได้มีชาวจีนกลุ่มแรกที่เดินทางจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน โดยนำเรือมาขึ้นฝั่งประเทศมาเลเซีย แล้วเดินทางเท้าหรือนั่งเกวียนเข้ามายังพื้นที่อำเภอเบตง ด้วยสมาชิกประมาณ 10-20 คน ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาว สภาพพื้นที่ในขณะนั้นยังคงเป็นป่าทึบที่อุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ภายหลังชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น เนื่องจากทางราชการไทยในขณะนั้น ต้องการกำลังคนในการบุกเบิกพื้นป่าไม้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้เปิดโอกาสให้ผู้คนในบริเวณนี้สามารถจับจองที่ดินได้ตามกำลังความสามารถ เพียงช่วงเวลาหนึ่งผืนป่าอันกว้างใหญ่ตระหง่านอยู่ทั่วขุนเขา ได้ถูกแปรสสภาพกลายเป็นสวนยางพาราพื้นเมือง และพัฒนาเป็นเมืองเบตง ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลความหมายว่า ไม้ไผ่ สืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน

            หมู่บ้าน กม.สี่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ถือเป็นถิ่นอาศัยของชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกา หรือ จีนแคะ ที่เรียกว่า บ้าน ก.ม.สี่ อันเนื่องมาจากมีระยะทางอยู่ห่างจากตัวอำเภอเบตงประมาณ 4 กิโลเมตร โดยสภาพพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้เป็นที่หมายปองในการลงหลักปักฐานของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่อพยพมาจากประเทศมาเลเซีย เข้ามาอาศัยในอำเภอเบตงเมื่อประมาณร้อยกว่าปีมาแล้ว และเริ่มต้นทำสวน ทำไร่ และเมื่อเห็นว่าทำมาหากินสะดวกอยู่เย็นเป็นสุขถึงได้ชักชวนญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงที่เป็นจีนฮากกาด้วยกัน เข้ามาอาศัยอยู่รวมกันจนทางราชการได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ปลูก กรีดยาง จนปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นเจ้าของสวนยางพารา นักธุรกิจและเกษตรกรทำสวนผลไม้

            กลุ่มชาวจีนฮากกาในอำเภอเบตง จังหวัดยะลานั้น ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยยังคงได้รักษาอัตลักษณ์ของตนเองอย่างดี เช่นคนรุ่นใหม่ยังฟังหรือพูดภาษาฮากกาและภาษาจีนได้ ยังมีแนวคิดให้ความสำคัญกับเกษตรกรรม มากว่าการค้าธุรกิจตามหลักลัทธิขงจื๊อ รักษาประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนาโดยเฉพาะด้านอาหารที่มีความพิถีพิถัน คงอัตลักษณ์เดิมไว้มาอย่างช้านาน ถึงแม้ว่าชาวจีนฮากกา ในอำเภอเบตงมีการผสมผสานวัฒนธรรมอื่นๆ เข้ามาในการดำเนินการชีวิตก็ตาม ถือได้ว่าเป็นต้นแบบวัฒนธรรมฮากกาในประเทศไทยที่ซ่อนเสน่ห์อยู่ในสายหมอก รอให้ทุกคนได้มาลิ้มรสและค้นหาด้วยตัวเอง ชาวฮากกา      มีชื่อเสียงด้านการทำอาหารมายาวนาน ที่นี่คุณจะได้สัมผัสกับวิธีการทำวุ้นดำหรือเฉาก๊วยโบราณต้นตำรับชาวฮากกา

อาหารที่ขึ้นชื่อของชาวฮากกา ยังมีลูกชิ้นแคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกชิ้นมะละกอ เป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่ไม่ควรพลาดเพราะไม่สามารถหากินที่ไหนได้นอกจากชุมชนชาวฮากกาเท่านั้น นั่นคือลูกชิ้นมะละกอ อาหารโบราณที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ชาวฮากกานำมะละกอมาขูดเป็นเส้นพอเหมาะ นำมาคลุกเคล้ากับแป้ง และมีปลาหมึกแห้งและกากหมูเป็นส่วนผสม ปั้นเป็นก้อนๆ ขนาดพอดีคำ ก่อนจะเอาไปนึ่งด้วยเตาและกะทะโบราณ จากนั้นราดด้วยน้ำจิ้มตามแบบฉบับชาวฮากกา

นอกจากวัฒนธรรมอาหาร สถาปัตยกรรม บ้านเรือนเก่าแก่ ก็เป็นจุดเด่นของชุมชนแห่งนี้ ที่หมู่บ้าน กม.4 หรือหมู่บ้านฮากกา เป็นที่ตั้งของบ้านหลังแรกของชุมชนชาวฮากกา ที่มีอายุกว่า 150 ปี เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่คนในชุมชนช่วยกันบูรณะเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอบต. เพื่อปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยทำเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ชุมชนฮากกา ทางชุมชนก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมชุมชนเก่า 100 ปีชาวฮากกา เป็นต้นแบบความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ ให้คนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นำมาซึ่งความสันติสุขอย่างยั่งยืน

ในอำเภอเบตงมีชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่หลายเชื้อสาย เช่น  กวางตุ้ง ฮากกา ฮกเกี้ยน และ แต้จิ๋ว เจ้าของบ้านโบราณ หลังนี้คือผู้บุกเบิกหมู่บ้าน กม.สี่ เป็นคนจีนฮากกา ต้นตระกูลแซ่ลู่ ตามประวัติของบ้าน คือ เจ้าของบ้านนั้นเดิมอพยพมาจากเมืองจีนและมาสร้างธุรกิจอยู่ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย ต่อมาขายธุรกิจและมาอยู่ที่เบตงทางราชการจึงได้จัดสรรที่ดินให้ทำกินจำนวน 20,000 ไร่ ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ว่านหยี่ไร่”ในยุคนั้นยังเป็นป่าดงดิบ ก็ได้เริ่มบุกเบิกมีการทำสวน ปลูกผัก ปลูกข้าว ทำโรงสีพลังน้ำตำข้าวให้คนในชุมชนมาสีข้าว ต้นตระกูลลู่ได้สร้างบ้านหลังนี้โดยออกแบบมาจากแบบตัวอักษรจีน ที่ออกเสียงว่า  เกา หมายถึง สูง  ซึ่งในปี 2563 นี้เอง ลูกหลานได้จัดงานทำบุญบ้าน และถือเป็นนิมิตหมายใหม่ที่จะทำการปรับปรุงตกแต่งบ้านนี้ขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ของหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถีฮากกาเบตง

 

 

อ่าน 1,060 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved