การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก (Parenting by lying): เมื่อพ่อแม่โกหกลูกด้วยความปรารถนาดี

10 Oct 2022

อาจารย์พิมพ์จุฑา นิมมาภิรัตน์

 

“ถ้าลูกยอมเขียนหน้านี้จนเสร็จ… คุณแม่จะพาไปทะเลนะ” คุณแม่ท่านหนึ่งกล่าวกับลูกน้อยวัย 3 ขวบ ที่กำลังงอแง ไม่ยอมทำกิจกรรม
ในภายหลัง เมื่อคุณครูถามคุณแม่ไปว่า “มีแผนจะไปเที่ยวทะเลกันหรือคะ”
คุณแม่หันมากระซิบกับคุณครูว่า “เปล่าค่ะ ไม่ได้จะพาไปหรอกค่ะ พูดให้ลูกยอมทำเฉย ๆ”

 

คิดว่าคงจะมีคุณพ่อคุณแม่อีกหลายท่าน ที่เคยใช้วิธีที่คล้าย ๆ กันนี้ เพื่อหลอกล่อให้ลูกยอมทำตามที่บอก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากเจตนาที่ดีของพ่อแม่ เพื่อตัวของลูก ๆ เอง

 

ในทางจิตวิทยาเราเรียกการโกหกลักษณะนี้ว่า “Parenting by lying” หรือขอเรียกเป็นภาษาไทยว่า “การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก”

 

ไม่ได้มีเพียงพ่อแม่คนไทยเท่านั้นที่ทำแบบนี้ พ่อแม่ในอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในวิธีการสากลที่พ่อแม่ใช้กับลูกเลยก็ว่าได้

 

 

จากงานวิจัยในหลากหลายวัฒนธรรมพบว่า ประเภทของ “การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก” ที่พ่อแม่มักใช้กับลูก มีด้วยกัน 4 ประเภท ได้แก่

 

  1. โกหกเพื่อให้ลูกทำบางสิ่งบางอย่างให้เสร็จ เช่น “ถ้าทำการบ้านเสร็จ พ่อจะพาไปเที่ยวสวนสัตว์”
  2. โกหกเพื่อความปลอดภัย เช่น “เดินใกล้ ๆ แม่ไว้นะ ไม่อย่างนั้นตำรวจจะมาจับ”
  3. โกหกเพื่อให้ลูกเป็นเด็กดี เช่น “นั่งให้เรียบร้อย ไม่อย่างนั้นคุณหมอจะมาฉีดยา”
  4. โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงคำขอของลูก เช่น “ของเล่นอันนี้เขายังไม่ขายนะ วันนี้ยังซื้อไม่ได้”

 

สาเหตุหลักที่พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยการโกหก เพราะเป็นวิธีการที่ง่าย ไม่ต้องอธิบายเยอะ และหลายครั้งก็ทำให้ลูกเชื่อฟังได้จริง ๆ

แต่การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก ก็มีปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาในระยะยาว

 

 

ปัญหา 3 ข้อ ที่อาจเกิดขึ้น เมื่อพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยการโกหก

 

1. ลูกไม่เชื่อใจพ่อแม่

เมื่อพ่อแม่พูดโกหก ในครั้งแรก ๆ ลูกอาจจะเชื่อฟัง และคิดว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดจะเกิดขึ้นจริง หรือเป็นความจริง แต่ในที่สุดเมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะเรียนรู้ว่าพ่อแม่โกหก เกิดเป็นความไม่เชื่อใจ หรืออาจไม่สนใจสิ่งที่พ่อแม่พูด ไม่ว่าพ่อแม่จะพูดความจริงหรือไม่ก็ตาม ลูกอาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำตามสิ่งที่พ่อแม่พูดก็ได้ (เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ได้ไปสวนสัตว์อยู่ดี และตำรวจก็ไม่มาจับอยู่แล้ว) และอาจพัฒนาไปเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ และลูกได้อีกด้วย

 

2. การโกหกเป็นเรื่องปกติ

เมื่อพ่อแม่ใช้วิธีการโกหก ก็เท่ากับพ่อแม่เป็นตัวแบบให้ลูก ว่าการโกหกหรือการไม่ทำตามสัญญาเป็นสิ่งที่ทำได้ (เพราะพ่อแม่ก็ทำ) และเด็ก ๆ เรียนรู้ได้ดีจากสิ่งที่พ่อแม่ทำ มากกว่าสิ่งที่พ่อแม่พูด

 

3. พัฒนาเป็นปัญหาพฤติกรรม หรือปัญหาทางใจ

งานวิจัยพบว่า “การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก” อาจมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาลูกโกหกพ่อแม่ มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือต่อต้านพ่อแม่ หรือปัญหาความวิตกกังวล ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจเริ่มต้นมาจากการที่ลูกไม่เชื่อใจพ่อแม่ และมีความรู้สึกโกรธอยู่ในใจที่ถูกพ่อแม่โกหกนั่นเอง

 

 

เพื่อหลีกเลี่ยง “การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก” พ่อแม่ควรทำอย่างไร

 

1. ตั้งเงื่อนไขที่เกิดขึ้นได้จริง

เช่น ถ้าบอกลูกว่า “ถ้าทำการบ้านเสร็จ จะพาไปสวนสัตว์” หากลูกทำการบ้านเสร็จจริง ๆ ก็ควรพาไปสวนสัตว์ตามที่ตกลงกันไว้ แต่ถ้าคิดว่าการไปสวนสัตว์ไม่สามารถทำได้ ก็ควรตั้งเงื่อนไขอื่นที่มีความเป็นไปได้

2. อธิบายผลที่จะตามมาตามความเป็นจริง

แทนที่จะโกหกให้เด็กเกิดความกลัวที่ไม่เป็นความจริง เช่น แทนที่จะโกหกว่า “เดินใกล้ ๆ แม่ไว้นะ ไม่อย่างนั้นตำรวจจะมาจับ” (ความจริงคือ ตำรวจไม่ได้จะมาจับถ้าเด็กไปไหนมาไหนคนเดียว แต่ตำรวจน่าจะเป็นคนที่ให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกหลงทางมากกว่า) พ่อแม่ควรอธิบายตามความจริงไปว่า “เดินใกล้ ๆ แม่ไว้นะ เดี๋ยวหลง” และอาจเสริมด้วยว่า ถ้าลูกหลงกับแม่ให้ทำอย่างไร

 

 

สุดท้ายนี้ การดูแลลูกไม่เคยมีสูตรสำเร็จตายตัว บทความนี้เขียนขึ้นด้วยความเข้าใจอย่างยิ่งว่าในบางกรณีพ่อแม่ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการบางอย่าง เพื่อควบคุมพฤติกรรมของลูกน้อยให้ได้ผลโดยทันที อย่างไรก็ตามบทความนี้ก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจกับสิ่งที่ตนเองพูดกับลูกให้มากขึ้น ถ้าตกลงอะไรกับลูกแล้ว ก็ควรทำให้ได้ตามที่ตกลงไว้ และควรหาโอกาสพูดคุยกับลูก เพื่ออธิบายสิ่งต่าง ๆ ให้ลูกได้เข้าใจผลที่จะตามมา ตามความเป็นจริง เพื่อการเติบโตที่เหมาะสม เพื่อรักษาซึ่งความเชื่อใจและความสัมพันธ์ที่ดี และเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาในระยะยาว

 

 

รายการอ้างอิง

 

Dodd, B., & Malm, E. K. (2021). Effects of Parenting by Lying in Childhood on Adult Lying, Internalizing Behaviors, and Relationship Quality. Child Psychiatry & Human Development, 1-8. https://doi.org/10.1007/s10578-021-01220-8

 

Santos, R. M., Zanette, S., Kwok, S. M., Heyman, G. D., & Lee, K. (2017). Exposure to parenting by lying in childhood: Associations with negative outcomes in adulthood. Frontiers in Psychology, 8, 1240. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2017.01240

 

Liu, M., & Wei, H. (2020). The dark side of white lies: Parenting by lying in childhood and adolescent anxiety, the mediation of parent-child attachment and gender difference. Children and Youth Services Review, 119, 105635. https://doi.org/10.1016/j.childyouth.2020.105635

 

Talwar, V., & Crossman, A. (2022). Liar, liar… sometimes: Understanding Social-Environmental Influences on the Development of Lying. Current Opinion in Psychology, 101374. https://doi.org/10.1016/j.copsyc.2022.101374

 

 


 

บทความวิชาการ
โดย อาจารย์พิมพ์จุฑา นิมมาภิรัตน์
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

แชร์คอนเท็นต์นี้