วัคซีน 3 ชนิด ที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ วัย 60+

ศูนย์ : คลินิกผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง

วัคซีน 3 ชนิด ที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ วัย 60+

ใครว่าสูงวัยแล้วไม่ต้องฉีดวัคซีนอีก บอกเลยว่าคุณอาจคิดผิด ซึ่งผู้สูงอายุหลายคนเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนเมื่อฉีดครบถ้วนในวัยเด็กแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดอีก แต่ในความเป็นจริงวัคซีนหลายชนิดที่เคยฉีดนั้น ไม่สามารถป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต เนื่องจากผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้นระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ก็จะมีประสิทธิภาพที่ลดลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุไว้ก่อนจึงเป็นวิธีที่ดีกว่า เป็นการป้องกันการติดเชื้อก่อโรคสำคัญๆ ช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดภาวะความเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล


ฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ มีประโยชน์อย่างไร?

  • วัคซีนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
  • วัคซีนปกป้องผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อที่สามารถทวีความรุนแรงได้
  • ลดโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคติดเชื้อรุนแรง
  • ลดอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากการติดเชื้อ
  • ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียจากการเกิดโรคที่อาจเกิดขึ้น
  • โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนส่วนใหญ่เป็นโรคที่เป็นแล้วมีความรุนแรง รักษายาก เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ และปอดบวมในผู้สูงอายุ เป็นต้น




วัคซีน 3 ชนิดที่แนะนำให้ผู้สูงอายุควรฉีด

1. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ชนิด 4 สายพันธุ์ (Influenza vaccine)

แม้ว่าการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่พบได้ในทุกช่วงวัย โดยทั่วไปการติดเชื้อไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะหายได้เองภายใน 3-5 วันหลังจากมีอาการของโรค แต่ในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน มักมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สูง รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ก็สูงตามไปด้วย

คำแนะนำ: ผู้สูงอายุทุกคน ควรฉีดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี โดยสามารถฉีดในช่วงก่อนมีการระบาด โดยในประเทศไทยมักระบาด 2 ช่วงคือช่วงฤดูฝน และช่วงฤดูหนาว ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด Flu High-Dose สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นจากขนาดปกติถึง 24% และยังสามารถลดอัตราการนอนโรงพยาบาลจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดตามมาหลังการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยแนะนำให้ฉีด 1 เข็ม ปีละ 1 ครั้ง1

โดยสายพันธุ์ปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) Southern strain หรือ ซีกโลกไต้ ได้แก่

  • ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Victoria (H1N1) (an A/Victoria/4897/2022 (H1N1) pdm09-like virus)
  • ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Thailand (H3N2) (an A/Thailand/8/2022 (H3N2)-like virus)
  • ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Austria (a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus)
  • ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Phuket (a B/Phuket/3073/2013 (B/Yamagata lineage)-like virus)

2. วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบนิวโมคอคคัส (Pneumococcal vaccine)

โรคติดเชื้อจากแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Streptococcal Pneumoniae) ชนิดรุนแรงและรุกราน สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไปจนถึงทำให้พิการและเสียชีวิตได้ เชื้อนิวโมคอคคัสก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ และก่อให้เกิดการติดเชื้อรุกล้ำรุนแรง ได้แก่ การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง การติดเชื้อในกระดูกและข้อ และการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสแบบรุกรานได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว การรับวัคซีนดังกล่าวจึงมีประโยชน์ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

โดยปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบนิวโมคอคคัส (Pneumococcal vaccine) สำหรับผู้สูงอายุจะมี 3 ชนิด ซึ่งครอบคลุมสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ได้แก่

  • วัคซีนชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ (PCV13) ครอบคลุมเชื้อแบคทีเรีย นิวโมคอคคัส13 สายพันธุ์ ที่ก่อให้เกิดโรคส่วนใหญ่
  • วัคซีนชนิดคอนจูเกต 15 สายพันธุ์ (PCV15) ครอบคลุมเชื้อแบคทีเรีย นิวโมคอคคัส 15 สายพันธุ์ ด้วยการป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง
  • วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ 23 สายพันธุ์ (PPSV-23) ที่ครอบคลุมเชื้อแบคทีเรีย นิวโมคอคคัส 23 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคชนิดรุนแรง รวมถึงสายพันธุ์ที่มักดื้อยา

คำแนะนำ: ให้ฉีดแก่ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

3. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Herpes zoster)

โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัส VZV ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อนี้จะหลบอยู่ในร่างกายเรา เมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดลง โรคงูสวัดจะเริ่มแสดงอาการออกมา โดยจะมีตุ่มน้ำใสขึ้นเป็นกระจุก ร่วมกับอาการปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท แม้ตุ่มน้ำจะหายแล้ว อาการแสบร้อนยังคงอยู่ได้เป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมากนอกจากนี้อายุที่มากขึ้น การนอนไม่พอ มีภาวะเครียด ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

คำแนะนำ:ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดใหม่ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดมากกว่า 90% โดยฉีดจำนวน 2 เข็ม ขนาด 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อ ห่างกัน 2-6 เดือน ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัดสูงสุด และผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน และผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต เนื่องจากคนกลุ่มนี้หากป่วยด้วยโรคงูสวัดจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติ


ผู้สูงอายุควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เมื่อมารับวัคซีน

ข้อระวังในการเลี่ยงการฉีดวัคซีน

  • หากมีอาการป่วย หรือมีไข้สูงควรเลี่ยงการฉีดวัคซีน
  • ผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาบางอย่าง ควรเลื่อนการรับวัคซีน
  • ต้องมีการจดบันทึก ก่อนการรับวัคซีนทุกครั้ง
  • หากมีการแพ้อาหาร แพ้ยา หรือมีโรคประจำตัวต้องแจ้งก่อนฉีดทุกครั้ง
ทั้งนี้ การให้วัคซีนอย่างเหมาะสมในผู้สูงอายุเป็นการดูแลที่สำคัญเพราะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อที่ป้องกันได้ และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียจากการเกิดโรคที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุที่ต้องการฉีดวัคซีนควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับการฉีด เพื่อรับการตรวจร่างกายเบื้องต้น พร้อมรับคำแนะนำเกี่ยวกับข้อบ่งชี้และข้อห้ามของวัคซีนแต่ละตัว เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการป้องกันจากการฉีดวัคซีนอย่างสูงสุด




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย