พื้นที่สีเขียว ในเมืองใหญ่ สำคัญไฉน และทำไมต้องสร้างเพิ่ม?

แค่เพียงชวนให้นึกถึง พื้นที่สีเขียว ที่ทุกคนสามารถสูดอากาศได้เต็มปอด พร้อมพักสายตากับต้นไม้ใบหญ้าสีเขียว ก็เชื่อว่าสร้างความรู้สึกผ่อนคลายให้ใครหลายคนได้แล้ว ด้วยเหตุนี้ คงไม่ต้องบอกว่า พื้นที่สีเขียว มีความจำเป็นสำหรับผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่อย่างไรบ้าง

โดย พื้นที่สีเขียว นี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ สวนสาธารณะ ที่ทุกคนไปเดินเล่นออกกำลังกายเท่านั้น ทว่า รวมถึงพื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้าออฟฟิศ ในสถาบันการศึกษา ในองค์กรภาครัฐ หรือแม้แต่พื้นที่ปลูกต้นไม้ ปลูกผักสวนครัวในบ้าน นี่ก็ถือเป็นพื้นที่สีเขียวที่จำเป็นต่อชีวิตมนุษย์เช่นกัน

นิยามและความจำเป็นของ พื้นทีสีเขียว ต่อชีวิตมนุษย์

ในทางวิชาการนิยาม “พื้นที่สีเขียว” หรือ Green space ว่าเป็นพื้นที่กลางแจ้งและกึ่งกลางแจ้งที่มีขอบเขตที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วนปกคลุมด้วยพรรณพืชบนดินที่ซึมน้ำได้หรืออาจมีสิ่งก่อสร้างอยู่ด้วย ทั้งในพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและนอกเขตเมือง อาจเป็นพื้นที่สาธารณะหรือเอกชนที่สาธารณชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ประกอบด้วยพื้นที่สีเขียวเพื่อนันทนาการและความงามทางภูมิทัศน์ พื้นที่อรรถประโยชน์ เช่น พื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่สาธารณูปการ พื้นที่แนวกันชน พื้นที่สีเขียวในสถาบันต่างๆ

ส่วนพื้นที่ธรรมชาติและกึ่งธรรมชาติอันเป็นถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำรวมถึงพื้นที่ชายหาด พื้นที่ริมน้ำ พื้นที่ที่เป็นริ้วยาวตามแนวเส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำ และแนวสาธารณูปการหรือพื้นที่อื่นๆ เช่น พื้นที่สีเขียวที่ปล่อยรกร้าง พื้นที่สีเขียวที่ถูกรบกวนสภาพธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวที่มีการใช้ประโยชน์ผสมผสานกัน
ดังนั้น สรุปได้ว่า พื้นที่สีเขียว คือ พื้นที่ใดๆ ก็ตามที่มีพืชพรรณขึ้นปกคลุม ทั้งในเขตเมืองและนอกเมืองที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้นั่นเอง
ส่วนความสำคัญและประโยชน์ของพื้นที่สีเขียว ที่เมื่อพิจารณาในแต่ละข้อแล้ว จะรู้ได้ว่าไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวนี้ แต่เป็นระบบนิเวศทั้งระบบที่ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ

  1. ช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน
  2. เพื่อเป็นแหล่งนันทนาการ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชนทุกเพศทุกวัย
  3. พืชพรรณในพื้นที่สีเขียวช่วยลดอุณหภูมิของเมืองที่เกิดจากการพัฒนาสิ่งก่อสร้างในเมือง
  4. เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของ นก ปลา แมลง และสัตว์อื่นๆ เป็นทางสีเขียวเชื่อมโยงแหล่งที่อยู่อาศัยเข้าด้วยกัน และช่วยป้องกันการกัดเซาะพังทลายของดิน ช่วยปรับปรุงระบบการระบายน้ำ
  5. ช่วยลดเสียงรบกวนลงได้ โดยอาศัยพุ่มใบที่หนาทึบของไม้ยืนต้น และไม้พุ่มช่วยดูดซับมลภาวะทางเสียง
  6. เป็นสิ่งเชื่อมโยงผู้คนให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ทำให้เป็นเมืองและเป็นชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน

ประเภทของพื้นที่สีเขียว ที่ทุกเมืองใหญ่จำเป็นต้องมีให้ครบ

ดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้นว่า พื้นที่สีเขียว ไม่ได้หมายความแค่สวนสาธารณะหรือป่า อุทยาน เท่านั้น แต่พื้นที่สีเขียวมีหลายมิติมากกว่านั้น
พื้นที่สีเขียวธรรมชาติ คือ พื้นที่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติดั้งเดิม เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศสูง เป็นแหล่งรวมของระบบนิเวศที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ให้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ตลอดไปโดยมีการจัดการที่เหมาะสม ในรูปแบบ แม่น้ำ ลำธาร คลอง ทะเลสาบ พรุ ภูเขา และป่าไม้เป็นต้น
พื้นที่สีเขียวเพื่อบริการ คือ พื้นที่สีเขียวที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการเพื่อคุณภาพชีวิตของชุมชนทั้งการพักผ่อน หย่อนใจ ออกกำลังกาย และเสริมสร้างทัศนียภาพที่สวยงามให้กับเมืองพื้นที่สีเขียวที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการ เพื่อคุณภาพชีวิตของชุมชน ทั้งการพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกายและเสริมสร้างทัศนียภาพที่สวยงามให้กับเมือง

พื้นที่สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม คือ พื้นที่สีเขียวที่เสริมสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่บริเวณและชุมชน เช่น ช่วยเพิ่มก๊าซออกซิเจนหรือลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดอุณหภูมิความร้อนในเขตเมืองกรองฝุ่นละอองและลดมลพิษ เป็นต้น แม้ประชาชนอาจจะไม่สามารถเข้าไปใช้บริการได้โดยตรงเหมือนพื้นที่สีเขียวเพื่อบริการแต่มีคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน และเกิดประโยชน์ใช้สอยแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
พื้นที่สีเขียวบริเวณเส้นทางสัญจร คือ พื้นที่สีเขียวที่อยู่ในแนวเส้นทางสัญจรสาธารณะมีรูปร่างลักษณะพื้นที่ที่เป็นริ้วยาวขนานกับบริเวณเส้นทางสัญจร ซึ่งมีบทบาททั้งการเสริมสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมและพักผ่อนหย่อนใจ
พื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจชุมชน คือ พื้นที่สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้เป็นเจ้าของส่วนมากหมายถึงพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ว่างของเอกชน พื้นที่เกษตร เช่น นาข้าว พืชไร่ เป็นต้น พื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น เช่น สวนไม้ผลยืนต้น และสวนป่าเศรษฐกิจ เป็นต้น
ส่วนจุดประสงค์ของการมีพื้นที่สีเขียวหากเป็นนอกเมือง พื้นที่สีเขียวจะหมายถึงการเกษตรกรรม แต่ถ้าเป็นในเมืองใหญ่พื้นที่สีเขียวจะมีความหมายเกี่ยวกับพื้นที่สำหรับพักผ่อนของประชาชนในเมืองด้วย เรียกได้ว่าเป็นปอดของเมืองใหญ่ก็ว่าได้
ดังนั้น ความท้าทายสำคัญด้านผังเมืองของเมืองใหญ่ทุกเมืองทั่วโลก ก็คือ จะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งต้องมีอะไรมากกว่าแค่ปลูกต้นไม้ ปลูกหญ้า ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าในตอนนี้มีภาคเอกชนเข้ามาสร้างพื้นที่สีเขียวรูปแบบใหม่ที่ให้ความสวยงาม ต้นไม้ และสร้างแนวคิดอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกัน

งานวิจัยยืนยันพื้นที่สีเขียวเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

จากบทความ THE 5 BENEFITS OF GREEN SPACES IN THE WORKPLACE ของ MARELLA GIMENEZ ได้ยืนยันว่า “พื้นที่สีเขียวช่วยเพิ่มการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ถึง 20%” ดังนั้นจึงแทบปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีพื้นที่สีเขียวในสำนักงานส่งผลหลายๆ ด้านกับบริษัทไม่ใช่แค่เพียงภาพลักษณ์เท่านั้น

  • ช่วยให้พนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานได้มากถึง 20% โดยผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัย Twente  ได้ทำการศึกษาและพบว่าต้นไม้สามารถกระตุ้นให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสามารถช่วยให้มีส่วนร่วมในการทำงานทั้งร่างกาย อารมณ์และความเข้าใจในการทำงาน ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม co-working space ส่วนใหญ่มักมีองค์ประกอบเป็นพื้นที่สีเขียวร่วมอยู่ด้วย
  • ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและรักษาความสัมพันธ์ได้ดีขึ้น เนื่องจากต้นไม้ช่วยให้คนรู้สึกถึงความผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความเครียดที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งพื้นที่สีเขียวนี้เองที่จะช่วยสร้างวัฒนธรรมให้คนเข้าหากันมากยิ่งขึ้น และช่วยสร้างบรรยากาศในการร่วมมือกัน
  • ทำให้บรรยากาศและสุนทรียภาพในที่ทำงานได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากพื้นที่สีเขียวจะช่วยให้องค์กรมีความรู้สึกสร้างสรรค์ รู้สึกถึงการทำงานร่วมกันมากกว่าการถูกกักขังในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ
  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร การมีพื้นที่สีเขียวในองค์กรจะหมายถึงความใส่ใจที่คุณมอบให้ลูกค้าหรือผู้ที่เข้ามาในองค์กรอย่างเป็นมิตร และทำให้พนักงานรู้สึกถึงความใส่ใจในสุขภาพและความรู้สึกผ่อนคลายในการทำงานในองค์กร
  • ประหยัดพลังงานและมีสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน แน่นอนว่าพื้นที่สีเขียวนอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศให้รู้สึกถึงความผ่อนคลาย การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ต้นไม้จะช่วยสร้างอากาศที่ดีให้กับบริษัท ดักสารพิษต่างๆ รวมทั้งกันมลพิษทางเสียงอีกด้วย

รีวิว 4 พื้นที่สีเขียวต้นแบบจากทั่วโลก & ชวนซึมซับความกรีนในสวนสวยของไทย

จาก Facebook : คิด Creative thinking ได้รีวิว 4 พื้นที่สีเขียวรอบโลก ในหัวข้อ “Green space therapy เพราะไม่มีอะไรฮีลใจได้ดีเท่าธรรมชาติ” (เขียนโดย เรื่อง : วรรณเพ็ญ บุญเพ็ญ) ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมีความน่าสนใจในทั้งแนวคิดการออกแบบและประโยชน์ใช้สอย

  • สวนสาธารณะ Bishan-Ang Mo Kio ประเทศสิงคโปร์
พื้นที่สีเขียวแห่งนี้เริ่มต้นจากแนวคิดที่ต้องการปรับพื้นที่คลองคอนกรีตแข็งๆ ลักษณะเส้นตรงยาว 2.7 กิโลเมตร ให้เป็นลำธารธรรมชาติคดเคี้ยวยาว 3.2 กิโลเมตร ไม่เพียงสร้างภาพลักษณ์ให้สวนสาธารณะแห่งนี้กลมกลืนไปกับธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น แต่การจำลองสร้างลำธารใหม่ที่ผสมผสานด้วยวัสดุธรรมชาติ ปลูกพืชน้ำให้กรองและดูดซับน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ยังช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำและเพิ่มเสถียรภาพการระบายน้ำได้ดีขึ้นอีกด้วย
โดยวิธีการนี้ยังช่วยลดต้นทุนการสร้างคลองคอนกรีตที่มีต้นทุนสูงกว่า และยังได้ผลลัพธ์เป็นแหล่งธรรมชาติแห่งใหม่ที่ช่วยสร้างความสดชื่นให้ชาวเมืองได้เข้ามาผ่อนคลายกับลำธารสายนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ด้วยการออกแบบเส้นทางเดินเพิ่มให้ผู้คนเข้ามาพักผ่อนริมคลองได้อย่างสบายๆ

  • โครงการ Green Corridors ประเทศโคลอมเบีย
มีจุดประสงค์เพื่อปรับภูมิทัศน์และลดอากาศร้อนจากตึกคอนกรีตและรถยนต์ที่พลุกพล่าน ที่เมืองเมเดยินของโคลอมเบีย เปลี่ยนแนวถนนสองข้างทางให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่เอื้อต่อการเดินเท้าซึ่งครอบคลุมถนน 18 สายและเส้นทางริมน้ำ 12 แห่ง ตัวอย่างเส้นทางที่โดดเด่นได้แก่ ถนน Avenida Oriental ที่เป็นเส้นทางการสัญจรที่คึกคักมากที่สุดในเมือง ได้รับการปรับปรุงใหม่ด้วยทางเท้าและเกาะกลางถนนสีเขียวที่ปกคลุมด้วยพันธุ์ไม้นานาทั้งขนาดเล็กและใหญ่กว่า 600 สายพันธุ์
คาดกันว่าพื้นที่สีเขียวในเมืองเหล่านี้สามารถลดอุณหภูมิได้มากกว่า 2 องศาเซลเซียส และโครงการ Green Corridors ยังได้รับรางวัลการันตี Ashden Award for Cooling by Nature Award ในปี 2019 ด้วยเช่นกัน

  • สวนสาธารณะ Lineal Gran Canal Park ประเทศเม็กซิโก
จากโครงสร้างของคลองเก่าแก่ในเมืองที่สร้างขึ้นเพื่อกักเก็บและป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเคยเกิดขึ้นอย่างสาหัสในช่วงปี 1604-1607 ปัจจุบัน พื้นที่กว่า 70,000 ตารางเมตร ในปัจจุบันได้ถูกปรับปรุงและพัฒนาขึ้นใหม่เป็นสวนสาธารณะในลักษณะเป็นเส้นตรงกว้างตามโครงสร้างคลองเดิมในเมืองเม็กซิโกซิตี้
ความพิเศษของสวนแห่งนี้ที่นอกเหนือจากการมีต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ช่วยเพิ่มอากาศบริสุทธิ์และความสดชื่นให้ชาวเมืองแล้ว พื้นที่สวนสาธารณะยังถูกออกแบบให้น้ำฝนซึมผ่านได้ 100% คงจุดประสงค์เดิมของพื้นที่ที่ช่วยลดโอกาสการเกิดน้ำท่วมเมืองเหมือนในอดีตอีกด้วย

  • สวนชุ่มน้ำ Qunli Stormwater Wetland Park ประเทศจีน
จากความหนาแน่นของพื้นที่รอบด้านของเขตฮาร์บินที่ถูกพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ โครงการที่อยู่อาศัย และเส้นทางการสัญจร ทำให้แหล่งน้ำในเมืองถูกตัดออก สวนสาธารณะแห่งนี้จึงเกิดขึ้นเป็นแหล่งชุ่มน้ำเพื่อประโยชน์อันหลากหลายให้ชาวเมือง
หนึ่งในจุดประสงค์หลักๆ คือการเป็นพื้นที่ธรรมชาติรองรับน้ำฝนไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในเมือง รวมทั้งการมีเส้นทางเดินโดยรอบทั้งทางเดินปกติ ทางเดินลอยฟ้า ชานชาลา และหอชมวิว ทำให้สวนแห่งนี้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจหลักของคนเมืองให้ได้ผ่อนคลายไปกับทิวทัศน์ธรรมชาติใจกลางเมืองได้อย่างเต็มอรรถรส

อัปเดตพื้นที่สีเขียวในเมืองหลวงของไทย พร้อมสวนสวยแห่งใหม่ ตอบโจทย์ความกรีนของกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ดี ในเมืองไทย ก็ยังมีพื้นที่สีเขียวให้คนกรุงได้ไปพักผ่อนหย่อนใจไม่น้อย แค่ในตอนนี้ กรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ที่มีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว มีการขยายและเพิ่มความหนาแน่นอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มจำนวนของประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้พื้นที่โล่งว่างและพื้นที่สีเขียวในเมืองลดลง เกิดปัญหาด้านต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสุขภาวะของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง
จากเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่าเมืองใหญ่แต่ละเมืองควรมีอัตราพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งจากข้อมูลสถิติ ปี พ.ศ. 2559 กรุงเทพมหานคร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่ากรุงเทพมหานครมีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะต่อประชากรอยู่ที่ 6.15 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลก

สวนลุมพินี

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ถ้าสำรวจแค่ใน กรุงเทพมหานคร เชื่อว่า หลายคนก็จะรู้จักกันดีกับสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เป็นพื้นที่สีเขียว เป็น “ปอดของกรุงเทพฯ” อย่าง สวนลุมพินี สวนเบญจกิตติ สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ สวนรมณีย์นาถ สวนหลวง ร.9 และล่าสุดในพื้นที่เขตบางบอน ฝั่งธนบุรี กำลังจะมีสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ 7 รอบ
โดยได้ออกแบบมาให้เป็นพื้นที่บำรุงรักษาระบบนิเวศ ด้วยการฟื้นฟูระบบนิเวศเดิมที่มีอยู่และช่วยรักษาพืชพันธุ์ รวมถึงสร้างบรรยากาศที่ดีในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความร่มรื่นแก่ผู้เข้าเยี่ยมชม และไฮไลต์ของโปรเจ็คต์นี้มีดังนี้

  • แหล่งน้ำในโครงการได้ขุดขยายความลึกลงไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำช่วงฤดูฝน
  • มีแผนการก่อสร้างสวนพฤกษศาสตร์เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์นกในอนาคต
  • เป็นพื้นที่ในการบำรุงรักษาต้นไม้ เพราะพื้นที่นี้ถือว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่สีเขียวไม่กี่แห่งที่เหลือรอดจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของกรุงเทพฯ
  • ระบบไหลเวียนน้ำภายในสวนพัฒนาขึ้นเพื่อให้พืชที่อยู่ในสวน ตลอดจนพืชน้ำหลากหลายชนิดสามารถดำรงอยู่ได้
  • ออกแบบด้วยแนวคิดนี้จึงไม่ได้เน้นเพียงเรื่องความสวยงาม แต่เน้นการเก็บรักษาและฟื้นฟูไปพร้อมๆกัน พืชที่อยู่ในสวนนั้นจะสามารถกรองน้ำก่อนระบายออกสู่คลองใกล้เคียงได้ ถือเป็นการช่วยกักเก็บน้ำก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติ
  • ออกแบบให้มีเนินดินเก้าเนิน เพื่อให้เป็นพื้นที่ใช้งานที่ไม่เหมือนใคร และเนินเหล่านี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่มาเยือนได้ชื่นชมอุทยานจากที่สูงอีกด้วย
  • ตัวสวนนั้นยังได้มีการออกแบบผสมผสานกับทางเดินไม้กระดาน ศาลา และอุปกรณ์ทางเดิน เพื่อแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นของพื้นที่นี้ร่วมด้วย

หลากหลายโปรเจกต์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพื่อโลก เพื่อเราทุกคน

ทำไม “เดนมาร์ก” ถึงเป็นผู้นำด้าน Green Economy

“ปัญหาน้ำเสีย ต้องแก้ที่ต้นตอ” บทสรุปงานวิจัยดีเด่นปี 2565 ความหวังที่จะมาลดมลพิษทางน้ำได้อย่างยั่งยืน

เมื่อ ‘โลกจะร้อนขึ้น 1.5-2 องศา’ ต้องรู้เท่าทันผลจาก ‘ภาวะโลกร้อน’ ให้ครบทุกมิติ

Previous article‘ละว้าโมเดล’ ต้นแบบใช้ความรู้ออนไลน์ตัดตอน โรคพยาธิใบไม้ตับ & โรคระบาดลุ่มแม่น้ำโขง อย่างได้ผล
Next articleสาลิกาคาบข่าว Vol.20
mm
เริ่มต้นขีดเขียนในฐานะ สื่อมวลชน กับงานผู้สื่อข่าวประจำกองประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในปี 2546 ก่อนไปหาประสบการณ์ชีวิตที่เมลเบิร์น ออสเตรเลียมา 1 ปี และกลับมายึดอาชีพ “นักเขียน” จริงจัง กับการเป็น กองบรรณาธิการนิตยสารชีวจิต 3 ปี หลังจากนั้นคิดว่าน่าจะเปลี่ยนสายไปทำงานในบริษัท PR agancy ได้ 6 เดือน เมื่อรู้ว่าไม่ถูกจริต เลยออกมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารฟีลกู้ดอย่าง Happy+ อยู่ 1 ปี สัมภาษณ์ทั้งดาราและคนบันดาลใจ ก่อนเข้าสู่ระบบงานประจำอีกครั้งกับนิตยสาร MBA กับการเป็นนักเขียนที่รับผิดชอบในเซคชั่นหลักสูตร MBA ของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สั่งสมประสบการณ์อยู่ 3 ปี ก็ได้เวลา Upskill สู่งาน Online content writer ที่ใช้ความชอบและความหลงใหลในการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ความรู้ใหม่ๆ ในยุค Education 4.0 อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์