โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อย่าทำร้ายลูกด้วยการสอนให้ลูกกลัวความผิด เพราะอาจมีผลเสียมากกว่าที่คิด

Mood of the Motherhood

เผยแพร่ 30 ต.ค. 2562 เวลา 13.08 น. • Features

ความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ และแน่นอนว่าเจ้าตัวเล็กของคุณพ่อคุณแม่ ก็ต้องเคยทำอะไรผิดพลาด ไม่ว่าจะทำของเล่นพัง พูดโกหก หรือแม้แต่สอบตกที่โรงเรียน เหตุการณ์เหล่านี้ แม้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่มันก็เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นกับเด็กคนไหนก็ได้ แต่เมื่อถึงเวลาลูกพลาดหรือทำผิดไป คุณพ่อคุณแม่แต่ละบ้าน ทำอย่างไรกันบ้างคะ… 

โดยธรรมชาติแล้ว การที่พ่อแม่เป็นห่วงลูก ส่วนหนึ่งมักเริ่มต้นมาจากความกลัว เช่น กลัวลูกจะได้รับอันตราย กลัวลูกรู้สึกไม่ดี กลัวลูกไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้หลายครั้งคุณพ่อคุณแม่พยายามปกป้องลูก ไม่ยอมให้ลูกได้เรียนรู้หรือลองทำอะไรผิดพลาดแม้แต่น้อย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การใช้วิธีรุนแรงเมื่อลูกทำความผิด หรือแม้แต่การออกคำสั่งห้ามไม่ให้ลูกทำความผิดเลยไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก

จากงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่า ความจริงแล้ว ความผิดพลาดต่างหากที่จะช่วยเพิ่มการเรียนรู้ให้คนเราได้ เพราะความผิดพลาดจะเป็นตัวกระตุ้นให้เรารู้สึกท้าทายตัวเองมากขึ้น เพื่อเรียนรู้ที่จะหาวิธีใหม่ๆ มาแก้ปัญหาที่เคยทำพลาดไป

ดังนั้น แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะคอยลงโทษหรือห้ามไม่ให้ลูกทำผิด ลองเปลี่ยนเป็นให้โอกาสลูกได้ลองเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง โดยที่มีคุณพ่อคุณแม่คอยให้คำแนะนำและช่วยเหลืออยู่ห่างๆ จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แต่หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมให้ลูกเผชิญกับความผิดพลาดเลยแม้แต่น้อย อาจส่งผลในระยะยาวกับลูกดังนี้

1. ลูกจะกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง

เมื่อลูกทำผิดแล้วโดนคุณพ่อคุณแม่ตำหนิหรือต่อว่ารุนแรง รวมถึงการสั่งห้ามและคาดโทษไม่ให้ลูกทำความผิดอีก จะทำให้ลูกไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เมื่อต้องเริ่มหรือลองทำอะไรใหม่ๆ และมักแสดงอาการกังวลว่าจะทำอะไรผิด ส่งผลให้เด็กไม่สามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง ต้องคอยมีคนให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ

ดังนั้นเมื่อลูกทำอะไรผิดพลาด สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำมากกว่าการต่อว่า คือการปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ ให้ความช่วยเหลือด้วยการให้คำแนะนำวิธีแก้ปัญหา ถามไถ่ความรู้สึกและปลอบใจลูก ที่สำคัญคือไม่ควรกล่าวโทษหรือออกคำสั่งว่าลูกควรทำอย่างไร เพราะจะยิ่งทำให้ลูกไม่กล้าตัดสินใจหรือคิดหาวิธีแก้ไขด้วยตัวเองอีกต่อไป

2. ลูกจะไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

เด็กที่ไม่เคยทำผิดพลาดจะไม่เคยเรียนรู้ว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าควรทำอย่างไร เช่น หากลืมนำของสำคัญที่ต้องใช้ไปโรงเรียน เด็กที่ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ก็จะแสดงออกด้วยการร้องไห้ เพราะกลัวโดนคุณครูว่า แต่เด็กที่เคยทำผิดพลาดมาก่อน จะพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเช่น บอกคุณครู หรือโทรศัพท์หาคุณพ่อคุณแม่ เด็กจะไม่มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่เขาจะแก้ไขได้

3. เป็นคนไม่กล้ารับผิดชอบ

หากลูกได้รับอนุญาตให้ตัดสินใจเรื่องสำคัญด้วยตัวเองบ้าง จะทำให้ลูกกล้าที่จะแสดงความรับผิดชอบในการตัดสินใจของตัวเองมากขึ้น แม้ว่าอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่ลูกก็จะพยายามรับผิดชอบและหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดจากตัวเองได้

ตรงข้ามกับเด็กที่ไม่เคยได้รับโอกาสให้ตัดสินใจ เพราะคุณพ่อคุณแม่กลัวว่าลูกจะผิดพลาด หรือเด็กที่มักจะถูกดุด่าว่ากล่าวเพราะคิดผิดทำผิด เด็กก็จะไม่กล้าแสดงความรับผิดชอบ รวมไปถึงหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เด็กอาจจะปัดความรับผิดชอบ หรือกล่าวโทษคนอื่นเพราะกลัวว่าตัวเองจะถูกตำหนิได้

4. ลูกจะไม่สามารถรับมือกับความรู้สึกตัวเองได้

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่เคยให้ลูกได้ลองเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง ยิ่งโตขึ้น เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เด็กอาจรู้สึกผิดหวัง เสียใจ  และหวาดกลัวความผิดพลาด กลายเป็นคนที่จมปลักกับความผิด แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ส่งผลดีกับเด็ก และอาจส่งผลทำให้เป็นเด็กที่มีจิตใจไม่มั่นคง เมื่อสะสมไปเรื่อยๆ อาจนำไปสู่ปัญหาทางด้านจิตเวชอื่นๆ ได้

5. มองโลกในแง่ร้าย

เด็กที่ถูกต่อว่าหรือลงโทษรุนแรงเมื่อทำความผิด มักกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายมากกว่าเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ให้โอกาสได้เรียนรู้จากการทำผิดพลาด เพราะเด็กจะกลายเป็นคนที่นึกถึงแต่ข้อเสียหรือโอกาสที่จะถูกตำหนิจากการทำสิ่งต่างๆ ทำให้เด็กไม่มีความมั่นใจ รู้สึกว่าตัวไม่มีค่าและปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นๆ ในสังคมได้ยาก

อ้างอิง

verywellfamily

psychologies

homeschool

rootsofaction

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0