ค้นหางานที่ใช่!! ไปกับหนังสือ Designing Your Life ตอนที่ 3/4


มองหาแนวทางอาชีพที่ใช่

การออกแบบชีวิตจะทำได้ดีถ้าเรามีทางเลือก ความเชื่อที่ว่าชีวิตเรามีทางออกที่ดีกว่านี้รออยู่ เราจะต้องใช้ชีวิตในแบบที่ดีที่สุด ถือเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง มันจะทำให้เราไม่กล้าลงมือทำอะไรซักอย่าง เพราะมัวแต่รอทางเลือกที่ดีกว่า หรือดีที่สุดต่อไป

ศัตรูของความคิดสร้างสรรค์ คือ การตัดสิน สมองของคนเราเป็นอวัยวะที่ขี้เกียจ มักจะชอบคิดแก้ไขปัญหาให้เสร็จเร็วที่สุด สิ่งนี้ถือเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา ดังนั้น ถ้าอยากได้ไอเดียที่หลากหลายอย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินหรือวิพากษ์วิจารณ์ความคิดที่แปลกแหวกแนวของตัวเอง มันอาจจะไม่ใช่ความคิดที่ดีที่สุดที่เราเลือกทำ แต่มันจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆให้เราได้มากยิ่งขึ้น

แผนที่ความคิด (Mind Mapping)

เป็นอีกหนึ่งแบบฝึกหัดที่ช่วยในการมองหาทางเลือกอาชีพของเรา เชื่อว่าหลายๆคน คงมีโอกาสได้ลองทำแผนที่ความคิดกันมาบ้างแล้ว อุปกรณ์สำคัญที่จะต้องใช้ คือ กระดาษแผ่นใหญ่ เน้นว่าควรเป็นแผ่นใหญ่มากๆ เพราะเนื้อที่กระดาษที่กว้างขึ้น จะช่วยขยายพื้นที่ความคิดสร้างสรรค์ของเราให้มากขึ้นเช่นกัน เราจะทำแผนที่ความคิดทั้งหมด 3 แบบ โดยมีขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1 – เลือกหัวข้อ

โดยใช้บันทึกความสุขที่เราได้ทำตลอดระยะเวลา 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเกณฑ์ในการเลือกหัวข้อ ทั้ง 3 หัวข้อ ได้แก่

  • แผนที่ความคิดที่หนึ่ง – ความสนใจ พิจารณาดูว่ากิจกรรมที่เราได้ทำมานั้น กิจกรรมไหน ได้คะแนนความสนใจจากเราสูงที่สุด อาจจะเป็นกิจกรรมวาดรูปวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือ การออกไปวิ่งที่สวนสาธารณะหลังเลิกงาน ก็ได้
  • แผนที่ความคิดที่สอง – พลังงาน  หลายคนน่าจะเริ่มค้นพบตัวเองเเล้วว่ากิจกรรมไหนที่ทำแล้วรู้สึกหมดไฟให้พลังงานลบ หรือกิจกรรมไหนที่ทำแล้วได้รับพลังงานบวกกลับมาเติมเต็มความรู้สึก ให้เลือกกิจกรรมที่ให้พลังงานบวกกับเรามากที่สุด  เพื่อใช้ในหัวข้อนี้
  • แผนที่ความคิดที่สาม – ภาวะลื่นไหล บางคนอาจเคยเจอกับสภาวะที่ทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง แล้วรู้สึกไหลไปกับมัน ติดลมจนหลงลืมเวลา นั่นแหละคือ Flow State ของเรา ให้เลือกกิจกรรมนั้นมา เขียนเป็นหัวข้อสำหรับต่อยอดในแผนที่ความคิดที่สาม
ขั้นที่ 2 เขียนแผนที่ความคิด

โดยการนำหัวข้อที่ได้จากขั้นที่ 1(เลือกหัวข้อ) เขียนไว้ตรงกลางหน้ากระดาษ จากนั้นให้เขียนคำที่เชื่อมโยงจากคำดังกล่าว ออกมาประมาณห้าถึงหกคำ

ขั้นที่ 3 เขียนคำเชื่อมโยงลำดับรองลงมาและสรุปแนวคิด

นำคำที่เราเขียนในชั้นที่สองมาเป็นจุดตั้งต้น แล้วเขียนคำที่เชื่อมโยงกับความคิดนี้ออกไปอีก โดยไม่ต้องสนใจว่าคำดังกล่าวสอดคล้องกับชั้นที่หนึ่งหรือไม่ ขอแค่มันสอดคล้องกับชั้นที่สองก็พอ ทำต่อไปเรื่อยๆให้ได้สักสามถึงสี่ชั้น 

ให้เราใช้เวลาเพียงสามถึงห้านาทีต่อหนึ่งแผนที่ความคิดเท่านั้น โดยพยายามเขียนความคิดแรกๆที่ เข้ามาในหัว และอย่าปิดกั้นความคิดที่แปลกแหวกแนว หลังจากนั้นให้วงกลมคำศัพท์ที่น่าสนใจในชั้นนอกสุด นำมารวมกันแล้วเขียนบรรยายเป็นอาชีพที่น่าสนใจ ทำแบบเดียวกันนี้กับแผนที่ความคิดที่สองและสามจนเสร็จ เพียงเท่านี้เราก็จะได้ทางเลือกอาชีพที่เป็นไปได้ของเราเพิ่มขึ้นมาอีกสามทาง

ตัวอย่างแผนที่ความคิดของแกรนต์จากหนังสือ Designing Your Life

เพราะชีวิตที่ดีไม่ได้มีแค่แบบเดียว 

มนุษย์เราสามารถมีชีวิตได้หลากหลายแบบ ชีวิตที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกที่เป็นไปได้ของเราเท่านั้น ถ้าเรารู้สึกว่าชีวิตที่เป็นอยู่ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง อย่าเพิ่งวิตกกังวล เพราะถ้าเราได้ออกแบบชีวิตไว้หลายๆทางเลือกแล้ว จะเข้าใจว่าเรายังมีทางเลือกชีวิตแบบอื่นๆ ให้เราได้ลองแก้ตัวอยู่เสมอ

แผนโอดิสซีย์

ลองจินตนาการถึงเส้นทางอาชีพที่เป็นไปได้ของเราในอีก 5 ปีข้างหน้ามาสามเส้นทาง ภายใต้ข้อกำหนดเหล่านี้ คือ

  • ชีวิตที่หนึ่ง : สิ่งที่คุณทำอยู่ คิดต่อยอดจากชีวิตที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน ลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่ามันจะมีลักษณะอย่างไร มีไอเดียอะไรที่อยากจะสานต่อไปในอนาคตอีกมั้ย
  • ชีวิตที่สอง : สิ่งที่คุณจะทำหากชีวิตในข้อที่หนึ่งหายไป คำว่า อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ คงจะไม่ใช่คำพูดที่ดูไกลตัวเราอีกต่อไป งานที่เราเคยคิดว่ามีความมั่นคง วันหนึ่งอาจจะไม่มีความต้องการงานดังกล่าวในตลาดแรงงานแล้วก็เป็นได้ และถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริงๆ เราจะทำงานอะไรแทน
  • ชีวิตที่สาม : สิ่งที่คุณอยากทำหากไม่ต้องสนใจเรื่องภาพลักษณ์และเงินทอง จินตนาการว่าเรามีเงินเหลือมากพอที่จะดูแลตัวเองได้ทั้งชีวิต และไม่ต้องกังวลว่าคนอื่นจะคิดกับเรายังไง เราจะเลือกทำอาชีพอะไร

เมื่อได้อาชีพทั้งสามแบบแล้ว ให้ตั้งชื่อแต่ละเส้นทางอาชีพด้วยคำวลีสั้นๆ พร้อมตั้งคำถามให้กับชีวิตในแต่ละแบบสองถึงสามข้อ เช่น เรามีความสามารถมากพอที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือไม่, ไอเดียของเราดีพอหรือยัง, เราหาเงินทุนสนับสนุนในรูปแบบของการร่วมทุนได้หรือไม่ นักออกแบบที่ดีต้องรู้จักตั้งคำถามแล้วลองทดสอบสมมุติฐานนั้น พร้อมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ ให้ประเมินความน่าสนใจ ในแต่ละทางเลือกด้วยการใส่มาตรวัด ในสี่หัวข้อ ดังนี้ 

  • ทรัพยากร เรามีทรัพยากร เช่น ทักษะ เวลา เงิน พอที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จหรือไม่
  • ความชอบ เราชอบทางเลือกนี้มากน้อยแค่ไหน
  • ความมั่นใจ เรารู้สึกมั่นใจแค่ไหนว่าทางเลือกนี้จะประสบความสำเร็จ
  • ความสอดคล้องเชื่อมโยง ทางเลือกนี้สอดคล้องกับมุมมองชีวิตและมุมมองการทำงานของเราหรือหรือไม่
ตัวอย่างแผนภาพโอดิสซีย์ของมาร์ธา จากหนังสือ Designing Your Life

ขั้นตอนนี้ถือเป็นโอกาสดี ที่เราจะได้ย้อนเวลากลับไปนึกถึงตัวเองในวัยเยาว์ว่าเรามีความฝันอยากจะเป็นอะไร บางคนอาจจะอยากเคยเป็นนักบินอวกาศ นักร้อง นักแสดง หรือบางคนอาจจะมีไอเดียที่แหวกแนวกว่านี้ก็ได้ ไม่มีความคิดไหนผิด เพราะหัวใจของการออกแบบชีวิตคือการลงมือทำ ไม่ใช่นั่งฝันให้งานที่ใช่วิ่งเข้ามาหาเราเอง

อีกหนึ่งเทคนิคที่บิลและเดฟแนะนำเพื่อให้ การทำแผนโอดีสซีย์ของเราสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น คือ การเล่าแผนโอดีสซีย์ของเราให้คนอื่นฟัง โดยคนเหล่านั้นต้องเป็นคนที่สามารถต่อยอดความคิดเราได้ หรือถ้าใครไม่สามารถหากลุ่มคนเหล่านั้นได้จริงๆ อาจใช้วิธีตั้งกล้อง ถ่ายคลิปตัวเองตอนเล่าแผนอาชีพทั้งสามแบบ จากนั้นให้ดูคลิปแล้วจดความคิดเห็นที่เรามีต่อตัวเองออกมา

สร้างต้นแบบ

หลายคนมีความฝันอยากทำธุรกิจร้านกาแฟของตัวเอง แล้วลงมือทำทันที โดยไม่ได้ลองสร้างต้นแบบก่อน ถ้าโชคดี เค้าอาจค้นพบว่างานหลังบ้านของธุรกิจร้านกาแฟเป็นสิ่งที่เค้าชื่นชอบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การทำความสะอาดห้องน้ำ การสั่งวัตถุดิบ การทำบัญชี หรือการควบคุมพนักงาน แต่ถ้าโชคร้าย หากเค้ามาค้นพบตัวเองหลังจากที่ได้จ่ายเงินลงทุนก้อนโตไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ว่าเค้าไม่ชอบและไม่ถนัดการดูแลควบคุมพนักงานในร้าน สิ่งนี้จะทำให้เค้าติดกับดักในธุรกิจที่เป็นความฝันของเค้า และไม่สามารถขยับไปไหนได้ ซึ่งวิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข้างต้นขึ้นนั้น คือ การสร้างต้นแบบ นั่นเอง

สร้างต้นแบบผ่านบทสนทนาหรือประสบการณ์

การสร้างต้นแบบ เหมือนเป็นการจำลองสภาวะแวดล้อมที่เราจะได้เจอจากการทำงานที่เราอยากทำขึ้นมาก่อน โดยการตั้งคำถามแล้วหาคำตอบว่าถ้าเราทำงานนั้นจริงๆจะเป็นอย่างไร วิธีการสร้างต้นแบบอาจจะทำผ่านบทสนทนา โดยการลองพูดคุยกับคนที่อยู่ในสายงานหรืออาชีพที่เราอยากทำ  เพื่อดูว่าหนึ่งวันในอาชีพดังกล่าว ต้องเจอกับอะไรบ้าง หรือ เราอาจสร้างต้นแบบผ่านประสบการณ์ ด้วยการลองลงมือทำงานนั้นจริงๆก็ได้  อาจจะใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง หรือ หนึ่งสัปดาห์ก็ได้ แล้วแต่ความสามารถในการบริหารจัดการเวลาของเรา  ข้อดี คือ ทำให้เราได้ลองหาข้อมูลอย่างละเอียดครบทุกด้าน ว่างานนี้ตอบโจทย์ชีวิตเราจริงหรือไม่ และช่วยให้เราไม่ต้องเสียเวลาเดินหลงทางไปในเส้นทางอาชีพที่ไม่ใช่ สำหรับเรา