ค้นหางานที่ใช่!! ไปกับหนังสือ Designing Your Life ตอนที่ 4/4


ตีกรอบทางเลือกให้แคบลง

หลังจากที่ได้ลงมือทำแบบฝึกหัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจตัวเอง, สร้างเข็มทิศ, ตั้งคำถามเกี่ยวกับมุมมองชีวิตและการทำงาน, จดบันทึกความสุข, เขียนแผนที่ความคิดและแผนโอดีสซีย์แล้ว จะพบว่า เรามีทางเลือกที่น่าสนใจอยู่มากมาย ปัญหาที่ตามมา คือ แล้วเราจะเลือกทางเลือกไหนดี 

การมีทางเลือกน้อย สามารถแก้ไขได้ด้วยการลองทำแบบฝึกหัดใหม่ตั้งแต่ต้นเพื่อเพิ่มทางเลือก แต่การมีทางเลือกมากเกินไป อาจทำให้เราเกิดความรู้สึกสับสันและไม่สามารถตัดสินใจเลือกได้เลย มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของศาสตราจารย์ชีนา ไอเยนการ์ นักเศรษฐศาสตร์เชิงจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญเรื่องการตัดสินใจ  พบว่า การมีทางเลือกมากเกินไป ทำให้มนุษย์ตัดสินใจได้ยากขึ้น เค้าได้ทดลองสังเกตพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อแยมของผู้บริโภคในร้านขายของชำ และค้นพบว่า การมีรสชาติแยมให้ลูกค้าเลือกมากเกินไป จะส่งผลให้ ปริมาณการขายแยมได้ทั้งหมดนั้น ลดน้อยลง เนื่องจากสมองเมื่อเห็นตัวเลือกที่มากเกินไป ความสามารถในการเลือกจะลดลงตามไปด้วย โดยสมองจะเลือกทางเลือกที่สบายที่สุด นั่นคือ การตัดสินใจไม่ซื้อแยม  ดังนั้น อีกหนึ่งขั้นตอนที่เราควรทำในการออกแบบชีวิต คือ การตัดตัวเลือกที่น่าสนใจน้อยที่สุดออกไป เพื่อช่วยให้การตัดสินใจทำได้ง่ายขึ้น

มุมชวนคิดสู่เสรีภาพแห่งการเลือก
ศาสตราจารย์ชีนา ไอเยนการ์(Sheena lyengar)

เลือกอย่างมีวิจารณญาณ 

การตัดสินใจเลือกนั้น เราจะไม่ใช้แค่ทักษะด้านใดด้านหนึ่งเพื่อทำการตัดสินใจ แต่เราจะใช้ความรู้ทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ และสัณชาตญาณร่วมกัน ซึ่งหนึ่งในวิธีที่จะช่วยพัฒนาทักษะในการเข้าถึงความรู้ทางอารมณ์ สัณชาตญาณและจิตวิญญาณ คือ การจดบันทึก สวดมนต์ นั่งสมาธิหรือฝึกโยคะ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเป็นที่แพร่หลายในโลกตะวันตกแล้ว สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกอาชีพที่เหมาะกับตัวเราได้ในที่สุด

ปล่อยวาง 

อีกหนึ่งปัญหา ที่หลายคนมักเจอหลังจากที่ตัดสินใจเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งแล้ว นั่นคือ ความรู้สึกสงสัยอยู่ในใจว่า เราเลือกถูกทางแล้วรึเปล่า สิ่งนี้ดีที่สุดแล้วจริงๆใช่มั้ย  ซึ่งความคิดเหล่านี้จะบั่นทอนความสุขของเรา 

มีงานทดลองของแดน กิลเบิร์ตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการแบ่งผู้ทดลองออกเป็นสองกลุ่ม โดยให้ทั้งสองกลุ่มเลือกผลงานศิลปะของโมเนต์กลับบ้านไป โดยที่กลุ่มแรกได้รับสิทธิ์ให้สามารถเปลี่ยนภาพได้ในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเปลี่ยนภาพได้ 

สามสัปดาห์ผ่านไป เค้าพบว่ากลุ่มที่ได้รับสิทธิให้เปลี่ยนภาพได้นั้น มีความสุขน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิให้เปลี่ยนภาพ นั่นเป็นเพราะ การเปิดทางเลือกไว้ทำให้เค้าเหล่านั้น รู้สึกว่าตัวเองกำลังพลาดอะไรบางอย่างไป อาจมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าที่เราไม่ได้ตัดสินใจเลือก ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้เรามีความสุขที่สุดหลังจากที่ได้ตัดสินใจเลือกอย่างมีวิจารณญาณแล้ว คือ การปล่อยวาง ยอมรับในการตัดสินใจของตัวเอง และมุ่งหน้าใช้ชีวิตของเราต่อไปให้มีความสุข

Ten years later: Dan Gilbert on “The surprising science of ...
แดน กิลเบิร์ต(Dan Gilbert) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ภูมิคุ้มกันความล้มเหลว

ถ้าพูดถึง ความล้มเหลว เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเจอ ทุกคนอยากประสบความสำเร็จในทุกด้านของชีวิต แต่นั่นเป็นไปไม่ได้ โลกนี้ไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันความล้มเหลว  นักออกแบบชีวิตรู้ดีว่าความล้มเหลว เป็นวัตถุดิบชั้นดีของความสำเร็จ  ถ้าเราไม่เคยล้มเหลวเลย แสดงว่าเราไม่ได้ลงมือทำอะไร สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ เราเรียนรู้อะไรบ้างจากความล้มเหลวที่เกิดขึ้น 

ถึงแม้ว่าวัคซีนป้องกันความล้มเหลวนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันความล้มเหลวให้กับตัวเองได้ ด้วยการทำแบบฝึกหัดบันทึกความล้มเหลว เพื่อตกผลึกและเรียนรู้จากความล้มเหลวที่เราเจอโดยเราจะแบ่งความล้มเหลวออกเป็น 3 ประเภท คือ

  • ความผิดพลาด คือ เรื่องผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ ทั่วไปที่ปกติแล้วเราทำถูก เราอาจจะไม่ต้องเรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดมากนัก สิ่งที่ควรทำคือ การยอมรับว่าคนเราสามารถทำพลาดกันได้ ขอโทษบุคคลที่มีส่วนเสียหายจากเหตุการณ์นั้น แล้วเดินหน้าต่อไป

  • จุดอ่อน คือ ความผิดที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งเรารู้สาเหตุและพยายามแก้ไขมันมาโดยตลอด แต่มันก็ไม่สามารถแก้ไขให้หายขาดได้ 100%  เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา เช่น บางคนอาจมีสไตล์การทำงานแบบ last minute จึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของเค้าเหล่านั้น เนื่องจากต้องโต้รุ่งทำงานให้เสร็จ คำแนะนำสำหรับการแก้ไขจุดอ่อน คือ การพยายามหลีกเลี่ยงจากสถาณการณ์ที่จะกระตุ้นให้เกิดความล้มเหลวแบบนี้ขึ้นอีก จากตัวอย่างดังกล่าว อาจใช้วิธีการวางแผนเวลาใหม่ โดยเริ่มทำงานให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
     
  • โอกาสในการเติบโต คือ ความล้มเหลวประเภทที่ไม่ควรเกิดซ้ำอีก เช่น การสื่อสารกับลูกค้าประจำที่ผิดวิธีเนื่องจากเราไม่ได้ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของลูกค้าท่านนี้มาก่อน  เราควรทุ่มเทเวลาที่มีสำหรับการหาสาเหตุและหนทางแก้ไขความล้มเหลวประเภทนี้มากที่สุด เนื่องจากการเรียนรู้จากความล้มเหลวประเภทนี้จะช่วยส่งผลให้เราเติบโต และมีชีวิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตัวอย่างบันทึกความล้มเหลวไม่จบไม่สิ้นของเดฟ จากหนังสือ Designing Your Life

มาถึงตอนนี้ เราจะเริ่มเข้าใจแล้วว่า ชีวิตที่ถูกออกแบบมาอย่างสมบูรณ์นั้น ไม่มีอยู่จริง เราไม่สามารถจัดแบ่งชีวิตให้สมดุลกันหมดในทุกๆด้านได้ บางช่วงเวลาเราอาจต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจรวมถึงเวลาที่มีไปกับงาน จนมีเวลาให้กับเรื่องอื่นๆน้อยลง  การออกแบบชีวิตไม่ได้ทำให้เรามีชีวิตที่ดีที่สุด แต่แก่นที่แท้จริงของมันคือ การมีมุมมองชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม มีความกล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ กล้าที่จะล้มเหลวและเรียนรู้เพื่อเติบโต รวมถึงเข้าใจวิถีที่เราใช้ชีวิตมากขึ้น  เพราะท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เราต้องการจากการออกแบบชีวิตที่ดี คือการใช้ชีวิตให้ดีและมีความสุขนั่นเอง