29 พ.ค. 2021 เวลา 07:19 • หนังสือ
Book Review : ศาสตร์แห่งการเขียนโน้มน้าวใจได้ทุกคน
การเขียนบทความ ความเรียง หรือแม้แต่โพสต์บน Facebook ให้ออกมาน่าสนใจ และให้ผู้อ่านเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนส่งออกไป เป็นเรื่องที่ยากพอดู ยิ่งเป็นการเขียนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ หรือการเขียนรายงานที่สำคัญแล้วยิ่งต้องให้สื่อสารออกไปให้ถูกต้อง ครบถ้วนตรงตามจุดประสงค์ของผู้เขียน สิ่งเหล่านี้ต้องฝึกฝนให้ชำนาญ เพราะถ้าสื่อสารออกไปไม่ดี อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ หรืองานชิ้นๆนั้นๆเลยก็ได้
ตอนเด็กๆทุกคนคงเคยเขียนเรียงความส่งคุณครูหรือประกวดกันใช่ไหมคะ เรายังมีสิ่งที่ติดอยู่ในใจว่าทำไมเราไม่เคยได้รางวัลจากการเขียนนั้นซักที ทั้งๆที่เราก็ตั้งใจเขียนอย่างเต็มที่แล้ว พอถึงระดับมหาวิทยาลัยก็ต้องเขียนรายงานการวิจัย เพื่อจบการศึกษา อาจารย์ส่งกลับมาให้แก้ตั้งหลายครั้งกว่ารายงานชิ้นนั้นจะเสร็จสมบูรณ์
เพื่อนๆเคยตั้งคำถามแบบเราบ้างหรือเปล่าว่า ทำไมการเขียนถึงยากจัง ถ้ามีวิธีที่ทำให้การเขียนง่ายขึ้น และไม่ต้องแก้ไขหลายครั้งคงจะดี มีหนังสือหรือบทความที่จะช่วยให้การเขียนของเราง่ายขึ้นไหมนะ จนมาพบกับหนังสือเล่มนี้
“ศาสตร์แห่งการเขียนโน้มน้าวใจได้ทุกคน”
ศาสตร์แห่งการเขียนโน้มน้าวใจได้ทุกคน ผู้เขียน ซง ซุงฮี
หนังสือศาสตร์แห่งการเขียนโน้มน้าวใจได้ทุกคน เป็นหนังสือที่เป็นการบอกเล่าเทคนิคในการเขียนที่จะเน้นเรื่องการเฟ้นหาไอเดียมาเขียน หนังสือยกตัวอย่างความคิดเห็นด้านการเขียนของบุคคลสำคัญของโลกหลายๆคน ที่งานเขียนช่วยให้ประสบความสำเร็จในงานต่างๆ การเขียนนั้นไม่ว่าจะเขียนด้วยจุดประสงค์ใด และเนื้อหาแบบใด เป้าหมายในการเขียนคือ 1) ถ่ายทอดแก่นเรื่อง 2) อย่างรวดเร็ว 3) ได้ผลตอบรับตามที่หวังไว้ ถ้าจะเขียนให้ได้ดีต้องใช้การบวนการ O–R–E–O MAP
การบวนการ O–R–E–O MAP เป็นเครื่องมือการเขียน ซึ่งนอกจากจะเป็นโครงร่างที่จะช่วยพัฒนาข้อความให้มีพลังแห่งการโน้มน้าว โดยเขียนให้มีตรรกะ แล้วจัดเรียงความคิดกับข้อมูลให้เป็นระเบียบ ยังเป็นเทคนิคที่อัดแน่นไปด้วยขั้นตอนสำคัญต่อการวางแผนเนื้อหาที่จะเขียน ซึ่งประกอบด้วย
Opinion (ความเห็น) นำเสนอความเห็นที่เป็นแกนกลางของเรื่อง
เป็นขั้นตอนการตกแต่งเนื้อหาแกนกลางให้ชัดเจน เพื่อให้เนื้อหาสมเหตุสมผล
Reason (เหตุผล) พิสูจน์ข้ออ้างด้วยเหตุผลหรือหลักฐาน
ขั้นตอนการยกหลักฐานมาพิสูจน์ข้อคิดเห็นหรือแนวคิดที่นำเสนอในขั้นตอนแรก โดยใช้ข้อมูลหรือสถิติแบบวัตถุวิสัย
Example (ตัวอย่าง) พิสูจน์อีกครั้งด้วยเหตุการณ์หรือตัวอย่าง
ขั้นตอนการยกตัวอย่าง เพื่อย้ำการพิสูจน์ให้หนักแน่นยิ่งขึ้นเพราะการให้เหตุผลและการแสดงหลักฐานนั้น คือการกระตุกต่อมวิจารณญาณของผู้อ่าน ส่วนการยกตัวอย่างให้เห็นภาพนั้น คือการกระตุ้นไปยังหัวใจของผู้อ่าน
Opinion (ความเห็น) เน้นย้ำแก่นเรื่องอีกครั้ง และยื่นข้อเสนอ
ในขั้นตอนนี้เราจะใส่เนื้อหาเพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองที่ต้องการจากผู้อื่น สุดท้ายแล้วก็จะเขียนเนื้อหาที่มีพลังโน้มน้าวได้
ก่อนจะเริ่มกระบวนการ O-R-E-O MAP เราต้องตั้งคำถามและจัดระเบียบให้ได้ก่อนว่า 1) เป้าหมาย : ผู้อ่านคือใคร 2) ไอเดีย : จะสื่อสารสิ่งใด 3) การส่งต่อคุณค่า : การให้สัญญาที่ดึงดูดใจผู้อ่าน
อีกเทคนิคที่เราประทับใจ คือการเขียนความเรียงภายใน 180 วินาที ที่จะทำให้จดจ่อสุดๆ
"เทคนิค 0.3 – 4.4 – 180 วินาที ต่อจากนั้น 8 วินาที"
นักวิทยาศาสตร์ทางด้านสมองและนักจิตวิทยาเปิดเผยผลการวิจัย เวลาที่คนเราตัดสินใจว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไรใช้เวลา 0.3 วินาที ส่วนเวลาที่ใช้ไปกับหน้าเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่ง ใช้เวลา 4.4 วินาที
การเขียนความเรียงภายใน 180 วินาที ที่จะทำให้จดจ่อสุดๆ
โครงสร้างของความเรียงที่ดี ต้องมีชื่อเรื่องที่กระตุกต่อมอยากรู้อยากเห็นในเวลา 0.3 วินาที บทนำต้องดึงดูดความสนใจในเวลา 4.4 วินาที และเนื้อหาที่มีตรรกะและความสมบูรณ์ รวมใช้เวลา180 วินาทีที่จะทำให้ผู้อ่านมีปฏิกิริยาที่เราต้องการ ด้วยเนื้อหาภายในครั้งเดียวเนื้อหาต้องยาวไม่เกิน 1,500 ตัวอักษร
ยังมีอีกหลายเทคนิคที่จะทำให้งานเขียนออกมาดึงดูด น่าสนใจและสามารถโน้มน้าวใจผู้อ่านได้ ลองไปอ่านเพิ่มเติมกันได้ในหนังสือ “ศาสตร์แห่งการเขียนโน้มน้าวใจได้ทุกคน” ผู้เขียน ซง ซุงฮี แปลโดยวรวุฒ ขาวเงิน สำนักพิมพ์อมรินทร์ นะคะ
"การเขียนคือทุกสิ่งของการพัฒนาความคิด" เจฟ เบโซส์
#เก็บกองReview
#รีวิวหนังสือ
โฆษณา