Written by 5:28 am Local History

หินสลัก มรณะศิลป์

ที่สุสานบ้านบราโหม ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ท่ามกลางกุโบร์(ที่ฝังศพมุสลิม)ของชาวบ้านที่รายรอบ ภายใต้ศาลาเล็กๆหลังหนึ่งมีกุโบร์ที่ปักบาตูนีซัน(Batu Nisan หินปักบนหลุมศพของมุสลิม)โบราณแกะสลักจากหินทรายสีเหลืองอยู่เหนือกุโบร์คู่หนึ่ง เชื่อกันว่าที่นี่เป็นกุโบร์ของสุลต่านอิสมาอีลชาห์และประไหมสุหรีของพระองค์ สุลต่านอิสมาอีลชาห์หรือพญาตูอินทิรา กษัตริย์องค์แรกของเมืองปตานีและเป็นกษัตริย์ที่หันมานับถือศาสนาอิสลามพระองค์แรกด้วยเช่นกัน ทรงปกครองเมืองปตานีในช่วง คศ.1500-1530

บาตูนีซันโบราณที่แกะสลักลวดลายและอักษรประดิษฐ์ลงบนหินทรายเหล่านี้ มีชื่อเรียกเฉพาะหรือเป็นที่รู้จักกันว่า “บาตูอาเจ๊ะห์ (Batu Aceh)” ทั้งนี้เพราะเป็นบาตูนีซันที่เริ่มใช้ในวัฒนธรรมแถบเมืองสมุทราปาไซ(Samudra-Pasai)และอาเจ๊ะห์(Aceh) ทางตอนเหนือของสุมาตรามาตั้งช่วงคริสตวรรษที่ 14 และเสื่อมความนิยมในช่วงคริสตศตวรรษที่ 20 มีการค้นพบบาตูอาเจ๊ะห์ที่มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือที่กุโบร์สุลต่านมาลิก อัสซอลิห์ (Sultan Malik Al-Salih) สุลต่านที่ปกครองเมืองสมุทราปาไซระหว่าง คศ.1270-1279
เรื่องราวของบาตูอาเจ๊ะห์มีการสำรวจและทำการศึกษาน้อยมาก มีงานวิจัยเพียงไม่กี่ชิ้นที่ทำการศึกษาในเรื่องนี้ ในจำนวนนั้นก็คือวิทยานิพนธ์ของ Othman Mohd.Yatim ซึ่งทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมาลายา งานวิจัยเล่มนี้ได้ทำการสำรวจบาตูอาเจ๊ะห์ในมาลายา ทำการกำหนดอายุและทำการจำแนกเพื่อกำหนดรูปแบบของบาตูอาเจ๊ะห์เป็นคนแรก จนเกิดการขานรูปแบบที่จำแนกจากงานวิทยานิพนธ์ชิ้นนั้นว่า Othman Type หลังจากนั้นก็มีงานของ Daniel Perret ที่ทำการสำรวจและกำหนดรูปแบบเพิ่มเติมจากงานของ Othman Mohd.YAtim ส่วนการศึกษาบาตูอาเจ๊ะห์ในประเทศไทย มีปรากฏในงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีของ สุนิติ จุฑามาศ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี พศ.2554 ในหัวข้อ “การศึกษาหินปักหลุมศพแบบบาตูอาเจ๊ะห์ในบริเวณเมืองโบราณริมอ่าวปัตตานี” และในบทความเรื่อง Tombes musulmanes anciennes et voies possible d’Islamisation de la region de Pattani ของ Daniel Perret รวมทั้งบทความ Islamic cemeteries in Patani(1988) ของ Wynn A.Bougas
บาตูนีซันแบบบาตูอาเจ๊ะห์ พบได้ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา บางพื้นที่ในบรูไนและเมืองท่าหลายแห่งบนคาบสมุทรมลายู มีลักษณะโดดเด่นที่แตกต่างไปจากบาตูนีซันรูปแบบอื่น กล่าวคือ แกะสลักลวดลายและอักษรประดิษฐ์อย่างประณีต ส่วนใหญ่ของบาตูอาเจ๊ะห์จะแกะสลักบนหินทราย มีรูปหลักอยู่สองแบบ คือ รูปทรงแผ่น(Flat Shap)และรูปทรงแท่ง(Pillar Shape) ซึ่งทั้งสองรูปทรงก็มีการกำหนดลักษณะรูปแบบย่อยไปอีกหลายแบบ ข้อข้อความที่จารึกบนบาตูอาเจ๊ะโดยส่วนใหญ่ มักจารึกพระนามของอัลลอฮ์ คำกล่าวปฎิญานรับศาสนาอิสลาม (ชาฮาดะห์)ว่า “ลาอิลาฮ์ฮาอิลลัลลอฮ์ มูฮำมะดัรรอซูลลุลลอฮ์” แปลว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ มุฮำหมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์” ข้อความในคัมภีร์อัลกุรอานที่มักจะยกโองการคัมภีร์อัลกุรอานที่เกี่ยวข้องกับความตาย ทั้งนี้บาตูอาเจ๊ะห์ส่วนหนึ่งมีการสลักจารึกชื่อ วัน เดือน ปีที่เสียชีวิตของผู้ตายเอาไว้ด้วย แต่ก็เป็นส่วนน้อย โดยเฉพาะบาตูอาเจ๊ะห์ที่ค้นพบในปตานี ยังไม่พบว่าจะมีบาตูอาเจ๊ะห์ชิ้นไหนที่จารึกรายละเอียดของผู้ตายไว้เลย


ไม่กี่ปีมานี้ กรมศิลปากรที่ 13 สงขลา ได้ค้นพบบาตูอาเจ๊ะห์แห่งใหม่ในจังหวัดปัตตานี และเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2560 ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามคณะผู้สนใจบาตูอาเจ๊ะห์จากประเทศมาเลเซีย นำโดย Prof.Dr.Othman Mohd.Yatim ผู้เชี่ยวชาญเรื่องบาตูอาเจ๊ะห์และเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรที่ 13 สงขลา ลงพื้นที่เพื่อศึกษาสำรวจและทำการศึกษาเบื้องต้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลสะดาวาติดกับคลองกรือเซะ ซึ่งเป็นคลองชลประทานโบราณที่ขุดจากแม่น้ำปัตตานี มีการค้นพบกุโบร์โบราณที่ใช้บาตูอาเจ๊ะห์แฝงตัวอยู่ในป่าหลังหมู่บ้าน กุโบร์แห่งนี้มีสุสานคู่หนึ่งที่ฝังเคียงกันโดยไม่ปรากฏสุสานอื่นเลย สุสานนิรนามคู่นี้ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆที่จะทำให้ทราบได้ว่าเป็นหลุมฝังศพของผู้ใด บนหลักบาตูอาเจ๊ะห์ที่ปักบนสุสานทั้งสองสุสานนี้มีการแกะสลักลวดลายและจารึกอักษรประดิษฐ์ แต่ยังไม่มีการแกะพิสูจน์ว่าเขียนข้อความอะไร มีเรื่องเล่าจากชาวบ้านถึงสุสานคู่นี้ว่า เป็นสุสานคนเลี้ยงช้างทรงของสุลต่านอิสมาอีลชาห์ และอ้างว่าสระน้ำขนาดเล็กที่อยู่ไม่ไกลจากสุสานนั้นเป็นสระน้ำสำหรับอาบน้ำช้างทรงของสุลต่าน และเมื่อพิจารณาบาตูอาเจ๊ะห์ที่พบบนสุสานคู่นี้ พบว่าเป็นบาตูอาเจ๊ะห์ที่สลักจากหินทรายที่สภาพสวยงามสมบูรณ์ โดยที่บาตูอาเจ๊ะห์คู่หนึ่งมีลักษณะรูปทรงที่คล้ายคลึงกับบาตูนีซันบนสุสานของสุลต่านอิสมาอีลชาห์ที่กุโบร์บ้านบราโหม แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่าและใช้หินทรายคนละชนิด ส่วนสุสานที่เคียงกันนั้นมีบาตูอาเจ๊ะห์ปักไว้คู่หนึ่งที่มีลักษณะโดดเด่น คือ มีรูปทรงเป็นวงกลมสลักอักษรประดิษฐ์ภาษาอาหรับ ซึ่ง Prof.Dr.Othman Mohd.Yatim ได้ให้ความเห็นกับผู้เขียนว่าบาตูอาเจ๊ะห์ที่มีลักษณะคล้ายกับบาตูอาเจ๊ะห์ของสุลต่านอิสมาอีล ชาห์นั้นเป็นศพบุรุษ ส่วนอีกคู่ที่มีรูปทรงกลมเป็นศพสตรี ไม่ปรากฏบาตูอาเจ๊ะห์ที่มีลักษณะวงกลมแบบนี้ในงานวิจัยมาก่อนและบาตูอาเจ๊ะห์ทั้งสองคู่นี้น่าจะเป็นบาตูอาเจ๊ะห์ที่สั่งผลิตมาจากต่างแดน


เป็นที่น่าสงสัยว่าเรื่องเล่าของชาวบ้านที่อ้างว่า สุสานทั้งคู่นี้เป็นสุสานของผู้เลี้ยงช้างทรงของสุลต่านอิสมาอีลชาห์นั้นจะสมเหตุผลหรือมีความเป็นไปได้สักเพียงใด เพราะการใช้บาตูอาเจ๊ะห์ที่สั่งผลิตเฉพาะเช่นนี้ น่าจะเป็นสุสานของบุคคลชั้นสูงที่มีฐานันดรศักดิ์ระดับราชวงศ์หรือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญสูงเสียมากกว่าที่จะเป็นสุสานของผู้เลี้ยงช้างทรงของสุลต่าน


จากการค้นพบบาตูอาเจ๊ะห์ซึ่งมีอายุหลายศตวรรษแฝงอยู่ไม่ไกลจากย่านชุมชนเมืองปัตตานี อาจจะนำไปสู่การตั้งคำถามว่า ยังมีแหล่งโบราณคดีอีกเท่าใดที่ยังไม่มีการค้นพบหรือเปิดเผยในสามจังหวัดชายแดนใต้หรือพื้นที่ที่เคยเป็นอาณาบริเวณของเมืองปตานีในอดีต นอกเหนือจากบาตูอาเจ๊ะห์ซึ่งเป็นสุสานของมุสลิมแล้ว ในบันทึกหลายต่อหลายชิ้นของชาวตะวันตกก็มีการกล่าวถึงชาวต่างชาติที่เป็นชาวยุโรปที่มาตั้งสถานีการค้าที่เมืองปตานี ความขัดแย้งของชาวตะวันตกด้วยกันจนนำไปสู่การต่อสู้ที่ถึงแก่ชีวิต แต่ไม่เคยปรากฏการค้นพบหลักฐานการฝังศพของชาวตะวันตกเหล่านี้ในเขตเมืองปตานีเลย

หมายเหตุ
บาตูนีซัน (Batu Nisa) หรือเรียกในสำเนียงถิ่นปตานีว่า “บาตู แนแซ” คือ หลักหิน(หรืออาจจะใช้วัสดุอื่น เช่น ไม้ ปูนซิเมนต์หล่อ ฯลฯ) เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงสถานที่ฝังศพของมุสลิม โดยจะปักไว้ตรงปลายศรีษะและปลายเท้า เพื่อเป็นหมุดหมายให้ทราบถึงตำแหน่งที่ฝังศพ

(Visited 431 times, 1 visits today)
Close