Portfolio of Skill เมื่อทักษะที่มีเริ่มหมดอายุ เราจะทำอย่างไร?

1783
Portfolio of Skill

จริงๆ บทความนี้เขียนสำหรับคนที่อยู่ในช่วง Mid-Career โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มาสายเทคโนโลยีโดยเฉพาะครับ เพราะเชื่อว่าหลายคนในตอนนี้ก็เริ่มคิดหนักเหมือนกันกับทิศทางอนาคตอาชีพการงานของตัวเอง 

หนึ่งในพอดแคสต์ของ Mission To The Moon ที่ผมชอบทำมากคือพอดแคสต์ที่มีชื่อว่า ‘ALREADY’ ที่ผมทำร่วมกับอาจารย์นภดล ร่มโพธิ์ และพี่ปิ๊ก-ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์ เพราะได้อ่านหนังสือสนุกๆ ที่เราจะนำมาคุยกันในรายการ 

Advertisements

มีอยู่ตอนหนึ่งที่เราพูดคุยกันถึงเรื่องทักษะต่างๆ ที่ใช้ในการทำงานในยุคใหม่ว่าในตอนนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะจริงๆ แล้วเราจะตามยังไงให้ทัน เพราะยังไงเราก็ยังต้องทำงานกันไปอีกหลายปี

จริงๆ ในช่วงเวลา Mid-Career คืออายุสัก 37++ ถึง 50++ ซึ่งก็เป็นอีกช่วงที่เรื่องของการวางแผนการพัฒนาทักษะเป็นเรื่องที่สำคัญ เหตุผลเพราะว่ามันอยู่ในช่วงกลางๆ ของชีวิตนี่แหละครับ และทักษะเรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้ศึกษาลงลึกมาทางสายนี้ 

ถ้าหากว่ายังอายุน้อย ส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ค่อนข้างจะ Digital Native มากๆ อยู่แล้ว จึงน่าจะไม่ค่อยมีปัญหากับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี ถึงแม้ว่ามันจะเปลี่ยนเร็ว แต่ด้วยความที่เทคโนโลยีมันอยู่ในสายเลือด ก็ทำให้สามารถปรับตัวได้เร็ว 

ส่วนคนที่ใกล้เกษียณแล้ว เรื่องเทคโนโลยีอาจจะไม่ต้องใช้เยอะแล้ว เพราะว่ามีน้องๆ คอยช่วยคิดช่วยทำ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจภาพใหญ่และหาทิศทางได้ 

แต่สำหรับ Mid-Career จะไม่เรียนเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ไม่ได้ แถมพอหลายคนไม่ Digital Native ก็เลยเกิดช่องว่างระหว่างกันในองค์กรในเชิง Digital หรือที่เราเรียกกันว่า Digital Divided ก็ได้ครับ

ถ้าหากคุณนั่งในห้องประชุมแล้วเวลาน้องๆ รุ่นใหม่พูดเรื่องเทคโนโลยี แล้วดูเหมือนว่าคุณกำลังฟังภาษาต่างดาวอยู่ หรือรู้สึกว่ายิ่งฟังยิ่งปวดหัว ยิ่งฟังยิ่งไม่เข้าใจ อันนี้อาจจะเข้าข่ายมี Digital Divided ได้ครับ

และถ้าหากคุณคิดว่าน้องๆ ต้องมาอธิบายเรื่องใหม่ๆ ทุกเรื่องให้คุณเข้าใจตลอด ผมคิดว่าคุณอาจจะคิดผิด นอกจากมันจะยากที่จะเข้าใจจริงๆ แล้ว ของพวกนี้มันต้องมีพื้นฐานพอสมควร การทำแบบนี้ยังเข้าข่าย “เป็นภาระกับลูกน้อง” อีกด้วย 

mm2021

แล้วเราจะทำยังไงดี?

พี่ปิ๊กบอกว่าทักษะที่ทำงานอยู่เหมือนหลายๆ อย่างใกล้จะหมดอายุแล้ว เหมือนกับนี่คือเฮือกสุดท้ายแล้วของทักษะชุดนี้ ซึ่งก็จะทำมันให้ดีที่สุดเพื่อเก็บไว้เป็นทุนรอนในการสร้างและขยายทักษะชุดใหม่ เพื่อต่อเวลาให้เรายังคง “เกี่ยวข้อง“ กับโลกนี้ต่อไป

ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับประเด็นนี้มากๆ 

โควิด-19 ทำให้ผมรู้อย่างหนึ่งว่าความรู้ต่างๆ ที่ผมมีใกล้หมดอายุเต็มทีแล้ว  

ผมเห็นภาพเรื่องนี้ชัดมากตอนจะเอาสไลด์เรื่อง Marketing Management ไปบรรยาย แล้วพบว่าของเก่าๆ นี่เรียกว่าแทบจะใช้ไม่ได้แล้วต้องมาคิดกันใหม่หมด เหลือที่ใช้ได้จริง 20% เห็นจะได้ครับ

ตอนนี้เลยเป็นเวลาเรื่องการนั่งคิดจริงจังว่าจะเอายังไงกับการพัฒนาทักษะที่เหลืออยู่ดี ซึ่งวันนั้นในรายการก็มีการคุยกันว่าเราจะไปแนวไหนดีระหว่าง 

1. พัฒนาทักษะใหม่ตามที่เป็น Mega Trend ของโลก 

2. พัฒนาทักษะเดิมที่เราแข็งอยู่แล้ว แต่ปรับให้เข้ากับโลกใหม่

Advertisements

จริงๆ ส่วนตัวผมคิดว่า ต้องทำทั้งคู่ แต่อาจจะเน้นมาที่ข้อ 2 เยอะหน่อย เพราะว่าข้อ 1 ใช้แรงเยอะ แต่อาจจะได้ผลน้อย แต่ยังไงก็ต้องทำอยู่ดีครับ 

ค่อยๆ นั่งคิดนั่งเขียนดูว่าเรามีทักษะอะไรที่เข้มแข็งอยู่แล้วบ้าง แล้วโลกต่อไปข้างหน้าจะมีทักษะอะไรที่น่าจะเกี่ยวข้องกับงานของเราบ้าง 

Portfolio of Skill ที่ควรมี

ในแง่มุมของการพัฒนาทักษะนั้น ผมมองมันเป็นลักษณะของ Portfolio ครับ คือมันต้องมีหลายๆ อย่าง แต่ต้องมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ด้วย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเรื่องต่างๆ เหล่านี้สำคัญ 

1. ทักษะด้านเทคโนโลยี 

เกือบทุกสายงานตอนนี้ต้องมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบ้างไม่มากก็น้อย อะไรที่เคยคิดว่าไม่ค่อยเกี่ยว เดี๋ยวนี้ก็เกี่ยวข้องมากขึ้นเยอะครับ เช่น ศิลปินหลายคนก็ลงมาทำ NFT เป็นต้น 

ดังนั้นเรื่องทักษะด้านเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่ได้แน่ๆ แต่คำถามคือเราต้องเรียนขนาดไหนถึงจะพอ? 

คำตอบน่าจะเป็นว่าเราทำงานอะไร เช่น ถ้าเราเป็น CEO ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุด ต้องเข้าใจว่ามีเทคโนโลยีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเราบ้างและต้องมีความรู้พอที่จะ “เลือก” ได้ว่าควรใช้เทคโนโลยีแบบไหน รวมถึงเข้าใจถึงศักยภาพและข้อจำกัดของเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย และแน่นอนว่าต้องอัปเดตความรู้ตลอดเวลา  

2. ทักษะด้านคน

ยิ่งยุค Automation ใกล้มาถึงมากเท่าไร เรื่องสำคัญที่จะตัดสินความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานจะยิ่งมาอยู่กับทักษะเรื่องคนมากๆ คนที่สื่อสารเก่ง เข้าอกเข้าใจผู้อื่น เป็นผู้ฟังที่ดี ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางความคิด ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายเรื่อง Generations และอีกมากมายเป็นเรื่องสำคัญมาก 

เพราะท้ายที่สุดแล้วความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนี่แหละจะนำพามาซึ่งความสำเร็จ 

3. ทักษะความแม่นยำเรื่อง Timing ของการตัดสินใจ

วิธีการในอดีตที่เราเคยใช้ตัดสินใจอาจจะใช้ไม่ได้ในหลายๆ บริบทของโลกปัจจุบัน ดังนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเราต้อง “ฝึก” ทักษะในการตัดสินใจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจมากขึ้น หรือการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ที่ช่วยให้การตัดสินใจแม่นยำขึ้น เป็นต้น 

4. ทักษะในการสร้างนิสัยดีๆ

พออายุเยอะขึ้น สภาพร่างกายและจิตใจนั้นส่งผลต่อคุณภาพของงานอย่างมาก ผมเชื่อว่าร่างกายและจิตใจที่ดีมาจากนิสัยเล็กๆ ที่เราทำทุกวัน ดังนั้นอยากได้อะไรต้องสร้างนิสัยดีๆ ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กิน นอน ออกกำลังกาย หรือฝึกทำจิตใจให้สงบ เหล่านี้เป็นตัวแปรที่สำคัญมากๆ ในการสร้างงานที่ดี 

พอเรามีกลยุทธ์แล้วว่าเราจะพัฒนาทักษะด้านใดบ้าง อีกเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญมากๆ คือการต้องทำความเข้าใจกับ Life Stage ของเราในตอนนี้ด้วยว่า เวลาบนโลกของเราก็เหลือน้อยลงทุกที เราต้องรู้จริงๆ ได้แล้วนะว่าเราต้องการอะไร อะไรที่ทำให้เรามีความสุข ไม่ใช่ความสุขประเดี๋ยวประด๋าว แต่เป็นความสุขที่ “สงบ” และ “เย็น” 

ท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องไม่ลืมอีกเช่นกันครับว่า ของทุกอย่างบนโลกนี้เป็นเรื่องชั่วคราวทั้งสิ้น 

บางอย่างถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็คงต้องปล่อยให้มันเป็นไปในท้ายที่สุดครับ


#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements