ไปนอนได้แล้ว! เพราะชีวิตที่ดี เริ่มต้นจากการนอนที่ดี

344
การนอน

แหงนหน้าขึ้นไปมองนาฬิกาบนฝาผนัง เข็มสั้นใกล้ชี้ไปที่เลข 12 บอกเวลาว่ากำลังเข้าใกล้เที่ยงคืนแล้ว ทั้งที่ไม่มีงานหรืออะไรให้ทำก็จริง แต่ตัวเราก็ยังคงนอนไถหน้าฟีดโทรศัพท์อยู่บนเตียงจนเข็มนาฬิกาได้ค่อยๆ เลยผ่าน เลข 1 2 และ 3…

‘การนอน’ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตรตามนาฬิกาชีวิตอยู่ทุกวัน แต่ทั้งที่ก็รู้อยู่แก่ใจว่าการนอนดึกส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร แต่ไม่ว่าอย่างไรก็อดไม่ได้ที่จะถ่างตาอยู่ต่อยามค่ำคืน หรือบางครั้ง ต่อให้เลือกล้มตัวลงนอนไปแล้วก็ตาม แต่พอตื่นเช้ามาก็ยังรู้สึกว่านอนไม่เต็มอิ่ม หัวสมองไม่ปลอดโปร่ง เหมือนคนไม่ได้นอนมาอยู่ดี หรือนั่นอาจหมายความว่าเรานอนมาไม่ดีพอหรือเปล่านะ?

‘การนอนที่ดี’ คืออะไร?

การนอนที่ดี ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ คือ 

Advertisements

ระยะเวลาในการนอน (Sleep Duration) 

จำนวนระยะเวลา นับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ซึ่งระยะเวลานอนที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงวัย เมื่ออายุที่มากขึ้น ความต้องการในการนอนก็ลดลง สำหรับคนที่อายุระหว่าง 18-64 ปี ระยะเวลานอนที่เหมาะสม คือ วันละ 7-9 ชั่วโมง และลดลงไปเป็น 7-8 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี

ความต่อเนื่องในการนอน (Sleep Continuity) 

คุณภาพของการนอนสามารถวัดได้จากความต่อเนื่อง การนอนโดยไม่ถูกรบกวน หรือการสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก จะสามารถทำให้สมองสามารถสั่งการให้ระบบต่างๆ ในร่างกายได้เข้าสู่การพักผ่อนได้อย่างต่อเนื่อง และเข้าสู่กระบวนการหลับในระดับที่ลึกขึ้นได้ นี่จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างกายได้เข้าสู่กระบวนการพักผ่อนจริงๆ

เวลานอน (Sleep Timing)

ในร่างกายคนเรามีสิ่งที่เรียกว่า Circadian Rhythm ที่เป็นนาฬิกาบอกเวลาคอยควบคุมการทำงานระบบต่างๆ ภายในร่างกาย อย่างเช่นช่วงเวลาในการตื่นและการนอน เมื่อมีแสงสว่างจะเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวขึ้นมา หรือเมื่ออากาศเย็นลง ในพื้นที่มืดทึบ ก็เป็นสิ่งที่บอกร่างกายให้ถึงเวลานอน 

เพราะการนอนที่ดีจะช่วยให้…

อารมณ์ดี

เคยไหมในวันที่นอนไม่พอ ก็มักจะทำให้วันนั้นอารมณ์ไม่ดีไปทั้งวัน ทั้งทำให้หงุดหงิดง่าย นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกตัวเองแล้ว ยังส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออกมาไปยังคนรอบตัวอีกด้วย

สุขภาพดี

การได้นอนพักผ่อนที่เพียงพอจะทำให้ระบบมัดกล้ามเนื้อได้มีเวลาพักให้แข็งแรง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อีกทั้งยังส่งผลต่อระบบโลหิต การสูบฉีดเลือดของหัวใจ และมีผิวพรรณที่สดใส ในทางตรงกันข้าม หากพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ค่อยได้นอนแล้วล่ะก็ ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่จะตามมา จากระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง เช่น โรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง

ความจำดี

สิ่งที่กระทบอย่างเห็นได้ชัดในวันที่ไม่ได้พักผ่อนมาเพียงพอ ก็มักจะทำให้วันทั้งวันนั้นมึนๆ งงๆ เบลอๆ และในระยะยาวก็ส่งผลต่อสมองให้กลายเป็นคนขี้ลืม และเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน

Advertisements

ดังนั้นแล้ว หากตอนนี้คุณกำลังพบกับปัญหาผิวแย่ สมองตื้อ คิดงานไม่ออก ขี้ลืม หงุดหงิดง่ายเหล่านี้อยู่ล่ะก็ บางทีนี่คือสัญญาณบอกคุณแล้วว่า ตอนนี้อาจได้เวลาเข้านอนของคุณแล้วนะ!


อ้างอิง:

https://bit.ly/2UvPCGn

https://bit.ly/3hmGgWm

#missiontothemoon 

#missiontothemoonpodcast

#behavior

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements