ชวนคุยไม่เก่ง? ลองวิธี ‘Small Talk’ พูดเรื่องไร้สาระให้มีสาระดูสิ

5228
small talk

‘คุณเป็นใครในที่ทำงาน?’

คนที่เดินเข้าออฟฟิศแต่ละที กว่าจะได้ไปถึงโต๊ะทำงาน ต้องได้แวะคุยกับคนนั้นที คนนี้ที ไปตลอดระหว่างทาง

หรือว่าเป็นคนที่เดินดุ่มๆ ตรงไปที่โต๊ะ นั่งทำงานเงียบๆ คนเดียวในทันที

Advertisements

“ทั้งที่ความจริงก็อยากคุยกับคนอื่นด้วยนะ แต่ชวนคุยไม่เก่งเลย จะทำยังไงดี?”

ความสนิทสนม เริ่มต้นที่ความไร้สาระ

ผลการวิจัยจาก Washington State University พบว่า การพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ส่วนใหญ่ก็เริ่มมาจากการได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องราวส่วนตัว เป็นเรื่องไร้สาระทั่วไปนอกเหนือจากเรื่องงาน ก่อนจะเปิดใจได้ทำความรู้จักเพิ่มเติม สร้างความสนิทสนมกันต่อไป

ในที่ทำงานก็ไม่จำเป็นว่าต้องมีแต่เรื่องงานหรือมีสาระเสมอไป

แต่ว่าจะเริ่มคุย ‘เรื่องไร้สาระ’ ยังไงดี? การที่อยู่ๆ จะเดินเข้าไปคุยเรื่องอะไรไม่รู้กับใครสักคนเลยก็อาจจะดูแปลกๆ ไปซะหน่อย 

ถ้าอย่างนั้น ลองเริ่มด้วยการพูดคุยเรื่องรอบตัวทั่วไปกันก่อน เป็นการช่วยสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเอง รู้สึกผ่อนคลาย หรือเป็นการคุยที่เรียกว่า ‘Small Talk’ ซึ่งเป็นการคุยเรื่องที่ไม่ได้จริงจังหรือเป็นเรื่องงาน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวจนเกินไป จะเป็นสิ่งที่สามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์ ทำให้สนิทใจ กล้าพูดคุยกันต่อไปมากยิ่งขึ้น เมื่อคนที่ทำงานมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแล้ว ก็จะช่วยส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีต่อไปได้อีกด้วย นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน ไม่ใช่แค่กับคนที่คุยไม่เก่งเท่านั้น แม้แต่คนที่ชอบพูดก็ควรจะหาวิธีคุยที่เหมาะสมด้วยเหมือนกัน

ว่าแต่จะเริ่มต้น Small Talk ยังไงดีล่ะ?

เป็น Active Listener

อันดับแรก การจะเป็นผู้พูดที่ดีได้ ต้องเริ่มจากการเป็นผู้ฟังที่ดีซะก่อน การตั้งใจฟัง คอยสังเกตคำพูดและพฤติกรรมอีกฝ่าย ถ้าฟังอีกฝ่ายด้วยความเข้าใจจริงๆ ก็จะทำให้อีกฝ่ายได้เห็นถึงความจริงใจ สร้างความประทับใจดีๆ ต่อกัน และถ้าตั้งใจฟังอีกฝ่ายพูดดีๆ แล้วล่ะก็ เราก็สามารถหาหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของอีกฝ่ายมาพูดคุยต่อไปกันได้อีกด้วย

ไม่ต้องรีบตีสนิท

การจะทำความรู้จักกับใครสักคนต้องใช้เวลา ไม่ควรถามซอกแซกเรื่องส่วนตัวมากเกินไป ยิ่งเพิ่งรู้จักใครใหม่ๆ คงไม่มีใครอยากโดนจี้ถาม เหมือนโดนสัมภาษณ์กันเท่าไหร่นัก ลองถามจากเรื่องรอบๆ ตัวดูก่อน และหลีกเลี่ยงบทสนทนาเชิง Negative หรือเรื่องที่ Sensitive อย่าง ความเชื่อ รสนิยมทางเพศ การเงิน เจอกันแรกๆ คงไม่มีใครสะดวกใจคุยเรื่องส่วนตัวลงลึกขนาดนั้น และก็อย่าลืมที่จะรู้จักชื่นชมสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ของอีกฝ่าย โดยต้องเลือกใช้คำให้เหมาะสมด้วย เช่น เพื่อนตัดผมมาใหม่ก็ถามว่า “ตัดผมมาใหม่เหรอ” ดีกว่าพูดว่า “ตัดทรงอะไรมาอะ”

แชร์ความชอบ

หลังจากลองสังเกตพฤติกรรมอีกฝ่าย ลองหาว่าอะไรที่เรามีความสนใจร่วมกัน แล้วเอาสิ่งนั้นมาตั้งเป็นคำถามคุยกันต่อไป แต่ต้องนึกไว้เสมอว่า แต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน ถ้ามีอะไรที่ความเห็นไม่ตรงกัน ก็ไม่ควรวิจารณ์ ตัดสินความชอบคนอื่น เช่นพูดว่า “ชอบไปได้ยังไง” แต่ให้นำมาแลกเปลี่ยน เล่าความคิดของตัวเอง พร้อมกับรับฟังทัศนคติของอีกฝ่าย หรือชวนกันคุยในสิ่งที่มีอะไรคล้ายๆ กัน จะได้ทำให้สามารถพูดคุยต่อบทสนทนากันต่อไปได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องฝืนกันทั้งสองฝ่าย

อย่าพูดแต่เรื่องตัวเอง ให้ถามอีกฝ่ายด้วย

ถ้าสุดท้ายแล้วไม่รู้จะพูดอะไรต่อดี ก็ให้ลอง ‘ถามคำถาม’ จากสิ่งใกล้ๆ ตัวดู แต่อย่าถามคำถามปลายปิด ที่เป็นแค่ Yes/No Question เพราะจะยิ่งทำให้ดูไม่ตั้งใจ เหมือนแค่ถามไปแบบพอเป็นพิธี ยิ่งจะทำให้กลายเป็นเดดแอร์ เกร็งกันกว่าเดิมจนจบประเด็นไปดื้อๆ แต่ให้ถามอะไรที่ต่อบทสนทนาต่อไปได้ ถ้าเป็นคนตอบ ก็อย่าตอบอะไรแค่สั้นๆ ลองอธิบายเพิ่มเติมต่อสักหน่อย หรือถามอีกฝ่ายกลับด้วยก็ได้เหมือนกัน

Advertisements

ไร้สาระให้ถูกที่ ถูกเวลา ถูกกาลเทศะ 

บางคนไม่เล่นด้วยก็ไม่ต้องพยายามคุยต่อ มนุษย์เราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำให้ทุกคนพอใจ หรือเราจำเป็นต้องเข้ากันได้กับทุกคนบนโลกใบนี้ แค่เลือกหาคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ คุยกันรู้เรื่องได้สักคนก็พอแล้ว

เทคนิคเหล่านี้ไม่ได้สามารถใช้ได้กับแค่กับเพื่อนร่วมงานเท่านั้น แต่ไม่ว่ากับใคร ในความสัมพันธ์ไหน การรู้จักพูด มี Communication Skill ที่ดี ก็เป็นสิ่งจำเป็นในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่ากับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรักก็ตาม

เพราะการคุยเล่นไม่ได้แปลว่าจะเป็นเรื่องไร้สาระอย่างเดียว หลังจากนี้มาคุยเรื่องไร้สาระให้เป็นประโยชน์กันเถอะ!



อ้างอิง:

https://bit.ly/3zNtSVD

https://bit.ly/3x5WgAA

https://bit.ly/3zSA9j3

#missiontothemoon 

#missiontothemoonpodcast

#softskill

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements