วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ภาพวาดพุทธประวัติ โดย อ.คำนวน ชานันโท สุดยอด พุทธจิตรกร (ตอนที่ 9)

ภาพวาดพุทธประวัติ 35

เช้าวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเสวยมังสะสุกรอ่อนที่บ้านนายจุนทะ นับเป็นปัจฉิมบิณฑบาต  พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวาร ได้เสด็จออกจากเขตแขวงเมืองไพศาลีไปโดยลำดับ  เพื่อเสด็จไปยังเมืองกุสินารา สถานที่ทรงกำหนดว่าจะนิพพานเป็นแห่งสุดท้าย จนไปถึงเมืองปาวาในวันขึ้น  ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันก่อนเสด็จนิพพานเพียงหนึ่งวัน  เสด็จเขัาไปประทับอาศัยที่สวนมะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตร นายจุนทะเป็นลูกนายช่างทอง ได้ทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารเสด็จมาพักอยู่ที่สวนมะม่วงของตน ก็ออกไป  เฝ้าและฟังธรรม ฟังจบแล้ว นายจุนทะกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์เสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านของตนในเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น.

เวลาเช้าวันรุ่งขึ้น นายจุนทะได้ถวายอาหารพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ที่บ้านของตน อาหารอย่างหนึ่งที่นายจุนทะปรุงถวายพระพุทธเจ้าในวันนี้มีชื่อว่า 'สูกรมัททวะ'  คัมภีร์ศาสนาพุทธชั้นอรรถกถาและมติของเกจิอาจารย์ทั้งหลายยังไม่ลงรอยกันว่า 'สูกรมัททวะ' นั้นคืออะไรแน่ บางมติว่าได้แก่สุกรอ่อน (แปลตามตัว สูกร-สุกร หรือหมู มัททวะ-อ่อน) บางมติว่า  ได้แก่ เห็นชนิดหนึ่ง และบางมติว่าได้แก่ ชื่ออาหารอันประณีตชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวอินเดียปรุงขึ้นเพื่อถวาย แก่ผู้ที่ตนเคารพนับถือที่สุด เช่น เทพเจ้า เป็นต้น เป็นอาหารประณีตชั้นหนึ่งยิ่งกว่าข้าวมธุปายาส  พระพุทธเจ้าตรัสบอกนายจุนทะให้จัดถวายสูกรมัททวะนั้นถวายแต่เฉพาะพระองค์ ส่วนอาหารอย่างอื่นให้จัดถวายพระสงฆ์ และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงฉันเสร็จแล้ว รับสั่งให้นายจุนทะนำเอาสูกรมัททวะที่เหลือจากที่พระองค์ทรงฉันแล้ว ไปฝังเสียที่บ่อ เพราะคนอื่นนองจากพระองค์นั้นฉันแล้ว ร่างกายไม่อาจจะทำให้อาหารนั้นย่อยได้ เสร็จแล้วพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้นายจุนทะฟังเป็นที่ชื่นชม และรื่นเริงในกุศลบุญจริยาของ แล้วทรงอำลานายจุนทะเสด็จต่อไปยังเมืองกุสินาราต่อไป 

ภาพวาดพุทธประวัติ 36

ทรงแสดงธรรมโปรดสุภัททะปริพาชกให้สำเร็จมรรคผล นับเป็นปัจฉิมเวไนย พระอานนท์สร่างจากความเสียใจถึงร้องไห้แล้ว ท่านก็เข้าไปแจ้งข่าวในเมืองตามพระดำรัสรับสั่งของพระพุทธเจ้า เพื่อรายงานให้เจ้ามัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราทราบว่า พระพุทธเจ้าจะนิพพาน  ในตอนสิ้นสุดแห่งราตรีวันนี้แล้ว แจ้งว่าใครจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ให้รีบไปเฝ้าเสียแต่ในขณะนี้ จะได้ไม่เสียใจเมื่อภายหลังว่าไม่ได้เฝ้า.  พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ที่กำลังประชุมกันอยู่ในเมือง ด้วยเรื่องพระพุทธเจ้านิพพานต่างก็ถือเครื่องสักการะมาเฝ้าพระพุทธเจ้ากันเนืองแน่นที่สุด แต่ละคนน้ำตานองหน้า ร่ำไห้รำพันต่างๆ นานา เมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าจะนิพพาน ในจำนวนคนที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งนี้ มีปริพาชกคนหนึ่งนามว่า 'สุภัททะปริพาชก' คือ นักบวชนอกศาสนาพุทธพวกหนึ่ง สุภัททะปริพาชกเข้าหาพระอานนท์ ภายหลังเจ้ามัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราได้เข้าเฝ้าแล้ว  บอกว่าใคร่จะขออนุญาตเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อทูลถามปัญหาบางอย่างซึ่งข้องใจมานาน พระอานนท์ ปฏิเสธปริพาชกผู้นี้ว่าอย่าเลย อย่าได้รบกวนพระพุทธเจ้าเลย เพราะตอนนี้กำลังจะนิพพาน

ขณะนั้น พระพุทธเจ้าซึ่งทรงได้ยินการโต้ตอบกันระหว่างพระอานนท์กับสุภัททะปริพาชก จึงตรัสบอกพระอานนท์ว่าพระองค์ทรงอนุญาตให้สุภัททะปริพาชกเข้าเฝ้าได้ เมื่อสุภัททะปริพาชกได้โอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงทูลถามปัญหาที่ข้องใจมานาน ปัญหาข้อหนึ่งว่าสมณะผู้ได้บรรลุมรรคผลในศาสนาอื่นนอกจากพระพุทธศาสนามีหรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่มี แล้วทรงแสดงธรรมให้ปริพาชก ฟังโดยละเอียด.  สุภัททะปริพาชกฟังแล้วเสื่อมใส ทูลขอบวชเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่านักบวชในศาสนาอื่นจะมาขอบวชเป็นพระภิกษุในศาสนาของพระองค์นั้น จะต้องอยู่ปริวาสครบ ๔ เดือนก่อนจึงจะบวชได้ สุภัททะปริพาชกกราบทูลพระพุทธเจ้าว่าอย่าว่าแต่ ๔ เดือนเลย จะให้อยู่ถึง ๔ ปี ก็ยอม.  พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ให้พระสงฆ์จัดการบวชให้สุภัททะปริพาชกในคืนวันนั้น สุภัททะปริพาชกจึงนับเป็นสาวกองค์สุดท้ายของพระพุทธเจ้า 

ภาพวาดพุทธประวัติ 37

ทรงยกพระธรรมวินัยไตรปิฎกเป็นศาสดา ประทานปัจฉิมโอวาทแล้วปรินิพพาน  ก่อนเสด็จนิพพานเล็กน้อย คือภายหลังทรงโปรดสุภัททะปริพาชกแล้ว พระพุทธเจ้าประทานโอวาทพระสงฆ์ โอวาทนั้นเป็นพระพุทธดำรัสสั่งเป็นครั้งสุดท้าย มีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับพระสงฆ์ยังใช้ถ้อยคำเรียกขานกันลักลั่นอยู่ คือ คำว่า 'อาวุโส' และ 'ภันเต' อาวุโสตรงกับภาษาไทยว่า  'คุณ' และภัตเตว่า 'ท่าน'.  พระพุทธเจ้าตรัสสั่งว่า พระที่มีอายุพรรษามากให้เรียกพระบวชภายหลังตน หรือที่อ่อนอายุ พรรษากว่าว่า 'อาวุโส' หรือ 'คุณ' ส่วนพระภิกษุที่อ่อนอายุพรรษา พึงเรียกพระที่แก่อายุพรรษากว่าตนว่า  'ภันเต' หรือ 'ท่าน'.   ครั้นแล้วทรงเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ทั้งปวงทูลถาม ว่าท่านผู้ใดสงสัยอะไรในเรื่องที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้วก็ให้ถามเสียจะได้ไม่เสียใจเมื่อภายหลังว่าไม่มีโอกาสถาม  ปรากฏตามท้องเรื่องใน มหาปรินิพพานสูตร ว่า ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดทูลถามพระพุทธเจ้าในข้อสงสัยที่ตนมีอยู่เลย.  เมื่อก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จนิพพานนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตั้งสาวกองค์ใดให้รับตำแหน่งเป็นพระศาสดาปกครองพระสงฆ์สืบต่อจากพระองค์เหมือนพระศาสดาในศาสนาอื่น เรื่องนี้ก็ไม่มีพระสงฆ์ องค์ใดทูลถามพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งพระสงฆ์ไว้ชัดเจนก่อนจะนิพพานว่า  "เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์จำนงจะถอนขุททานุขุททกสิกขาบท ก็จงถอนเถิด"

ตรัสบอกพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้ และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่านสืบแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว".   ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า  "ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้เราขอเตือนพวกท่านให้รู้ว่า  สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลกมีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่นให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"  หลังจากนั้นไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย จนกระทั่งนิพพานในเวลาสุดท้ายของคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ  เดือน ๖ หรือวันเพ็ญวิสาขะ ณ ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ที่ออกดอกบานสะพรั่งเป็นพุทธบูชานั่นเอง 

ที่มา : http://www.tairomdham.net

ภาพวาดพุทธประวัติ โดย อ.คำนวน ชานันโท สุดยอด พุทธจิตรกร  (ตอนที่ 1),  (ตอนที่ 2),  (ตอนที่ 3),    (ตอนที่ 4),  (ตอนที่ 5),   (ตอนที่ 6),   (ตอนที่ 7),   (ตอนที่ 8),   (ตอนที่ 9

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: