แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ งานระบาด แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ งานระบาด แสดงบทความทั้งหมด

25 พ.ค. 2566

สรุปสถานการณ์โรคที่ต้องเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ประจำเดือน พ.ค.2566


สถานการณ์ไข้เลือดออก คาดว่าปีนี้จะเป็นปีของการระบาด โดยในเขตสุขภาพที่ 12 จังหวัดที่น่าสนใจคือ สงขลา ซึ่งมีอัตราป่วยสูงเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ ส่วนยะลาอยู่ลำดับที่ 16 ของประเทศ
ส่วนสถานการณ์ในอำเภอรามัน การระบาดได้ผ่านช่วง wave แรกไปแล้ว (ช่วงขาขึ้นของการระบาด ตั้งแต่ ตุลาคม 65 – กุมภาพันธ์ 66) แต่ทั้งนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอม ถึงแม้ 3 สัปดาห์ล่าสุด รามันจะมีผู้ป่วยเพียง 7 ราย

สถานการณ์การระบาดของมาลาเรีย ภาพรวมของประเทศ  โดยยะลามียอดอัตราป่วย อยู่ลำดับที่ 7 ของประเทศ

รายละเอียดตามสไลด์ด้านล่างนี้เลยครับ


22 ธ.ค. 2565

สถานการณ์โรคตาแดง อ.รามัน | 22 ธ.ค.65

สถานการณ์ผู้ป่วยโรคตาแดงอำเภอรามัน
ระหว่างวันที่ 1-21 ธันวาคม 2565

ผู้ป่วยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยเยอะที่สุด อยู่ในช่วง 5-9 ปี และ 10-14 ปี ตามลำดับ
ซึ่งเป็นกลุ่มวัยเรียน และมีการระบาดกระจายหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ ตำบลบาโงย วังพญา และจะกว๊ะ 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เน้นมาตรการเชิงรุก ในการลงพื้นที่เพื่อให้สุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ในโรงเรียน/ชุมชน พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะในโรงเรียน เน้นให้มีระบบคัดกรองอาการเด็กก่อนเข้าเรียน ซึ่งหากพบเด็กป่วยหรือมีอาการสงสัยให้แยกตัว และประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
ทั้งนี้ เพื่อเฝ้าระวังการระบาดแบบเป็นกลุ่มก้อนต่อไป

15 มิ.ย. 2565

โรคมือเท้าปาก โรคระบาดในเด็กที่ต้องระวัง


สาเหตุและอาการของโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ Enterovirus เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้ ซึ่งอาจจะไข้ต่ำหรือไข้สูงก็ได้และจะมีแผลในปาก มีผื่นที่มือที่เท้า

ส่วนใหญ่แผลในปากเราพบได้หลายตำแหน่ง ตั้งแต่บริเวณของเพดานแข็งเพดานอ่อนหรือบางคนก็พบที่กระพุ้งแก้มหรือที่ลิ้นได้ บางคนเป็นเยอะก็จะลามออกมาที่ริมฝีปากหรือรอบ ๆ ริมฝีปากเลยก็มี ส่วนผื่นที่มือที่เท้า ส่วนใหญ่จะเป็นตุ่มแดง ๆ หรือบางครั้งก็เป็นตุ่มน้ำใสได้ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า เป็นต้น

บางคนเป็นแผลเยอะ และทำให้เขาเจ็บปากมาก รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ ถ้าเกิดว่าเขามีอาการเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้ พวกนี้ก็คงต้องมาโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือด ช่วยประคับประคองไป จนกว่าอาการจะดีขึ้น รับประทานได้ดีขึ้นก็กลับบ้าน


ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 5-7 วัน แต่ขณะเดียวกันคือ ภาวะแทรกซ้อนก็พบได้ อันที่รุนแรงที่สุด เราเรียกว่าเป็นก้านสมองอักเสบ ซึ่งพบได้น้อยมาก ๆ 1-5 รายต่อปี แล้วก็มีโอกาสเสียชีวิตที่สูง พ่อแม่ต้องสังเกตให้ดีว่าเด็กมีอาการที่น่ากังวลไหม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเขามีอาการซึมลง หายใจหอบ หายใจเร็ว มีอาการชัก เกร็ง หมดสติ หรือมือสั่น ขาสั่น เดินเซ ถ้ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรจะต้องรีบพากลับมาพบแพทย์


การแพร่เชื้อและวิธีป้องกัน

ระยะแพร่เชื้อเริ่มได้ตั้งแต่เขามีอาการ ตอนนี้ก็จะเริ่มมีเชื้อออกมาทางน้ำลาย แล้วก็อุจจาระแล้ว ยังสามารถที่จะแพร่ไปได้ จนกระทั่งถึงแม้ว่าโรคจะหายดีแล้ว  เช่น ประมาณสัปดาห์หนึ่งหลังจากโรคหายแล้ว เรายังสามารถตรวจพบเชื้อในอุจจาระได้อีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง


ระยะที่แพร่เชื้อได้มาก ๆ ก็คือช่วงที่มีอาการ คือประมาณภายใน 7 วันแรก หลังจากเริ่มมีอาการ


การรักษาโรคนี้ โดยทั่วไปก็จะเป็นการรักษาตามอาการ  ถ้ามีไข้ก็ให้กินยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ไปหรือถ้ามีอาการคัน ก็อาจจะกินยาแก้แพ้ แก้คันได้ ปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากโดยเฉพาะ แต่ว่าการป้องกันทำได้หลายอย่าง


อันที่ดีที่สุดก็คือ หยุดการแพร่กระจายของเชื้อ เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครไม่สบายก็ต้องหยุดเรียน จะได้ลดการแพร่กระจาย โรคนี้เกิดจากการไปสัมผัสสิ่งที่ปนเปื้อนกับน้ำลายหรืออุจจาระ แล้วก็ไม่ทันระวัง ก็สัมผัสเข้ามา รับประทานเข้ามา แล้วก็ทำให้เราได้รับเชื้อนี้เข้าไป  เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะป้องกันได้ดีที่สุด ก็คือการดูแลสุขอนามัยให้ถูกต้อง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะตอนก่อนและหลังรับประทานอาหาร หรือว่าหลังจากเข้าห้องน้ำ เป็นต้น สิ่งพวกนี้ ถ้าเราสอนให้เด็กมีสุขอนามัยเหล่านี้ที่ดีขึ้น ก็จะป้องกันโรคได้มากขึ้นนะครับ




โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลาย


     โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน มักพบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี อาการมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที


การติดต่อโรคไข้เลือดออก

     โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 มียุงลายเพศเมียเป็นพาหะนำโรคซึ่งออกหากินในเวลากลางวันและดูดเลือดคนเป็นอาหาร เมื่อยุงลายดูดเลือดจากผู้ป่วยในระยะที่มีไข้ ซึ่งมีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด เชื้อจะเข้าไปฝังตัวในกระเพาะยุงแล้วไปอยู่ในเซลล์ที่ผนังกระเพาะ เมื่อไวรัสจำนวนมากขึ้นจะออกมาจากเซลล์ผนังกระเพาะของยุง และเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย โดยมีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8 – 12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไปกัดคนอื่น เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด ก่อให้เกิดการติดเชื้อและป่วยตามมาหลังจากถูกกัดประมาณ 3 – 15 วัน ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้


กลุ่มเสี่ยงโรคไข้เลือดออก

     สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียน และวัยทำงานตอนต้น ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

  • เด็กทารก และผู้สูงอายุ
  • มีภาวะอ้วน
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่เป็นโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือโรคที่เกิดจากฮีโมโกลบินผิดปกติ
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตวาย โรคตับเรื้อรัง
  •  รับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory หรือ NSAIDs)


อาการของโรคไข้เลือดออก

     โดยทั่วไปการติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80 – 90% อาการจะไม่รุนแรง บางรายอาจมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนัง แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่างจากครั้งแรก อาจมีอาการรุนแรงเกิดเป็นภาวะไข้เลือดออกได้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ


1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียสไปจนถึง 40 – 41 องศาเซลเซีนส มักไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 7 วัน

2. ระยะวิกฤต ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง

  • ผู้ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น
  • เกร็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดออกง่าย และอาการจะไม่ดีขึ้น ยังคงเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลียมากกว่าเดิม
  • มีภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลว ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง โดยเกิดภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลวหรือภาวะช็อก เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอดหรือช่องท้องมาก เกิด hypovolemic shock ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดภาวะช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค หรือวันที่ 8 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว และความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง และอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เนื่องจากมีเกร็ดลือดต่ำ เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อก

     ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง ดังนั้นหากมีไข้เกิน 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา


3. ระยะฟื้นตัว อาการต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามลำตัว





การรับมือโรคไข้เลือดออก

     ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพดีพอในการรักษาโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะ การรักษาโรคนี้จึงเป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง ซึ่งจะได้ผลดีถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคและให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมีการดูแลที่ดีตลอดระยะเวลาวิกฤต ประมาณ 24 - 48 ชั่วโมงที่มีการรั่วของพลาสมา เช่น

  • หากคลื่นไส้ อาเจียนมาก รับประทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อย อาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด
  • หากอาเจียนมีเลือดปน หรืออุจจาระดำ อาจพิจารณาให้เลือดทดแทน
  • หากมือเท้าเย็น เนื่องจากความดันต่ำหลังจากมีไข้ อาจให้น้ำเกลือในปริมาณที่มากขึ้นอย่างทันท่วงที

การรักษาประคับประคองที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งในรายที่อาการไม่รุนแรง อาจหายได้เองภายใน 2 – 7 วัน


การดูแลอาการโรคไข้เลือดออกเบื้องต้น

  1. รับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างเพียงพอ แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อน และงดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีดำ แดง น้ำตาล เพื่อไม่ให้สับสนกับาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย หรือดื่มน้ำน้อย ให้สังเกตว่าดื่มน้ำเพียงพอหรือไม่ที่สีปัสสาวะจะต้องเป็นสีเหลืองอ่อน หากเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีชา แสดงว่าร่างกายยังขาดน้ำอยู่ อาจให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ร่วมด้วย ในรายที่อาเจียนควรให้ดื่มครั้งละน้อย ๆ และดื่มบ่อย ๆ
  2. ลดไข้ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้เป็นระยะ ๆ และใช้ยาพาราเซตามอลตามขนาดที่แพทย์สั่ง หรือเฉพาะเวลาที่มีไข้สูงเท่านั้น ห้ามใช้ยาเกินขนาดเพราะอาจเป็นสาเหตุของตับอักเสบจากพาราเซตามอลได้ ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือยากลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drug – NSAID เพราะอาจทำให้เกร็ดเลือดเสียการทำงาน เลือดออกง่าย และมากขึ้น
  3. สังเกตอาการ หากพบว่าผู้ป่วยคลื่นไส้หรืออาเจียนมาก อ่อนเพลียมาก ปวดท้องมาก รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ มีภาวะเลือดออกรุนแรง สงสัยภาวะช็อก โดยเฉพาะเมื่อไข้เริ่มต่ำลง เช่น ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเบาเร็ว มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ซึม สับสน กระสับกระส่าย ฯลฯ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด


การป้องกันโรคไข้เลือดออก

  1. ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือใช้สารไล่ยุง (Mosquito Repellents) แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ DEET ทาผิวนอกเสื้อผ้า
  2. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก
    • ปิดปากภาชนะเก็บน้ำด้วยผ้า ตาข่ายไนล่อนอะลูมิเนียม หรือวัสดุอื่นที่สามารถปิดปากภาชนะเก็บน้ำนั้นได้อย่างมิดชิด จนยุงไม่สามารถเล็ดลอดเข้าใปวางไข่ได้
    • หมั่นเปลี่ยนน้ำทุกวัน ซึ่งเหมาะสำหรับภาชนะเล็ก ๆ ที่มีน้ำไม่มาก เช่น แจกันดอกไม้สด ทั้งที่เป็นแจกันที่หิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ หรือแจกันประดับตามโต๊ะ รวมทั้งภาชนะและขวดประเภทต่างๆ ฯลฯ
    • ใส่ทรายในจานรองกระถางต้นไม้ เพื่อให้ทรายดูดซึมน้ำส่วนเกินจากการรดน้าต้นไม้ไว้ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสาหรับกระถางต้นไม้ที่ใหญ่และหนัก ส่วนต้นไม้เล็กอาจใช้วิธีเทน้ำที่ขังอยู่ในจานรองกระถางต้นไม้ทิ้งไปทุกวัน
    • การเก็บทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด ไห กระป๋อง ฯลฯ และยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้ หรือคลุมให้มิดชิดเพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้

7 มิ.ย. 2565

โรคฝีดาษลิง หรือ MONKEYPOX โรคระบาดใหม่ที่ไม่ควรมองข้าม

 


ทำความรู้จักกับโรคฝีดาษลิง


          โรคฝีดาษลิง ฝีดาษวานร หรือ Monkeypox เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะบนทวีปแอฟริกา โดยเชื้อไวรัสนี้แพร่เชื้อไปยังสัตว์อื่น และสามารถแพร่จากสัตว์ไปสู่คนได้ ซึ่งการรายงานที่พบโรคนี้ครั้งแรกเกิดจากลิงในห้องทดลอง จึงเรียกว่าฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานรนั่นเอง ซึ่งหมายความว่าลิงไม่ใช่แหล่งกำเนิดของโรคนี้อย่างที่เข้าใจกัน การระบาดที่พบในตอนนี้ เกิดในประเทศบนทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปเป็นส่วนใหญ่ 


อาการที่ควรเฝ้าระวังของโรคฝีดาษลิง

  1. อาการของโรคจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 7-14 วัน
  2. มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  3. ต่อมน้ำเหลืองโต
  4. หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน จะมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งตุ่มเหล่านี้จะอักเสบและแห้งไปเองใน 2 – 4 สัปดาห์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ดังนี้
    4.1 มีตุ่มนูนแดงคล้ายผื่น
    4.2 ภายในตุ่มมีน้ำใสอยู่ภายใน รู้สึกคัน แสบร้อน
    4.3 ตุ่มใสกลายเป็นหนอง เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ตุ่มหนองเหล่านั้นจะแตกออกและแห้งไปเอง
  5. อาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน เจ็บคอ ไอ หอบเหนื่อยร่วมด้วย
  6. บางรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้อาการรุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้


          โรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสทางผิวหนัง สารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ หรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส แต่โรคนี้เราสามารถเฝ้าระวังได้ง่าย เพราะผู้ป่วยติดเชื้อจะมีตุ่มขึ้นตามร่างกายเป็นรอยโรคที่สังเกตได้ชัดเจน


การป้องกัน

  1. หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยงหรือสิ่งต่าง ๆ
  2. สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาด
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยหรือสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรค
  4. การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้


แหล่งข้อมูล https://www.paolohospital.com/

23 มิ.ย. 2564

"วัคซีนโควิด-19" มีกี่ชนิด ตัวไหนเข้าไทยบ้าง

วัคซีนโควิด-19 ในโลกตอนนี้มีอยู่หลากหลายประเภทและหลายยี่ห้อ ขึ้นอยู่กับว่าผลิตด้วยวิธีไหน ประเทศไหนผลิตตัวไหนออกมาได้ ก็จะใช้ตัวนั้นฉีดให้กับประชากรในประเทศนั้น เสริมด้วยวัคซีนที่รับเพิ่มจากต่างประเทศเพื่อให้ครอบครัวต่อจำนวนประชากรของประเทศนั้นๆ




ล่าสุด ประเทศไทยรับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วจำนวนหนึ่ง และทยอยสั่งซื้อนำเข้ามาจากต่างประเทศเรื่อยๆ รวมถึงยังมีวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยของเราเองที่อยู่ในระหว่างการผลิตเพื่อให้คนไทยได้ใช้กันเองประเทศในราคาที่ถูกลงอีกด้วย

วัคซีนโควิด-19 มีกี่ชนิด
นายแพทย์สมชัย ลีลาศิริวงศ์ ที่ปรึกษาผู้จัดการความเสี่ยง โรงพยาบาลพระรามเก้า ระบุว่า วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งหมดในปัจจุบัน มีอยู่ 4 ชนิดหลักๆ โดยแบ่งจากเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้แก่

- mRNA vaccines หรือวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอีโบล่า วัคซีนชนิดนี้จะใช้สารพันธุกรรมของโควิด-19 หรือเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 ออกมา

วัคซีนชนิด mRNA  ได้แก่  BioNTech   Pfizer และ Moderna


- Viral vector vaccines หรือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ พัฒนาโดยการนำไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงแล้ว หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก มาตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ แล้วฝากสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งเทคนิคนี้เป็นวิธีที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เนื่องจากเลียนแบบการติดเชื้อที่ใกล้เคียงธรรมชาติ

วัคซีนชนิด Viral vector  ได้แก่  Johnson & Johnson, Sputnik V และ Oxford – AstraZeneca


- Protein-based vaccines หรือวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2)  โดยการนำเอาโปรตีนบางส่วนของโควิด-19 เช่น โปรตีนส่วนหนาม มาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ ก่อนฉีดเข้าร่างกาย แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส ใช้กันมานานแล้ว เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบชนิดบี

วัคซีนชนิด Protein-based ได้แก่ Novavax

- Inactivated vaccines หรือวัคซีนชนิดเชื้อตาย เป็นการผลิตขึ้นจากการนำเชื้อโควิด-19 มาทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน ก่อนฉีดเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เทคนิคนี้ผลิตได้ค่อนข้างช้า และต้นทุนสูง เนื่องจากต้องผลิตในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3

วัคซีนชนิด Inactivated (เชื้อตาย)  ได้แก่ Sinopharm และ Sinovac

วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในไทย

แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)
ชื่ออย่างเป็นทางการ: AZD 1222 

ผลิตโดย: บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า-ออกซ์ฟอร์ด จากประเทศอังกฤษ และของ SK Bioscience จากประเทศเกาหลีใต้ นำเข้าโดย บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด
ชนิดของวัคซีน: Viral vector (วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ)
จำนวนเข็มที่ฉีด: 2 เข็ม เข็มแรกห่างจากเข็มที่ 2 ราว 8 สัปดาห์
            ผลข้างเคียงที่อาจพบได้: มีรายงานความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตันในบางราย แต่ยังเป็นส่วนน้อย และในกลุ่มคนอายุ 20-40 ปี และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อาจมีอาการไข้สูงหลังได้รับวัคซีนราว 1-3 วัน รวมถึงอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ ถ่ายเหลว

ซิโนแวค (Sinovac)
ชื่ออย่างเป็นทางการ: โคโรนาแวค 
ผลิตโดย: บริษัทซิโนแวค ประเทศจีน
ชนิดของวัคซีน: Inactivated vaccines (วัคซีนชนิดเชื้อตาย)
จำนวนเข็มที่ฉีด: 2 เข็ม เข็มแรกห่างจากเข็มที่ 2 ราว 2-4 สัปดาห์
            ผลข้างเคียงที่อาจพบได้: แม้ว่าจะมีรายงานพบอาการคล้าย stroke (ภาวะเส้นเลือดสมองผิดปกติเฉียบพลัน) กล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ยังไม่ชัดเจนว่ามีสาเหตุมาจากวัคซีนซิโนแวคจริงหรือไม่ ในส่วนของอาการข้างเคียงเล็กๆ น้อยๆ หลังฉีดมีพบบ้างแต่ไม่มาก
            ข้อควรระวัง: ไม่ควรฉีดให้กับผู้หญิงที่มีประจำเดือน เพราะความผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังฉีดซิโนแวคอาจมีส่วนจากฮอร์โมนได้
            เพิ่มเติม: ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แนะนำว่า หากฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว เข็มที่ 3 ควรเลือกฉีดไฟเซอร์ และโมเดอร์นา เพื่อรับมือเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ต่างๆ

จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson)
ชื่ออย่างเป็นทางการ: Ad26.COV2.S 
ผลิตโดย: บริษัท Johnson & Johnson ประเทศสหรัฐอเมริกา
ชนิดของวัคซีน: Viral vector vaccines (วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ)
จำนวนเข็มที่ฉีด: เข็มเดียว
            ผลข้างเคียงที่อาจพบได้: มีรายงานความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตันในบางราย แต่ยังเป็นส่วนน้อย นอกจากนี้อาจมีอาการปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด รวมถึงอาจมีไข้หลังฉีดวัคซีน 1-3 วัน สามารถกินยาลดไข้ (พาราเซตามอล) ได้  

โมเดอร์นา (Moderna)
ชื่ออย่างเป็นทางการ: mRNA-1273
ผลิตโดย: บริษัทโมเดอร์นา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ชนิดของวัคซีน: mRNA vaccines (วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม)
จำนวนเข็มที่ฉีด: 2 เข็ม เข็มแรกห่างจากเข็มที่ 2 ราว 3-4 สัปดาห์
            ผลข้างเคียงที่อาจพบได้: มีรายงานการเกิดอาการภูมิแพ้วัคซีนรุนแรง และลิ่มเลือดแบบ TTP thrombotic thrombocytopenic purpura แต่ยังเป็นส่วนน้อย นอกนั้นเป็นผลข้างเคียงอื่นๆ ทั่วไป เช่น เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน (ต่อมน้ำเหลืองที่)รักแร้บวม มีไข้ อาจพบผลข้างเคียงในเข็มที่ 2 มากกว่า

ไฟเซอร์ (Pfizer)
ชื่ออย่างเป็นทางการ: โทซินาเมแรน (Tozinameran)
ผลิตโดย: บริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค ประเทศสหรัฐอเมริกา
ชนิดของวัคซีน: mRNA vaccines (วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม)
จำนวนเข็มที่ฉีด: 2 เข็ม เข็มแรกห่างจากเข็มที่ 2 ราว 3-4 สัปดาห์
            ผลข้างเคียงที่อาจพบได้: มีรายงานการเกิดอาการภูมิแพ้วัคซีนรุนแรง และลิ่มเลือดแบบ TTP thrombotic thrombocytopenic purpura แต่ยังเป็นส่วนน้อย นอกนั้นเป็นผลข้างเคียงอื่นๆ ทั่วไป เช่น เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หนาวสั่น คลื่นไส้ มีไข้ เป็นต้น

ซิโนฟาร์ม (Sinopharm)
ชื่ออย่างเป็นทางการ: BBIBP-CorV
ผลิตโดย: บริษัท Beijing Institute of Biological Product (ปักกิ่ง) และ บริษัท Wuhan Institute of Biological Product (อู่ฮั่น) ประเทศจีน
ชนิดของวัคซีน: Inactivated vaccines (วัคซีนชนิดเชื้อตาย)
จำนวนเข็มที่ฉีด: 2 เข็ม เข็มแรกห่างจากเข็มที่ 2 ราว 2-4 สัปดาห์
            ผลข้างเคียงที่อาจพบได้: มีรายงานพบผู้ที่มีอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงหลังฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 ราย โดยมีอาการคลื่นไส้อย่างรุนแรง และโรคทางระบบประสาทที่หายาก หรือที่เรียกว่า อาการสมองและไขสันหลังอักเสบหลังการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีอีกรายที่มีอาการธรอมบัส (thrombus) หรือการเกิดก้อนลิ่มเลือดอีกด้วย แต่ผลข้างเคียงทั้งหมดยังไม่สามารถสรุปได้มาจากการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม นอกจากนี้ยังมีรายงานพบอาการข้างเคียงเล็กน้อยทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดบริเวณที่ฉีด เป็นต้น

โคแว็กซิน (Covaxin)
ชื่ออย่างเป็นทางการ: BBV152
ผลิตโดย: บริษัท ภารตะไบโอเทค (Bharat Biotech) ร่วมกับ สภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย (the Indian Council of Medical Research) ประเทศอินเดีย
ชนิดของวัคซีน: Inactivated vaccines (วัคซีนชนิดเชื้อตาย)
จำนวนเข็มที่ฉีด: 2 เข็ม เข็มแรกห่างจากเข็มที่ 2 ราว 4 สัปดาห์
            ผลข้างเคียงที่อาจพบได้: ผลข้างเคียงอื่นๆ ทั่วไป เช่น เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หนาวสั่น คลื่นไส้ มีไข้ ผื่นผิวหนัง เป็นต้น

สปุตนิก วี (Sputnik V)
ชื่ออื่น: Gam-COVID-Vac 
ผลิตโดย: สถาบันระบาดวิทยาและจุลชีววิทยากามาเลีย ประเทศรัสเซีย นำเข้าโดย บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด
ชนิดของวัคซีน: Viral vector vaccines (วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ)
จำนวนเข็มที่ฉีด: 2 เข็ม เข็มแรกห่างจากเข็มที่ 2 ราว 3 สัปดาห์
            ผลข้างเคียงที่อาจพบได้: อาการป่วยคล้ายมีไข้ เช่น ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า ปวดบวมบริเวณที่ฉีด เป็นต้น




7 ข้อปฏิบัติ ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเตรียมตัวไปฉีดวัคซีนนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มี 7 ข้อแนะนำดังนี้
  1. สองวันก่อนและหลังการฉีดวัคซีนให้งดออกกำลังกายหนัก หรือยกน้ำหนัก และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  2. วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี งดชา กาแฟ หรือของที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  3. ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็งยกของหนัก
  4. หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอดูอาการในบริเวณที่ฉีด 30 นาที
  5. ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละหนึ่งเม็ดซ้ำได้ถ้าจำเป็นแต่ให้ห่าง 6 ชั่วโมง ห้ามกินยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด
  6. การฉีดวัคซีนโควิดควรห่างกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือนและ
  7. ถ้ากินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ก็ให้กินยาตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที

สรุปสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค

 วัคซีน Coronavac เป็นวัคซีนเชื้อตายเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ฉีดจำนวน 2 โดส ระยะเวลาห่างกัน 2 – 4 สัปดาห์ อายุผู้ฉีดคือ 18-59 ปี ราคา 13.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส หรือ ประมาณ 426 บาทต่อโดส ประเทศที่นำวัคซีนนี้ไปฉีดให้กับประชาชนแล้ว ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บราซิล ชิลี จีน ฮ่องกง โคลอมเบีย เม็กซิโก ตุรกี อุรุกวัย ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซียฟิลิปปินส์ และไทย

สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพในไทย ในไทย มีผลการศึกษาจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาฯ ในกลุ่มตัวอย่าง 197 ราย ตรวจพบแอนติบอดี 99.49% หลังฉีดโดสที่ 2 มาแล้ว 4 สัปดาห์

ผลข้างเคียงจากการฉีด Sinovac

บางราย มีอาการ ปวด บวม คัน ผื่นแดง บวมแข็ง ในบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ ปวดท้อง เบื่ออาหาร เจ็บคอ น้ำมูกไหล เยื่อบุผิดปกติ

    ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอาการข้างเคียงจากการฉีดซิโนแวค ว่าเหตุที่ทำให้ผู้ที่ฉีดบางรายมีอาการคล้ายอัมพฤกษ์หลังฉีด อาการไม่น่าเกิดจากตัววัคซีน อาจมาจากมีสิ่งปนเปื้อนลงไปในขวดวัคซีนระหว่างเตรียมหรือบรรจุภัณฑ์

ถ้าต้องฉีด Sinovac ควรทำอย่างไร

ก่อนฉีด

  • หากมีไข้เกิน 38 องศา รอให้เบาลงก่อนอย่างน้อย 2 วัน
  • กรณีมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น ระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง กำลังรับประทานยากดภูมิต้านทาน หรือยาชนิดอื่นๆ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนฉีดวัคซีน
  • ไม่ควรกินยาแก้ไข้ หรือ แก้ปวด ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน

หลังฉีด

  • ควรสังเกตอาการข้างเคียงที่โรงพยาบาลก่อนกลับบ้านอย่างน้อย 15-30 นาที
  • หากมีผลข้างเคียง เช่น มีมลพิษ ปวด บวม บริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ต่ำๆ หลังจากได้รับวัคซีนครึ่งชั่วโมงถึง 2 ชั่วโมง อาการจะค่อยๆ ลดลง แต่ถ้าไข้ขึ้นสูงมาก ควรกลับมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ
  • หลังจากรับการฉีดวัคซีนแล้ว 3 วัน โอกาสแพ้และผลข้างเคียงจากวัคซีนจะพบน้อยมาก หรือน้อยกว่า 1 ในล้าน
  • สังเกตอาการต่อไปเรื่อยๆ จนครบ 60 วัน


29 ก.ค. 2563

ฉี่หนู อันตรายแค่ไหนถามใจดู




ช่วงสถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมขังแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเขตเมือง หรือชนบท ต่างก็อยู่ในพื้นที่เสี่ยงทั้งสิ้น การป้องกันรักษาสุขภาพ และรู้จักวิธีการสังเกตอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

                โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งมากับช่วงเวลาที่มีน้ำขัง หรือเกิดน้ำท่วมในประเทศไทย  และพบมากในกลุ่มชาวไร่ ชาวนา ทำฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มพนักงานทำความสะอาดท่อประปา คนที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ รวมถึงสัตวแพทย์

ฉี่หนู อันตรายแค่ไหนถามใจดู thaihealth


สาเหตุของโรค มาจากการติดเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียวขนาดเล็ก ชื่อเลปโตไปร่าอินเทอโรแกนส์ (Leptospira interrogans) ซึ่งเชื้อสามารถมีชีวิตได้นานหลายเดือนหลังจากถูกขับออกทางปัสสาวะจากสัตว์ที่มีเชื้อ และเป็นแหล่งรังโรค ได้แก่ สุกร โค กระบือ สุนัข โดยที่สัตว์อาจจะไม่มีอาการแต่สามารถปล่อยเชื้อได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะตลอดชีวิตสัตว์
                อาการของโรค จะแตกกันออกไป ระยะฟักตัวของโรคอาจจะเร็วภายใน 2 วัน หรือนานถึง 26 วัน หรือจะอยู่ในช่วงสัปดาห์ 5-14 วัน ผู้ที่ติดเชื้อหรือได้รับเชื้ออาจจะไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยจนกระทั่งรุนแรง เริ่มด้วยมีไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะ ตาแดง คลื่นไส้ และปวดท้อง ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจมีอาการมีจุดเลือดออกตามเพดานปาก หรือผิวหนังได้ ส่วนการปวดศรีษะของผู้ที่เป็นโรคฉี่หนูนั้นจะมีอาการรุนแรงเฉียบพลัน ปวดเบ้าตาและกลัวแสงร่วมด้วย การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมักจะรุนแรงโดยเฉพาะที่หลัง ต้นขาและน่องได้
นอกจากนี้ยังพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา
1.ตาและตัวเหลือง
2.ไตวาย
3.ภาวะเลือดออก เช่น เลือดออกใต้ผิวหนัง เยื่อบุตา ทางเดินอาหาร
4.ปอดอักเสบ
 5.กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
6.ม่านตาอักเสบ
7.เยื่อหุ้มสมอง เส้นประสาทอักเสบ และอาการทางจิต
8.ในผู้ป่วยหญิงมีครรภ์ อาจทำให้แท้งบุตร หรือทารกในครรภ์เสียชีวิตได้
ฉี่หนู อันตรายแค่ไหนถามใจดู thaihealth
ดังนั้นหากรู้วิธีการสังเกตอาการแล้วสิ่งสำคัญที่สุด คือ การป้องตัวเองให้ห่างไกลจากโรคฉี่หนู ซึ่งการป้องกันมีดังนี้
1.กำจัดหนูพร้อมๆ กัน
2.หากจำเป็นต้องอยู่บริเวณน้ำขัง หรือพื้นที่สุ่มเสี่ยง ควรสวมรองเท้าบู๊ท ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้าปิดมิดชิด
3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค
4.หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
5.หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะ โค กระบือ หนู สุกร และแหล่งน้ำที่สงสัยว่าจะปนเปื้อนเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปกปิด
6.หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ หรือต้องลุยน้ำลุยโคลนเป็นเวลานานๆ
7.รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว เมื่อแช่หรือย่ำลงไปในแหล่งน้ำสงสัยอาจปนเปื้อน
8.กินอาหารสุกใหม่ อาหารที่เหลือใส่ภาชนะปิดมิดชิด ผักผลไม้ ควรล้างให้สะอาดก่อนนำมาทำอาหาร




20 พ.ย. 2561

ลงพื้นที่ควบคุมโรคไข้เลือดออก @ ต.กอตอตือร๊ะ

นายมะยากี  กาเจ  นำทีมระบาดเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอรามัน  ร่วมด้วย  อบต.กอตอตือร๊ะ  ตัวแทนนายอำเภอรามัน  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  ทีมงาน อสม.  ทีมเยาวชน ต.กอตอตือร๊ะ    ลงพื้นที่หมู่3  กลุ่มบ้านกามูติง  ต.กอตอตือร๊ะ  เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้เลือดออก     ที่กำลังระบาด
ได้ดำเนินการดังนี้

  • ดำเนินการตามมาตรการ 0-3-7  
  • ฉีดพ่นหมอกควันทุกหลังตาเรือน จำนวน  30  หลังคาเรือน
  • ปล่อยปลากินลูกน้ำ   จำนวน 500 ตัว
  • ใส่ทรายอะเบทในพาชนะมีน้ำ   จำนวน  20  หลังคาเรือน
  • ปลูกตะไคร้หอมเพื่อไล่ยุง  จำนวน      7 หลังคาเรือน

















28 ก.ย. 2561

เฝ้าระวังโรคมาลาเรีย ต.กาลอ

วันที่ 25 กันยายน 2561
     เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอรามัน นำโดย นายมะยากี  กาเจ  สาธารณสุขอำเภอรามัน  ร่วมกับเจ้าหน้าที่ นคม. ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 12.1  ลงพื้นที่ตำบลกาลอ  จัดประชุมชี้แจงสถานการณ์โรคมาลาเรียที่ระบาดในพื้นที่ตำบลกาลอ  โดยมี  รองนายก อบต.กาลอ  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านแบหอ ผู้นำศาสนา  อสม.ต.กาลอ  เข้าร่วมประชุม และร่วมดำเนินการดังนี้

  1. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับชาวบ้านในการป้องกันโรคมาลาเรีย
  2. แจกจ่ายมุ้งในทุกหลังคาเรือน รวม 119 หลังคาเรือน
  3. จัดตั้งอาสาป้องกันโรคมาเรีย ต.กาลอ  จำนวน 10 คน
  4. อบรมให้ความรู้ในการฉีดพ่นสารเคมีตกค้าง  การใช้เครื่องพ่น  การผสมสารเคมีในการพ่น
  5. ดำเนินการพ่นสารเคมีตกค้าง เต็มพื้นที่หมู่ 1 บ้านแบหอ