วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2564

สอนธรรมะครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ (ตอน 2)

สอนธรรมะครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ (ตอน 2)

[ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี หลังจากที่ภิกษุปัญจวัคคีย์ยอมที่จะฟังพระพุทธเจ้าสอน]

พ:  ภิกษุทั้งหลาย มี 2 อย่างสุดโต่งที่ภิกษุไม่ควรทำ คือ 1) ปล่อยตัวปล่อยใจให้พัวพันเสพติดความสุขในกาม (พอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) อย่างชาวบ้านปุถุชนทั่วไป กับ 2) ฝืนบังคับทรมานตัวเองให้เหนื่อยยากลำบากกาย

ตถาคตเห็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ที่จะไม่เข้าไปใกล้สองทางสุดโต่งนั้น ซึ่งทางสายกลางนี้จะพาไปสู่ความสงบ ความรู้แจ้ง และการดับกิเลส (นิพพาน)

ทางที่ว่านี้เป็นอย่างไร ?

ทางที่จะนำไปสู่การดับกิเลสและบรรลุธรรมอันวิเศษ (อริยมรรค) นี้มี 8 ข้อ ได้แก่

1. การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ คือมองเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง รู้ว่าทุกข์คืออะไร เกิดจากอะไร การไม่มีทุกข์เป็นอย่างไร และจะดับทุกข์ได้อย่างไร รวมถึงเห็นว่าสิ่งต่างๆไม่จีรังยั่งยืน เปลี่ยนแปลงตลอด เกิดดับไม่มีตัวตน)

2. การมีความคิดที่ถูกต้อง (สัมมาสังกัปปะ คือ ไม่คิดโลภติดกับกิเลสตัณหา ไม่คิดโกรธพยาบาท)

3. การพูดจาในทางที่ถูกที่ควร (สัมมาวาจา คือ ไม่พูดเท็จ ส่อเสียด หยาบคาย หรือเพ้อเจ้อ)

4. การประพฤติตัวในทางที่ถูกที่ควร (สัมมากัมมันตะ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำผิดในกาม)

5. การมีอาชีพที่ถูกที่ควร (สัมมาอาชีวะ คือ ไม่โกง ไม่หลอกลวง ไม่บังคับขู่เข็ญใคร)

6. ความมุ่งมั่นพยายามที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง (สัมมาวายามะ คือ ไม่ทำบาป/ หยุดทำบาปที่เคยทำ/ ทำบุญ/ และรักษาบุญที่ทำให้ต่อเนื่อง)

7. การมีสติระลึกรู้ตัวอยู่เนืองๆ (สัมมาสติ คือ มีสติระลึกรู้ทันกาย ความรู้สึก จิตใจ และสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น)

8. การมีจิตตั้งมั่นในทางที่ถูกต้อง ไม่ฟุ้งซ่านหรือส่ายไปมา (สัมมาสมาธิ)

ความจริงแท้ข้อหนึ่งคือ ตัวทุกข์ (ทุกขอริยสัจ) เกิด แก่ เจ็บ ตายก็เป็นทุกข์ พบเจอกับสิ่งที่ไม่รักก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ อยากได้อะไรแล้วไม่ได้ก็เป็นทุกข์ สรุปสั้นๆ กองธาตุ ความรู้สึก การจำได้หมายมั่น การปรุงแต่ง และการรับรู้อารมณ์ต่างๆ (อุปาทานขันธ์ 5) คือทุกข์ทั้งสิ้น

ความจริงแท้อีกข้อหนึ่งคือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (ทุกขสมุทยอริยสัจ) ซึ่งได้แก่ตัณหา ความอยากได้อยากมี (กามตัณหา) อยากเป็น (ภวตัณหา) หรืออยากที่จะไม่เป็น (วิภวตัณหา)

ความจริงแท้ข้อต่อไปคือ การดับของทุกข์ (ทุกขนิโรธอริยสัจ) ไม่เหลือตัณหา หมดสิ้นความอยาก ไม่ติดยึดพัวพันกับสิ่งใดอีก

ความจริงแท้ข้อถัดไปคือ ข้อปฏิบัติในการดับทุกข์ (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ) ซึ่งได้แก่อริยมรรค 8 ข้อที่กล่าวไปแล้ว

เราเกิดดวงตาเห็นธรรม การหยั่งรู้ ปัญญา และแสงสว่างในสิ่งที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ทุกข์นั้นให้รู้ เหตุของทุกข์นั้นให้ละ การดับทุกข์นั้นให้บรรลุชัดแจ้ง และข้อปฏิบัติที่จะดับทุกข์นั้นให้ฝึกฝน

เราได้รู้แล้วว่าอริยสัจสี่มีอะไรบ้าง รู้ว่าควรต้องทำอะไรบ้าง และได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป

[ระหว่างที่พระพุทธเจ้าสอนนี้ พระโกณฑัญญะ ได้เกิดดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา โดยเมื่อพระพุทธเจ้าประกาศธรรมจักรแล้ว เหล่าเทวดาต่างก็พูดต่อๆกันว่า นี่เป็นพระธรรมจักรที่ยอดเยี่ยมมาก ไม่มีใครหักล้างได้ เสียงดังจนโลกธาตุสั่นสะเทือนไปทั่ว และเกิดแสงสว่างอันประมาณไม่ได้]

พ:  ท่านโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ

ก:  ขอข้าพระองค์ได้บวชในสำนักของท่านด้วยเถิด

พ:  เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด เธอจงปฏิบัติตามธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วนี้เพื่อการดับทุกข์เถิด

[ในเวลาต่อมา หลังจากฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเพิ่มเติม พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิก็ได้ขอบวชในสำนักของท่านด้วยตามลำดับ]

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 6 (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 มหาขันธกะ เรื่องพระปัญจวัคคีย์), 2559, น.19-25

ช่วง 35 วันแรกหลังการตรัสรู้ (ตอน 1),  ช่วง 35 วันแรกหลังการตรัสรู้ (ตอน 2),  ช่วง 35 วันแรกหลังการตรัสรู้ (ตอน 3),  ช่วง 35 วันแรกหลังการตรัสรู้ (ตอน 4),  ช่วง 35 วันแรกหลังการตรัสรู้ (ตอน 5),  จะสอนใครเป็นคนแรกดีสอนธรรมะครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ (ตอน 1),  สอนธรรมะครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ (ตอน 2),  สอนธรรมะครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ (ตอน 3)









Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: